4 ธีมลงทุนน่าสนใจ ต้อนรับฤดูร้อนไตรมาส 2

ก้าวเข้าสู่ช่วงเดือน เม.ย. ที่อากาศร้อนที่สุดกันแล้ว นับเป็นสัญญาณว่า นักลงทุนกำลังก้าวสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 กันแล้ว วันนี้ SCB CIO จะชวนทุกท่านมาอัปเดตกันว่า ธีมการลงทุนในไตรมาสที่ 2 นี้ มีอะไรบ้าง ซึ่งโดยรวมแล้ว ก็มีทั้ง ธีมที่ยังสามารถเดินหน้าลงทุนได้ต่อจากไตรมาสแรก รวมถึงโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา โดยมีรวมกันทั้งหมด 4 ธีม ดังนี้


1.ลงทุนยาวๆ กับธีม ESG ทะยานไปข้างหน้ากับรถยนต์ไฟฟ้า


ในไตรมาสที่ 2 นี้ เรายังคงเน้นย้ำถึงความน่าสนใจของธีมการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG


เมื่อโลกกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ทั่วโลกกำหนดเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593 โดยเฉพาะ จีน สหรัฐฯ และ กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้กระแส ESG ทำให้ภาคส่วนต่างๆ หันมาใช้พลังงานที่สะอาดและมีความยั่งยืน รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งมีพัฒนาด้านประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และต้นทุนที่ลดลง


จากเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งในธีม ESG ที่มีความน่าสนใจสำหรับลงทุนระยะยาว


ขณะที่ ข้อมูลจาก Bloomberg New Energy Finance เมื่อเดือน พ.ค. 2563 ระบุว่า ในปี 2583 ประมาณ 58% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ และ 31% ของรถยนต์ทั่วโลก จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ก่อนปี 2583 ยิ่งเป็นสิ่งที่ย้ำถึงความน่าสนใจลงทุนของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า

2068108691

สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Electric Vehicles and Future Mobility (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBEV(A) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงระดับ 6 คือ เสี่ยงสูง กองทุนนี้ไปลงทุนในกองทุนหลัก KraneShares Electric Vehicles & Future Mobility Index ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนในอนาคต


ทั้งนี้ กองทุนหลัก เป็นกองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่จะลงทุนตามดัชนี Bloomberg Electric vehicle Index ซึ่งลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้ง ผู้ผลิตรถยนต์ บริษัทผลิตแบตเตอรี่ บริษัทขุดเหมืองแร่ และบริษัทผู้ติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Wall charger) และพลังงานทางเลือก ไม่เน้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ต่างๆ


2.โค้งสุดท้ายลงทุนตราสารหนี้คุณภาพดีก่อน Bond Yield ลง


แม้เงินเฟ้อในช่วงสั้นจะยังอยู่ในระดับสูง ภายหลัง OPEC+ ปรับลดปริมาณการผลิต แต่เรื่องความกังวลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่สูงขึ้นของเสถียรภาพสถาบันการเงิน ทำให้เราคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงธนาคารกลางหลักอื่นๆ จะเริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ในช่วงนี้ จึงเป็นโค้งสุดท้ายของการทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดีได้ ก่อนที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ระยะกลางและยาว จะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566


สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ฟันด์ หรือ MUBOND-A ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงระดับ 4 คือ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยกองทุนนี้ มีนโยบายการลงทุน สอดคล้องกับการคว้าโอกาสโค้งสุดท้ายที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้น


กองทุนนี้ ลงทุนในกองทุนหลัก JPMorgan Funds US Aggregate Bond ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้สหรัฐฯ ที่มีคุณภาพสูง หรือ US High Quality Bond โดยกระจายลงทุนในตราสารหนี้กว่า 2,000 รายการ เพื่อกระจายความเสี่ยง ช่วยให้พอร์ตลงทุนของกองทุนโดยรวมมีความเสี่ยงลดลง และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ

3.อานิสงส์เปิดประเทศยังมีต่อเนื่อง สะสมหุ้นจีนต่อ


ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมือง เปิดประเทศของจีน มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน/การคลัง มาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยในจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนเงินฝากส่วนเกินที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ประกอบกับอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น จึงแนะนำให้เข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Share ได้ต่อเนื่องในไตรมาส 2


สำหรับ กองทุนแนะนำ ยังคงเป็น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ แอคทีฟ (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBASHARES(A) เป็นกองทุนหุ้นจีน ที่ลงทุนในกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund China A โดยกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นจีน A-shares เน้นการคัดเลือกหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน แบบ Bottom-up คือ วิเคราะห์จากบริษัทก่อน แล้วมองไปยังภาพรวมอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ เพื่อคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีและมีศักยภาพในการเติบโตที่สูง มีการกระจายความเสี่ยงลงทุนในหุ้นจำนวนกว่า 70-80 บริษัท ในหลากหลายอุตสาหกรรม


4.โรงแรม-พื้นที่พาณิชย์ไทยและสิงคโปร์ฟื้นตัว แนะนำทยอยสะสม Asian REITs


ธีมสุดท้าย ที่มีความน่าสนใจในไตรมาสที่ 2 คือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในฝั่งเอเชีย หรือ Asian REITs ที่มีความน่าสนใจ จากการเปิดเมืองเปิดประเทศของจีนและอาเซียน ที่ส่งผลบวกต่ออัตราการเช่าและค่าเช่า ในอนาคตของ REITs ทั้งในกลุ่มโรงแรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในไทยและสิงคโปร์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก


ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของ Bond Yield โดยเฉพาะในกรณีของไทยเริ่มมีจำกัดแล้ว จึงทำให้มูลค่าของ REITs ในไทยและสิงคโปร์น่าจะถูกกำหนดด้วยอัตราการเช่าและค่าเช่าที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้ทยอยสะสม Asian REITs ได้ ในช่วงไตรมาส 2


กองทุนแนะนำในธีมนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล หรือ SCBPINA ซึ่งมีความเสี่ยงระดับ 8 คือ เสี่ยงสูงมาก โดยกองทุนนี้ ลงทุนใน REITs กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก แต่เน้นลงทุนในประเทศไทย และสิงคโปร์ เป็นส่วนใหญ่


ผู้จัดการกองทุน จะเน้นคัดเลือกลงทุนใน REITs โดยวิเคราะห์จากปัจจัยมหภาค และคุณภาพของแต่ละสินทรัพย์ในแต่ละประเทศ และแต่อุตสาหกรรม โดยมีการประเมินทั้งในส่วน Valuation รวมถึงอัตราเงินปันผลด้วย

ทั้งหมดนี้ คือ ธีมการลงทุนที่คัดสรรมาให้ผู้ลงทุนได้เลือกลงทุนกันตามสไตล์ ในไตรมาส 2 นี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การลงทุนนำพาทุกท่านไปสู่เป้าหมายการเงินที่วางไว้ เราขอเน้นย้ำกับทุกท่านว่า การลงทุนให้สอดคล้องกับแผนระยะยาว ที่มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุน (Strategic Asset Allocation หรือ SAA) เอาไว้  มีความสำคัญ ซึ่งทุกท่านควรจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับตัวท่านเอง ที่มีการกำหนดเอาไว้


เพียงแต่ในระหว่างที่ท่านลงทุน สถานการณ์ราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ปรับขึ้นหรือลง อาจจะทำให้พอร์ตลงทุนของท่าน มีสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ผิดเพี้ยนไปจากที่วางไว้แต่แรก ดังนั้นท่านก็สามารถจะปรับเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ ตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา (Tactical Asset Allocation หรือ TAA) เพื่อปรับสัดส่วนในพอร์ตลงทุนให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม


หมายความว่า หากระหว่างที่ลงทุนไป ได้รับคำแนะนำการลงทุนว่า ควร underweight หรือมีมุมมอง negative กับสินทรัพย์ประเภทใด อาจจะขายสินทรัพย์ประเภทนั้นออกมาบ้าง โดยที่ไม่ทำให้สัดส่วนใน SAA เปลี่ยนแปลงมากเกินไป และไม่ได้หมายความว่า ให้ทุ่มเงินซื้อเต็มที่ เมื่อได้รับคำแนะนำว่า overweight หรือ เห็นมุมมอง positive ในสินทรัพย์นั้น แต่ให้ซื้อเพิ่มได้ โดยอยู่ภายใต้สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับ SAA ที่วางไว้


สุดท้ายนี้ หากท่านไม่หวั่นไหวไปกับสถานการณ์ระหว่างทางที่พบเจอ มุ่งมั่นกับเป้าหมายการลงทุน ด้วยกลยุทธ์ที่วางไว้ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์บ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โอกาสที่การลงทุนปจะไปถึงเป้าหมาย ก็จะใกล้ท่านเข้ามาทุกที


คำเตือน


-การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน


-การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ดังนั้น ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้


จัดทำโดย SCB CIO Office โดยคุณจารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ (IC Complex1)/ผู้วางแผนการลงทุน (IP) license no. 114051


ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 2566