ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
แนวโน้มเส้นทางตลาดหุ้นไทย ภายใต้แผนนโยบายภาครัฐ
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยกับช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่ความเสี่ยงต่างๆ ก็ทยอยลดลงมาก และหลังจากที่ปัจจัยด้านการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น จากการที่พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยที่ไม่มีเหตุวุ่นวายทางการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายกังวลเอาไว้ และในภาพรวมของตลาดหุ้นไทยอาจยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากแรงกดดันด้านนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะออกมา โดยเฉพาะนโยบายลดค่าพลังงานและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่ม
จาก ‘นโยบายเรื่องการปรับลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน’ ผ่านการปรับลดต้นทุนพลังงานต่างๆ ทั้งการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลที่ทางรัฐบาลทยอยแจ้งออกมาต่อเนื่องนั้น กลายเป็นปัจจัยกดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่เนื่องด้วยความที่รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ดังนั้นการออกนโยบายดังกล่าวจึงจะมีภาคส่วนงานอื่นมาช่วยแบกรับภาระ
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่คาดว่าจะมีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ หากรัฐบาลไม่มีแผนช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ เพิ่มเติม อาจกดดันให้ต้นทุนของภาคธุรกิจแย่ลง กดดันกำไรของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก รวมถึงค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งสองนโยบายนี้มีแนวโน้มกดดันตลาดหุ้นไทยให้ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มาก โดยเฉพาะนโยบายการปรับลดต้นทุนพลังงานที่กระทบต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยในปีหน้ายังมีมุมมองที่ยังเห็นเชิงบวกได้ จากนโยบายภาครัฐเรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่คาดว่าจะมีโอกาสได้เริ่มใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะเม็ดเงินจากโครงการนี้มีมูลค่าค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเน้นเรื่องการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มยอดขายของกลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวดีขึ้นมา และอาจช่วยให้คุณภาพของสินทรัพย์ทางการเงินดีขึ้นมาด้วย
สำหรับนโยบายต่อมาที่จะส่งผลเชิงบวกคือ นโยบายฟรีวีซ่า ที่จะเข้ามาช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีก ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายนี้
นอกจากนี้เรื่องพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2567 ที่อาจจะล่าช้าไปกว่า 3 เดือน น่าจะมีผลเริ่มบังคับใช้ได้ในปีหน้า ซึ่งอันนี้จะช่วยให้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงทุน เช่น การก่อสร้าง ฟื้นกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ชะงักงันไปในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ที่ผ่านมา
สำหรับการที่ตลาดหุ้นไทยจะมีแนวโน้มและโอกาสการปรับขึ้นไปได้หลังจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังต้องพิจารณาประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมถึงความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นนโยบายจากภาครัฐของไทยที่ว่า หลังจากมาตรการระยะสั้นจบลงนั้น ภาครัฐจะมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะมาตรการระยะยาวที่นักลงทุนติดตามอยู่ เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โครงการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงสนามบิน รวมทั้งนโยบายกระตุ้นการส่งออก ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีการขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566
บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ที่มา : The Standard Wealth