How to จัดพอร์ตตราสารหนี้แบบสมาร์ท ดอกเบี้ยขาไหนก็ไปได้

ในการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท (Asset Allocation) โดยมีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น เพื่อคาดหวังผลกำไรที่เพิ่มพูนขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับกับการแลกมาด้วยความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการขาดทุนได้ในระหว่างทาง เพื่อคาดหวังอนาคตขยายตัวดีขึ้นระยะถัดไป และก็ควรมีตราสารหนี้เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุน เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยกว่า และด้วยคุณสมบัติที่มีความเสี่ยงไม่สูง จึงช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตโดยรวมลงมาได้


โจทย์ที่น่าสนใจต่อมาก็คือ เราจะเลือกตราสารหนี้อย่างไรจึงจะเป็นผลดีต่อพอร์ตลงทุน เพราะตราสารหนี้เองก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งในเรื่องนี้ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านพิจารณาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เรามีพอร์ตตราสารหนี้แบบสมาร์ทได้ นั่นคือ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) และอายุเฉลี่ยของตราสาร (Duration)


สำหรับ Credit Rating ของตราสาร จะจัดทำขึ้นโดยบริษัทภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ได้แก่ Tris Rating, Fitch Ratings, Moody’s และ S&P Global Ratings ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็จะประเมิน Credit Rating โดยวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ เช่น ผลประกอบการของบริษัทผู้ออกตราสาร สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น


ในการจัดอันดับจะมีการให้ลำดับออกมาเป็นเกรด เริ่มตั้งแต่ AAA, AA, A, BBB, BB, B ไปจนถึง CCC โดยทุกบริษัทมีการใช้เกรดที่ใกล้เคียงกัน และมีการจัดแบ่งของเกรดเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่ม BBB ขึ้นไป ก็จะจัดอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade: IG) ซึ่งผู้ออกตราสารที่มี Credit Rating ระดับนี้ ก็จะมีความสามารถชำระหนี้ได้ดีพอสมควร อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ที่ตราสารเหล่านี้นำเสนอก็จะไม่สูงมาก อย่างไรก็ตาม หากมี Credit Rating ต่ำกว่าระดับ IG ลงไป จะสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดหลั่นลงไป ซึ่งกลุ่มนี้มักจะนำเสนอ Coupon ที่สูง แต่ผู้ลงทุนก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงเช่นกัน ดังนั้น ผมจึงแนะนำว่าถ้าต้องการลดความเสี่ยงลงมาหน่อย เพื่อความอุ่นใจ ก็ควรลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Credit Rating ที่ BBB ขึ้นไป


ในส่วนของอายุตราสาร หากมีอายุยาวก็มักจะให้ดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่สูงกว่าอายุสั้น เพราะตราสารหนี้ที่มีอายุยาวจะมีสภาพคล่องการขายน้อยกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น สิ่งนี้สะท้อนว่าหากเราเลือกตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยรับสูง เรากำลังแลกมาด้วยความเสี่ยงอะไรบางอย่างที่สูงขึ้นด้วย


ทั้งนี้ ในการจัดพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ให้สมาร์ท ผู้ลงทุนควรบริหารจัดการเลือกช่วงอายุของตราสารที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน เช่น อาจจะลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นน้อยกว่า 1 ปี ประมาณ 30% ของพอร์ตตราสารหนี้โดยรวม ตราสารหนี้อายุปานกลาง 1 ปีขึ้นไปถึง 5 ปี ประมาณ 30% และตราสารหนี้อายุยาวกว่า 5 ปี ประมาณ 40% โดยผู้ลงทุนอาจเลือกจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ผ่านการคัดเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงอายุที่แตกต่างกันไป

2052387440

สำหรับการเลือกลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นสามารถทำได้ผ่านกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) เช่น SCBTMFPLUS-A ซึ่งเป็นกองทุนที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นส่วนใหญ่ และเลือกอายุเฉลี่ยของตราสารค่อนข้างสั้น ทำให้มีสภาพคล่องสูง ความผันผวนด้านราคาค่อนข้างน้อย โดยผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนนี้เพื่อเป้าหมายการเก็บสำรองสภาพคล่องหรือพักเงินไว้สำหรับรอการลงทุนได้


ลำดับถัดมาคืออาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น SCBSFFPLUS-A โดยกองทุนนี้ก็อาจจะลงทุนตราสารหนี้อื่นๆ เพิ่มเติมจากพันธบัตรรัฐบาลไทย เช่น เงินฝาก และเลือกอายุเฉลี่ยตราสารที่ยาวขึ้นเล็กน้อย จึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่ก็จะมีความผันผวนของดอกเบี้ยบ้างในระยะสั้น ดังนั้นผู้ลงทุนควรถือครองยาวขึ้นกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อสร้างดอกเบี้ยรับกลับมามากขึ้น


ในกรณีที่ผู้ลงทุนมีเป้าหมายระยะเวลาการใช้เงินที่ชัดเจน อาจจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลา (Term Fund) ซึ่งโดยปกติก็จะมีการประมาณการดอกเบี้ยรับ (Yield) ให้ผู้ลงทุนทราบก่อนว่าเมื่อลงทุนจนครบกำหนดแล้วจะได้รับผลตอบแทนประมาณเท่าไร ซึ่งโดยทั่วไปผลตอบแทนก็จะใกล้เคียงกับที่ได้ระบุไว้หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง


สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ถัดมาคือ SCBFP ซึ่งจะมีอายุตราสารหนี้มากกว่า 1 ปี โดยมีการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ IG ที่มีอายุยาวขึ้น ซึ่งโดยปกติตราสารหนี้ที่อายุยาวจะถูกตีราคาระหว่างทางด้วย ดังนั้นถ้าลงทุนแล้วถือครองไม่นานก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการตีราคาได้ แต่หากถือครองได้ยาวมากพอ ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะชดเชยการถูกตีราคาระหว่างทางได้ เช่น ถือครองได้ประมาณ 2 ปีขึ้นไป ในขณะที่หากไปถือครองหุ้นกู้เองโดยตรงแต่ขายก่อนครบอายุก็อาจจะขาดทุนได้ และอาจจะต้องรอหลายวันจึงจะได้รับเงิน


สุดท้ายก็คือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวพอสมควรคือ MUBOND-A ซึ่งเหมาะสำหรับการถือครองระยะยาวๆ โดยกองทุนนี้ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับ IG ทั้งหมด เน้น Credit Rating ระดับ AA ซึ่งในช่วงที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูง กองทุนนี้ก็จะได้ประโยชน์จาก จาก Yield ที่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนถือครองไม่นานแล้วขายออกไป ก็มีโอกาสรับความผันผวนของราคาได้ ดังนั้นการถือครองกองทุนลักษณะนี้นานขึ้นก็จะช่วยให้ก้าวข้ามความผันผวนไปได้


ขณะที่เมื่อพิจารณาภาพรวมปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการลงทุนในตราสารหนี้ในปัจจุบันพบว่า เมื่อดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็พบว่าในอดีตที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed มักจะอยู่สูงกว่าเงินเฟ้อเสมอ แต่มีช่วงหนึ่งที่ Fed ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ยอมให้มีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงทำให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม หลังจาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนสูง วันนี้ Fed ก็กลับมาเป็นผู้ชนะอีกครั้ง สามารถกดเงินเฟ้อให้ลดลงต่ำได้


โดยปกติ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแค่เพียงพอสำหรับการชนะเงินเฟ้อเท่านั้น แปลว่าหลังจากนี้ Fed อาจจะไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่านี้อีกเพื่อชนะเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดเองก็มองว่าช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ Fed มีโอกาสจะคงดอกเบี้ยมากกว่าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ด้วย


สุดท้ายนี้ ผมขอย้ำผู้ลงทุนอีกครั้งว่าอย่าลืมพิจารณาตราสารหนี้ไว้ในพอร์ตลงทุน พิจารณาเรื่อง Credit Rating กับอายุตราสารให้ดี เลือกลงทุนตราสารที่เหมาะสำหรับเป้าหมายการลงทุนของตัวเอง ด้วยระยะเวลาที่ยาวเพียงพอ เหมาะสมกับอายุของตราสาร เพียงเท่านี้ไม่ว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยโลกเวลานั้นจะเป็นอย่างไร ท่านก็จะยังอุ่นใจได้กับพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ที่สมาร์ท


หมายเหตุ:

  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส (ชนิดหน่วยลงทุน A) หรือ SCBTMFPLUS-A มีความเสี่ยงระดับ 1 คือเสี่ยงต่ำ
  • กองทุน หรือ SCB Term Funds มุ่งรักษาเงินต้น มีความเสี่ยงระดับ 3 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (ชนิดหน่วยลงทุน A) หรือ SCBSFFPLUS-A มีความเสี่ยงระดับ 4 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุน SCB Term Funds มีความเสี่ยงระดับ 4 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBFP มีความเสี่ยงระดับ 4 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ MUBOND-A เป็นกองทุนรวมตราสารทุน มีความเสี่ยงระดับ 4 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ

คำเตือน:

  • การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน
  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุนที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • กองทุน Term Funds ที่มีกำหนดระยะเวลาลงทุน เช่น 3, 6 หรือ 12 เดือน เป็นต้น ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนดได้ ดังนั้นหากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศึกษาข้อมูล และรับหนังสือชี้ชวนเพิ่มเติมได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ข้อมูล ณ วันที่ 7 กันยายน 2566

บทความโดย คุณรุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ  ผู้อำนวยการ Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ที่มา : The Standard Wealth