เลือกหุ้นกู้อย่างไร ให้ลงทุนแล้วใจไม่สั่น

ถ้าถามว่า บรรยากาศการลงทุน 5 เดือนแรกของปี 2566 เป็นอย่างไรบ้าง SCB CIO ก็มองว่าเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่อย่างน้อยก็ยังวางกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายกว่าปี 2565 เนื่องจากปีนี้สินทรัพย์ไม่ได้ปรับตัวลดลงพร้อมกันทุกประเภท ยังมีสินทรัพย์บางประเภทที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้อยู่


ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุน ที่ผู้ลงทุนทุกท่านต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ใกล้หยุดปรับขึ้นแล้ว และแนวโน้มเงินเฟ้อ ที่เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแล้วก็จริง แต่ยังลดลงช้าอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเสถียรภาพสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามกันต่อไป


ด้วยปัจจัยเหล่านี้ SCB CIO ยังคงแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวัง โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพสูง แต่จะมีสัดส่วนเท่าไรในพอร์ตนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละท่านด้วย


ทั้งนี้ มีผู้ลงทุนหลายท่านที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง สนใจลงทุนในตราสารหนี้เองโดยตรง โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่ก็ยังติดประเด็นเรื่องการพิจารณาคัดเลือกหุ้นกู้ว่า ควรจะเลือกอย่างไร เนื่องจากตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นก็จริง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่


ความเสี่ยงในการลงทุนตราสารหนี้ ประกอบด้วย 1. ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk หรือ Default Risk) 2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) 3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) 4. ความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Event Risk) และ 5. ความเสี่ยงจากตราสารหนี้ขาดสภาพคล่องในการซื้อ-ขาย (Liquidity Risk)

2204685423

SCB CIO แนะนำว่า หากผู้ลงทุนต้องการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง สิ่งที่ควรพิจารณาอันดับแรกคือ ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับตราสารหนี้โดยรวม แต่ก็ให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ต่ำกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่นเช่นกัน หากต้องการ Yield สูงขึ้นอีกเล็กน้อย และรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อย ควรพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade: IG) หรือเรียกง่ายๆ คือ ลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง แต่หากรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจจะลงทุนในหุ้นกู้ที่ Yield สูง แต่ก็จะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (High Yield) หรือไม่ได้เข้ารับการจัดอันดับเครดิตเลย (Non-Rated)


อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้ High Yield และ Non-Rated อาจไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจนักในช่วงเวลานี้ ที่อัตราดอกเบี้ยยังปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น เพราะหากบริษัทไม่แข็งแกร่งพอ ก็อาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะผิดนัดชำระหนี้ได้ ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพสูง ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่สูงมากนัก


สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อ Yield ของตราสารหนี้ไทยในช่วงนี้ ได้แก่ การที่ตลาดมีมุมมองต่อนโยบายดอกเบี้ยของ Fed เปลี่ยนไปจากเดิม โดยก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่า ในเดือนมิถุนายน Fed คงจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังปรับลดลงช้า ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมองว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ Fed คงจะขึ้นดอกเบี้ยอีก และส่งผลให้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถูกทั่วโลกใช้เป็นตัวแทนของอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk-Free Rate) ปรับเพิ่มขึ้น


ขณะที่วันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เพิ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เป็น 2.00%


จากปัจจัยเหล่านี้เอง ส่งผลให้ Yield ตราสารหนี้ไทยปรับเพิ่มขึ้น เช่น Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี ปรับเพิ่มจาก 1.90% ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นมากกว่า 2.00% ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566


ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยอยู่ เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงกว่าไทย ประกอบกับหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ไทยก็ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ อีกทั้งนโยบายของพรรคที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เช่น การทลายทุนผูกขาด ทำให้ผู้ลงทุนไม่มั่นใจในประเด็นการเมืองไปด้วย อย่างไรก็ตาม การขายสุทธินี้ยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย เพราะไม่ใช่การขายที่เกิดจากความตื่นตระหนก (Panic Selling)


เมื่อพิจารณาแล้ว ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยโดยรวมก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่ เพราะตลาดมีขนาดใหญ่ถึง 4 ล้านล้านบาท และในตลาดมีหุ้นกู้ IG ในสัดส่วนที่สูงมาก ขณะที่หุ้นกู้ High Yield และ Non-Rated มีสัดส่วนเพียง 6% หรือประมาณ 200,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น


สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาในการเลือกลงทุนหุ้นกู้นั้น SCB CIO มองว่า หากผู้ลงทุนเป็นกังวลในประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ ก็ควรเข้าไปเจาะลึกงบการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ก่อน โดยพิจารณางบกระแสเงินสดเป็นอันดับแรก เพื่อดูว่าบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ออกไปหรือไม่


จากนั้นให้พิจารณาที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท เมื่อเทียบกับในอดีตว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบริษัท และต้องไม่ลืมพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญประกอบด้วย อาทิ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง

ทั้งนี้ อีกประเด็นที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสำคัญก็คือ การพิจารณาเรื่องธรรมาภิบาลของแต่ละบริษัท เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้ลงทุน อาจจะมีต้นเหตุมาจากประเด็นธรรมาภิบาลได้ อย่างเช่น กรณีของหุ้นกู้บริษัทแห่งหนึ่งที่ผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จากประเด็นที่บริษัทเลื่อนการส่งงบการเงินจนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และผู้บริหารเดิมก็ลาออกไป จนทำให้เกิดเหตุผิดนัดทางเทคนิคที่ผู้ถือหุ้นกู้ต้องออกความเห็นว่า จะยกเว้นเหตุผิดนัดให้หรือไม่ แล้วปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่นของบริษัทดังกล่าวไม่ยกเว้นเหตุให้ ทั้งยังขอให้ชำระคืนทันทีภายใน 30 วันด้วย โดยที่หุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นรวมกันมีมูลค่าหนี้เกิน 3% ของส่วนผู้ถือหุ้น ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่นอื่นทางเทคนิคตามมา (Cross Default) ซึ่งทำให้นักลงทุนที่เคยให้ความสนใจหุ้นกู้ High Yield และ Non-Rated มีความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากยังมีผู้ลงทุนบางกลุ่มที่สามารถรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และยังพร้อมลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ต่อไป SCB CIO ก็แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายความเสี่ยงให้มากๆ ด้วยการกระจายเงินลงทุนไปในหุ้นกู้ของหลายบริษัท เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น

โดยรวมแล้ว เรื่องธรรมาภิบาลเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกการลงทุน การมุ่งพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว แต่ผู้ลงทุนต้องตระหนักมากขึ้นว่า ประวัติของผู้บริหาร และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับธรรมาภิบาลของบริษัท ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ร่วมด้วย เมื่อต้องตัดสินใจลงทุน

และสิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องไม่ลืม ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ตามคือ การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่มีสินทรัพย์ประเภทไหนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ตลอดกาล หรือลบตลอดกาล ฉะนั้น ในพอร์ตลงทุนก็ควรมีการแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย อย่าฝากความหวังไว้กับสินทรัพย์เพียงประเภทเดียว และหากคาดหวังผลตอบแทนสูงเท่าไร ก็ยิ่งมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงขึ้นเท่านั้น


บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ข้อมูล ณ วันที่ 8  มิถุนายน 2566


ที่มา : The Standard Wealth