Yield คืออะไร? เรื่องสำคัญที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้
 

Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปของ "ดอกเบี้ย" จากการถือพันธบัตรออมทรัพย์นั้นๆ เปรียบเหมือนเราเอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อถือครบ 1 ปี เราก็จะได้ดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากตามที่ธนาคารกำหนดไว้ เช่น ได้ดอกเบี้ย 0.5% หรือ 1% ต่อปี เป็นต้น


สำหรับ Bond หรือพันธบัตร เป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีการกำหนดว่า ในการลงทุนในพันธบัตรนั้นๆ จะได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ต่อปี เช่น 2% ต่อปี และมีระยะเวลาลงทุนเท่าไหร่ เช่น 1 ปี 5 ปี และ 10 ปี โดยที่ถ้าเป็นพันธบัตรระยะสั้นจะได้ผลตอบแทนต่ำ และหากเป็นพันธบัตรระยะยาว ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น คล้ายๆ กับกรณีของการฝากประจำไว้กับธนาคาร ที่ผลตอบแทนจากเงินฝากประจำระยะสั้นจะน้อยกว่าเงินฝากประจำระยะยาว


สำหรับ Bond Yield ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจคือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10-year Treasury Yield)

 


ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับ Bond Yield?
 

ตามทฤษฎีการเงิน ดอกเบี้ยหรือ Bond Yield ในตลาดถือเป็นอัตราคิดลด หรือ Discount Rate ที่ใช้คำนวณมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิด ซึ่ง Discount Rate ที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้มูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ลดลง หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันให้ค่า P/E (Price to Earning) ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นลดลงนั่นเอง


สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดี กรณีนี้ถือว่า เป็นข่าวบวกสำหรับนักลงทุน แต่เมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Bond Shock) แทนที่จะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี จะเป็นตัวบั่นทอนการขยายตัวของกำไรบริษัทต่างๆ เพราะต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจจะสูงขึ้น โดยเฉพาะกิจการกลุ่มเทคโนโลยีที่มีต้นทุนในการกู้ยืมมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาจะมีความอ่อนไหวกับเรื่องนี้มาก ตลาด NASDAQ ที่มีหุ้นกลุ่มนี้อยู่มากจึงสะท้อนออกมาในการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เมื่อ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้น


นอกจากนี้ การที่ Bond Yield พุ่งสูงขึ้น นักลงทุนจะรู้สึกว่า ทำไมเราต้องไปรับความเสี่ยงจากตลาดหุ้นที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง สู้เราไปซื้อพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำและได้ดอกเบี้ยที่แน่นอนไม่ดีกว่าเหรอ ทำให้นักลงทุนจะเทขายหุ้น เพื่อมาถือครองพันธบัตรแทน ในทางตรงกันข้าม ถ้า Bond Yield ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากๆ นักลงทุนจะรู้สึกว่า เรายอมเพิ่มความเสี่ยงเพื่อไปซื้อหุ้น ที่อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทั้งในแง่ของราคาหุ้นและเงินปันผล จึงนำเงินมาซื้อหุ้นมากกว่าที่จะถือครองพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ส่งผลให้หุ้นขึ้นได้นั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทิศทางของ Bond Yield จะสวนทางกับตลาดหุ้น


ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของทุกประเทศ จะดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลาย และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีหนี้สิน ไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงเกินไป อีกทั้งยังเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำ จะทำให้ต้นทุนทางการเงินในการดำเนินกิจการต่ำลง ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ปริมาณการใช้พลังงานต่างๆ (โดยเฉพาะน้ำมัน) กลับมาสูงขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 48.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 สู่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 24 มี.ค.2564 หรือปรับขึ้นกว่า 25% เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนพลังงาน เป็นต้นทุนที่สำคัญของกิจการทุกประเภท เมื่อต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อในสหรัฐจะปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เมื่อเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้ Bond Yield ของสหรัฐขยับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย

ช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตมาก ราคาสินค้ามักจะสูงขึ้น เงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้ภาพรวมกำลังซื้อของประชาชนน้อยลง เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาสินค้า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วย “ลดความร้อนแรง” ของเศรษฐกิจลงได้ เพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะทำให้เอกชนอยากกู้น้อยลง และจะทำให้ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากนำเงินไปฝากธนาคารหรือถือครองพันธบัตรมากกว่าที่จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง



เมื่อ Bond Yield มีการเปลี่ยนแปลง ควรปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร?
 

นักลงทุนอาจจะต้องกลับมาประเมินน้ำหนักการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ปลอดภัยกับสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานเติบโตดี แม้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อจนมองว่ามีความน่าสนใจลงทุน แต่หากกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตต่อไปได้ จะไม่เกิดการเทขายหุ้นที่รุนแรง และราคาหุ้นสามารถขึ้นต่อได้ตามปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต


หากมีการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ก่อน เมื่อ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้น หรือในสภาวะที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ต้องพยายามหาตราสารหนี้ที่มีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนที่สั้น เพื่อให้สามารถลงทุนตราสารหนี้ตัวใหม่ (ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น) ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นจะได้รับผลขาดทุนด้านราคาน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว ในทางตรงกันข้าม หาก Bond Yield ปรับลดลง หรือในสภาวะที่เป็นดอกเบี้ยขาลง ควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าเพื่อเป็นการล็อคอัตราผลตอบแทนไว้ เพราะเมื่อเราลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่อัตราผลตอบแทนที่สูง เราจะได้รับผลตอบแทนที่สูงและคงที่นั้นไปอีกหลายปี ทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาลง


กล่าวโดยสรุป สิ่งที่นักลงทุนควรทำเพื่อรับมือกับสถานการณ์ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น คือ การติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield จะส่งผลกระทบในทางลบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ โดยหากกำไรของบริษัทฯ ยังมีทิศทางขยายตัวในเชิงบวก ไม่ลดลงจากเดิม การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลจนเกินไปนัก อีกทั้งหากนักลงทุนมีการกระจายการลงทุน (Asset Allocation) อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนลงได้

                          

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร