เมื่อลงทุนสู้ตลาด แต่ตลาดสู้กลับ จะปรับพอร์ตไปไหนดี

ในยุคที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่เงินเฟ้อปรับตัวมาทำนิวไฮในรอบ 40 ปี และประเทศอังกฤษ รวมทั้งกลุ่มสหภาพยุโรป ต่างก็มีระดับอัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้ตัวเลขสูงสุดในรอบ 30 ปี ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี


ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) เองก็เจออัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเร็วเช่นกัน อย่างเช่นประเทศไทยเราเอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนเมษายน 2022 ก็ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.65% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ต่อปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในภาวะเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างนี้ นักลงทุนก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับพอร์ตการลงทุน ในการมองหาตลาดการลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ


ในมุมมองของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในภาวะที่มีความกังวล ความไม่แน่นอนอย่างนี้ ความผันผวนของตลาดเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องพบเจออย่างแน่นอน แต่ภาวะแบบนี้เองก็จะสร้างโอกาสการเข้าลงทุนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ อยากจะชี้ชวนนักลงทุนให้พิจารณาถึงตลาดหนึ่งที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงในการเติบโตในหลายมิติ และสภาวะตลาดเหมาะสมในการเข้าลงทุนระยะยาว นั่นคือตลาดเวียดนาม

investment-adjustment-banner

เราได้เห็นแล้วว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดในโลก จากการเป็นฐานการผลิตของโลก สู่ภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง การเติบโตของเมืองสูงขึ้นจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันขนาดเศรษฐกิจ นอกจากนี้การขยายตัวของชุมชนเมืองและแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังสะท้อนการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และยังจะสามารถเติบโตได้อีกจากโครงสร้างทางสังคม โดยที่รัฐบาลตั้งเป้าพร้อมเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045


ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม (VN Index) ปรับตัวลงกว่า 18% ตั้งแต่ต้นปี 2022 จากแรงกดดันทั้งจากภายนอก ด้านความเสี่ยงจากการเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อ และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และปัจจัยภายในประเทศด้านการตรวจสอบจากภาครัฐ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม (ก.ล.ต.) มีคำสั่งปลดผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์ และประธาน ก.ล.ต. เหตุทำผิดร้ายแรง แต่หากพิจารณาผลดีในระยะยาว ก็เป็นโอกาสเพิ่มความโปร่งใส และพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ตลาดทุนเวียดนามก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับตลาดทุนอื่นๆ ในภูมิภาค


การปรับตัวลงของตลาดในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับมุมมองที่เรามีต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามที่ยังดูแข็งแกร่ง ทำให้เราเห็นว่าตลาดเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่โดดเด่นและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่สามารถมองข้ามผ่านความผันผวนในช่วงสั้นได้ โดยในปีนี้เวียดนามจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประมาณ 6.0% และปีหน้าจะอยู่ที่ 7.2% จากแนวโน้มภาคอุตสาหกรรม และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่เติบโตดีต่อเนื่อง ตามทิศทางรายได้ที่ปรับตัวขึ้น


            แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังเติบโตแข็งแกร่ง (2565F: +6.0%/ 2566F: +7.2%)

อ้างอิง : IMF


แนวโน้มของกำไรบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20.8% และ 25.7% ในปีหน้า หุ้นกลุ่มที่ตลาดคาดว่ากำไรจะเติบโตดี ได้แก่ ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ การพาณิชย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ถูกผลักดันจากเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง


ในปัจจุบันดัชนี VN Index ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 10.3 เท่า PER หรือคิดเป็น -3.7SD ของค่าเฉลี่ย PER ย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่การระบาดโควิดในปี 2020


ดัชนี VN Index ซื้อขายที่ระดับ -3.7SD ของ Forward PER เฉลี่ย 3 ปี (ดัชนีอ้างอิงของ SCBVIET, SCBRMVIET)

อ้างอิง: Bloomberg, SCBAM Investment Strategy


นักลงทุนระยะยาวจึงควรใช้โอกาสนี้ในการทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นเวียดนาม เนื่องจากเป็นระดับราคาและมูลค่า PER ที่น่าสนใจ และยังถูกที่สุดในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย กองทุน SCBVIET และ SCBRMVIET (RMF) จึงเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีนโยบายการลงทุนแบบ Active เฟ้นหาโอกาสทำกำไรในทุกสภาวะตลาด สามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เหมาะกับมุมมองการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา ผ่านทางเลือกที่หลากหลาย ทั้ง ETF, กองทุนต่างประเทศ และหุ้นรายตัวที่ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนด้วยการบริหารความเสี่ยงให้พอร์ตมีสภาพคล่องเพียงพอ เนื่องจากตลาดเวียดนามเป็น Frontier Market ที่ยังมีความเสี่ยงสภาพคล่องสูง


เวียดนามในวันนี้จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัจจัยบวก เหมาะสำหรับลงทุนในภาวะเงินเฟ้อครองโลกและตลาดหุ้นผันผวนสูง เนื่องจากเป็นตลาดหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นทั่วโลกต่ำ และถ้ารู้จักช่องทางการลงทุนอาจได้ของดีราคาไม่แพง ทำให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ไม่ยาก


ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน RMF กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน


อ้างอิง: Bloomberg Consensus


ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565


บทความโดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มน้ส Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มา : The Standard Wealth