กลยุทธ์การลงทุนตลาดเกิดใหม่ vs. ตลาดที่พัฒนาแล้ว

นักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสในการลงทุน อาจลังเลว่าควรลงทุนตลาดเกิดใหม่หรือตลาดพัฒนาแล้ว เพราะทั้งสองตลาดมีความน่าสนใจ ที่สำคัญอาจให้ผลตอบแทนที่คาดหวังแตกต่างกัน


ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)  คือ ระบบเศรษฐกิจที่ถูกแบ่งโดยการใช้เงื่อนไขจากรายได้ประชาชาติ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ และระดับการศึกษาเฉลี่ยของคนในประเทศ รวมถึงผลผลิตทางอุตสาหกรรมและการเกษตร และหากมองในด้านการลงทุน ตลาดเกิดใหม่จะมีความผันผวนของดัชนีหุ้นและราคาหุ้นขึ้นลงต่อวันค่อนข้างสูง โดยตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย ไต้หวัน ไทย เป็นต้น


การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว โดยอาศัยประโยชน์จากการที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยในอดีตเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ พึ่งพารายได้จากภาคการผลิตและการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของบริษัทที่มากด้วยนวัตกรรมและเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเลือกที่จะเข้ามาลงทุนและเติบโตไปพร้อมกับตลาดนี้ (ที่มา : PriceWaterhouseCoopers : PwC)


ตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market)  คือระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ มีเสถียรภาพ สภาพคล่อง และระดับของกฎเกณฑ์ตลาดมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น


เมื่อเห็นความแตกต่างและเงื่อนไขระหว่างตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้ว ก่อนตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้


1.อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Sovereign Credit Rating)
คือ ความสามารถในการชำระหนี้และเงินต้นคืนได้ตรงตามกำหนดเวลาของแต่ละประเทศ ซึ่งมักจะถูกประเมินโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมักจะได้ระดับ Credit Rating ที่ระดับ AAA ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะได้รับ Credit Rating ที่ระดับ BBB หรือ BB แต่ก็มีบางประเทศที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการเมือง ระบบการเงินการธนาคาร เป็นต้น


2.ความผันผวน (Volatility)
กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีความผันผวนทั้งอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดหุ้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมองว่าหากเข้าไปลงทุนจะลดความเสี่ยงได้ แต่ข้อสังเกต คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะมีอัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำกว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่

3.การพัฒนาของตลาดเงินตลาดทุนและการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทั้งสองประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ เพราะส่งผลกระทบทางตรงต่อเงินลงทุน เช่น การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย การควบคุมระดับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมักเป็นเกณฑ์ที่นักลงทุนได้ใช้ในการตัดสินใจที่จะเข้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศเกิดใหม่

กลยุทธ์การลงทุน

นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนกลุ่มประเทศเกิดใหม่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรเลือกลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง สามารถเติบโตไปตามการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมตัวเอง หรือดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนและให้ความสำคัญกับ ESG ในการลงทุน เป็นต้น หรือหากสนใจลงทุนตราสารหนี้ ควรเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐรัฐบาลของประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง


สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ควรเน้นหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่เพราะมีความปลอดภัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความกังวลทางการเมือง รวมถึงธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์โลก เช่น เทคโนโลยี การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ส่วนตราสารหนี้ เน้นพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับที่ยอมรับว่าสามารถลงทุนได้ (Investment Grade)


จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วหรือตลาดเกิดใหม่ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีที่สุด