ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ตลาดหุ้นเวียดนามกับโอกาสสร้างผลตอบแทน
ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามมีการขยายตัว (จีดีพี) เฉลี่ย 6 - 7% และในช่วงปี 2563 การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกปรับลดลงประมาณ 3.5% ขณะที่จีดีพีเวียดนามยังคงขยายตัว 2.91% และยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 ที่ระดับ 2.58% ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงเติบโต รวมถึงเป็นฐานการผลิตให้กับธุรกิจสำคัญของโลก
ส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีบรรยากาศการลงทุนคึกคัก และปี 2564 ตลาดหุ้นเวียดนามก็ร้อนแรงที่สุดตลาดหนึ่งของโลก โดยดัชนีหุ้น VN-INDEX ปรับเพิ่มขึ้นถึง 36% ในขณะที่มูลค่าหุ้นในเชิง P/E Ratio อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นช่วงต้นปี 2565 รัฐบาลเวียดนามอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นราว 4.3% ของจีดีพี นับว่ามีขนาดสูงหากเทียบกับกลุ่มประเทศในระดับเดียวกัน
สำหรับความน่าสนใจของเวียดนามที่ยังคงดึงดูดนักลงทุนในปี 2565 คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการเติบโตไว้ที่ 6.60% ถือว่าอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
ประเด็นถัดมา คือ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติยังไหลเข้าลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณภาพประชากรที่ยังถือว่าสูง โดยประชากรประมาณ 100 ล้านคน 30% เป็นวัยหนุ่มสาว (อายุ 20 – 39 ปี) ขณะที่ค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกซึ่งถือว่าเป็นพระเอกของเวียดนามที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งจากภาคการผลิตในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและความต้องการจากคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้การฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของรัฐบาลและภาคธุรกิจ มีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม
นอกเหนือจากปัจจัยบวกดังกล่าวที่ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเวียนามแล้ว มูลค่าหุ้นเวียดนามยังคงดึงดูดด้วย จากราคายังไม่แพงจนเกินไปและการยกระดับเข้าสู่ MSCI Emerging Markets Index โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณปี 2565 – 2566 โดยเวียดนามอาจมีน้ำหนักในดัชนีประมาณ 5 – 8%
Bloomberg ประเมินมูลค่าหุ้นเวียดนามว่ายังซื้อขายอยู่ในระดับที่ไม่แพง สะท้อนจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward P/E) ที่ประมาณ 13.6 เท่า ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว และคาดว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม (EPS Growth) จะเติบโตได้สูงถึง 26% ในปี 2565
สำหรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นเวียดนามที่ควรระวัง ประการแรก คือ หุ้นส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนจะมีภาครัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย จึงอาจเป็นดาบสองคมเพราะหากรัฐบาลยังเป็นชุดเดิมก็จะได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบาย ตรงกันข้ามหากมีรัฐบาลชุดใหม่ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและอาจทำให้บริษัทที่รัฐบาลถืออยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อีกทั้งข้อมูลหุ้นรายตัวในตลาดหุ้นเวียดนามส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาเวียดนาม อาจทำให้การศึกษาข้อมูลต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านภาษา
เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และพบว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเวียดนาม ดังนั้น ควรเน้นลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น จำนวนนักลงทุน ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จำนวนบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับเป็นประเทศที่มีศักยภาพของตลาดแรงงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จึงเป็นอีกทางเลือกในการกระจายลงทุน หากนักลงทุนต้องการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ