เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (DM) หรือตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่ไหนน่าลงทุนกว่ากัน

หลังจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ปัจจัยบวกจากการพัฒนาวัคซีนและการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบไบเดนชัดเจนขึ้น นักลงทุนทั่วโลกต่างมองว่าภาพเศรษฐกิจและการลงทุนจะฟื้นตัวอย่างรุนแรง ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามายังเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) อย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนก็ยังเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DM) จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดีและนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อหนุนการขยายตัว ดังนั้นคำถามสำคัญที่อยู่ในใจนักลงทุนทั้งหลายคือ ที่ใดน่าลงทุนกว่ากัน ระหว่าง DM และ EM


เพื่อตอบคำถามดังกล่าวในส่วนของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ ได้พัฒนา ‘ดัชนีชี้วัดความแข็งแกร่งเศรษฐกิจภาพรวม’ (SCBS Composite Economic Strength Index: SCBS CES) โดยมี 6 ประกอบสำคัญ ได้แก่

  1. ศักยภาพเศรษฐกิจก่อนและหลังวิกฤตโควิด-19 (จากการขยายตัวของ GDP จากปี 2019-21)
  2. เสถียรภาพด้านราคา (จากการขยายตัวของดัชนี CPI จากปี 2019-21)
  3. ความผ่อนคลายของนโยบายการเงิน (จากการคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในปี 2021)
  4. เสถียรภาพด้านการคลัง (จากการคาดการณ์ดุลงบประมาณภาครัฐและหนี้สาธารณะต่อ GDP)
  5. ความแข็งแกร่งด้านเสถียรภาพต่างประเทศ (จากสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด
  6. การคาดการณ์ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนจากการคาดการณ์ของตลาด

dm-or-em-01

โดยเรามีข้อสรุป 5 ข้อ ดังนี้


ข้อสรุปที่ 1:
ในจำนวน 19 เขตเศรษฐกิจ เยอรมนีและเกาหลีใต้แข็งแกร่งที่สุด โดยเกาหลีใต้มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี และสถานะการคลังดี ขณะที่เยอรมนีมีภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจที่อยู่ใน 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ แถบลาตินอเมริกา อันได้แก่ เม็กซิโก อาร์เจนตินา และบราซิล ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อสูง สถานะการคลังค่อนข้างเสี่ยง และค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกมาก


ข้อสรุปที่ 2: ในภาพรวม อาจกล่าวได้ว่าค่าดัชนี SCBS CES ของ EM
ดีกว่าของ DM โดยเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพการคลังที่ดีกว่า รวมถึงค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มาก บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีเสถียรภาพด้านราคาดีกว่า


อย่างไรก็ตาม การแบ่งกลุ่มเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่เป็นแค่ 2 กลุ่มเป็นการแบ่งแบบคร่าวเกินไป เนื่องจากเป็นการรวมดัชนีต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งในมิติเครื่องชี้วัดและมิติภูมิภาค ทำให้ขาดการพิจารณาในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากพิจารณาประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา จะพบว่าคะแนน SCBS CES Index นั้นไทยเป็นที่ 3 (2.86) สูงกว่าสหรัฐฯ (ลำดับที่ 9 ที่ 2.43) แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนมักจะพิจารณาเป็นอันดับแรก) จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ (101.0) ขยายตัวดีกว่าของไทย (99.3) มาก แม้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย (โดยเฉพาะเงินเฟ้อ) จะดีกว่าของสหรัฐฯ ก็ตาม ดังนั้นการพิจารณาในมิติรายละเอียดมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการพิจารณาภาพรวม


ข้อสรุปที่ 3: ในมิติเศรษฐกิจ ประเทศเจริญแล้วระหว่างสหรัฐฯ กับยูโรโซน พบว่าในภาพรวมดัชนี SCBS CES ของยูโรโซนสูงกว่าสหรัฐฯ
จากคะแนนด้านเสถียรภาพที่ดีกว่า ทั้งเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า สถานะการคลังที่ดีกว่า และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า แต่สหรัฐฯ มีศักยภาพเศรษฐกิจที่สูงกว่า และมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่า ดังนั้นแม้ดัชนี SCBS CES ของสหรัฐฯ ต่ำกว่ายุโรป แต่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มักจะเลือกลงทุนในสหรัฐฯ มากกว่ายุโรป


ข้อสรุปที่ 4: ในการเปรียบเทียบกรณีของเอเชีย จะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วเอเชีย เทียบกับตลาดเกิดใหม่เอเชีย พบว่าประเทศพัฒนาแล้วเอเชียมีคะแนนดีกว่า
โดยเฉพาะประเด็นด้านเสถียรภาพ (ทั้งจากเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า นโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดดีกว่า) แต่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชียมีการเติบโตที่สูงกว่า และมีหนี้สาธารณะต่ำกว่า โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเอเชีย เกาหลีใต้มีความน่าสนใจลงทุนมากที่สุด


ข้อสรุปที่ 5: เมื่อเทียบจีนกับอินเดีย พบว่าอินเดีย
(2.43) มีคะแนนดีกว่าจีน (2.29) แม้จีนจะมีศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจดีกว่า แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจต่ำกว่า ขณะที่อินเดียมีนโยบายการเงินผ่อนคลาย ขณะที่ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่ามากในปีนี้ (คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นถึง 14.4%) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้

                                                                                                                รูปที่ 1 ดัชนีชี้วัดความแข็งแกร่งเศรษฐกิจภาพรวม (SCBS CES Index)

 

ขณะที่เมื่อเทียบไทยและคู่แข่งอย่างเวียดนาม พบว่าคะแนนของไทย (2.86) ดีกว่าเวียดนาม (2.43) จากเงินเฟ้อที่ต่ำมาก และเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า ขณะที่เวียดนามมีศักยภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งในประเด็นนี้อาจเป็นเพราะดัชนีนี้ให้น้ำหนักการเติบโตเศรษฐกิจเท่ากับจุดอื่นๆ ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนอาจให้น้ำหนักของการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่า


นอกจากนั้นหากพิจารณาในด้านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) แล้ว นับได้ว่าเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตมาก จากเศรษฐกิจที่มีคนหนุ่มสาวมาก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำ นโยบายภาครัฐสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ และจะได้ประโยชน์จากกระแสภูมิภาคนิยมในระยะต่อไป (ทั้ง RCEP และ CPTPP ที่เวียดนามเป็นสมาชิกทั้งคู่

                                                                                                                รูปที่ 2 การเปรียบเทียบรูปแบบ SCBS CES Index ด้วย Cobweb Diagram

 

กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ผ่าน SCBS CES Index พบว่า

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจ EM เด่นกว่า DM แต่หากวิเคราะห์รายประเทศจะพบว่า DM หลายประเทศเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่า เช่น เยอรมนีและเกาหลีใต้ ขณะที่ลาตินอเมริกาเปราะบางและความเสี่ยงสูง
  2. ใน DM สหรัฐฯ น่าสนใจในแง่การเติบโต แต่ยุโรปน่าสนใจด้านเสถียรภาพ
  3. ในเอเชีย ประเทศ DM มีภาพรวมเศรษฐกิจที่เด่นกว่า แต่ EM มีการเติบโตที่โดดเด่นกว่า
  4. หากเทียบจีนกับอินเดีย อัตราการเติบโตของจีนจะโดดเด่น แต่นโยบายการเงินและแนวโน้มค่าเงินของอินเดียจะโดดเด่นกว่า
  5. หากเทียบไทยกับเวียดนาม ในภาพรวมไทยจะโดดเด่นกว่า โดยเฉพาะในแง่เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ามาก แต่เวียดนามมีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นกว่า


แน่นอนว่า ข้อสรุปเหล่านี้เป็นเพียงในส่วนการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ซึ่งต้องใช้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เช่น แนวนโยบายเศรษฐกิจและสถานการณ์ของตลาดในแต่ละประเทศมาประกบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน อย่างไรก็ตาม การฉายภาพครั้งนี้ก็จะทำให้นักลงทุนได้เห็นถึงศักยภาพของตลาดต่างๆ ได้ดีระดับหนึ่ง อันเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนระยะยาวได้


ท่านผู้อ่านเตรียมพร้อมเปิดรับมิติใหม่แห่งการลงทุนระดับโลกแล้วหรือยัง


บทความโดย : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : The Standard Wealth