5 เหตุผลดีๆ ที่นักลงทุนต้องมีหุ้นจีน A-shares ในพอร์ตปี 2021

เหลียวหน้าแลหลัง ปี 2020 นับเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก และเป็นปีที่สร้างความประหลาดใจให้แวดวงการลงทุนได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม้ GDP โลกจะถูกประมาณการหดตัวราว 4% จากปีก่อน (ซึ่งแย่ที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา) แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักทั่วโลกก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย และหนึ่งในตลาดหุ้นที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากจากภาพการฟื้นตัวที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นหุ้นจีน A-shares ซึ่งเป็นหุ้นจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange: SHZE) ที่นักลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ได้ง่ายผ่านดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้น A-Shares 300 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี SSE และ SHZE โดยดัชนี CSI 300 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม) นับตั้งแต่ต้นปี 2020 และมีผลตอบแทนของดัชนีเหนือกว่าทุกตลาดหุ้นหลักของโลก เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่มีประสิทธิผล รวมถึงการสนับสนุนด้านนโยบายของจีนที่ทันเวลา ทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยไตรมาสที่ 1, 2 และ 3 จีนเติบโตที่ -6.8%, 3.2% และ 4.8%YOY ตามลำดับ อีกทั้ง IMF คาดการณ์ว่า จีนจะสามารถเติบโตได้ราว 2% และ 8% ในปี 2020 และ 2021 

จุดเด่นของหุ้นจีน A-shares สามารถไล่เรียงได้ตั้งแต่มูลค่าของตลาดหุ้นจีน A-shares (SSE+SHZE) ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากตลาดสหรัฐฯ (NYSE+NASDAQ) หากวัดจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (USD Market Capitalization) ทั้งยังมีความหลากหลายของประเภทบริษัทและมีพื้นฐานการเติบโตที่น่าสนใจ และล้อไปกับทิศทางและเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ที่เน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการสร้างความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศตามยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) 

นอกจากนี้โครงสร้างตลาดของหุ้นจีน A-shares มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ เนื่องจากตลาดมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยคิดเป็น 32% ของมูลค่าตลาด แต่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน (Average Daily Turnover) เป็นสัดส่วนถึง 82% ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาดได้เป็นอย่างดี และแม้นักลงทุนรายย่อยยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญ แต่การถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่จีนเริ่มก่อตั้งโครงการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์จีน-ฮ่องกง (Shanghai-Hong Kong Stock Connect) ในปี 2014 และล่าสุด การปรับปรุงเกณฑ์การเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะเกณฑ์ที่ทางการจีนควบรวมโควตาในการลงทุนหุ้นจีนของนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่เรียกว่า QFII (Qualified Foreign Institutional Investor) และ RQFII (Renminbi Qualified Foreign Institutional Investor) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้การเข้าถึงตลาดหุ้นจีน Onshore หรือ A-shares ผ่อนคลายและมีข้อจำกัดที่น้อยลง ซึ่งความพยายามต่อเนื่องของหน่วยงานกำกับดูแลในการปรับปรุงการเข้าถึงตลาด การคุ้มครองนักลงทุนและเพิ่มมาตรฐานความโปร่งใสเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับตลาดหุ้นจีนให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ทั้งยังเป็นการขยายการเปิดเสรีด้านตลาดทุนของจีน โดยปัจจุบันหุ้นจีนได้ถูกผนวกอยู่ในดัชนีมาตรฐานระดับโลกมากมาย นอกจากพัฒนาการเชิงบวกของตลาดหุ้นจีนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ตลาดหุ้นจีน A-shares ยังมีจุดเด่นสำคัญอีก 5 ประการที่มีความพิเศษและมีศักยภาพในการดึงดูดความต้องการในการจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ดังนี้

china-a-share-content

ประการที่หนึ่ง หุ้นจีน A-shares เริ่มมีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้นหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ต่ำลง โดยหุ้น A-shares มีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ราว 50% กับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้พิจารณาได้ว่าหุ้น A-shares มีแนวโน้มเผชิญความผันผวนน้อยลงในช่วงที่ตลาดโลกผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนสามารถใช้หุ้น A-shares เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยในการกระจายความเสี่ยงได้อีกตัวสำหรับการลงทุนหุ้นโลก

ประการที่สอง หุ้นจีน A-shares มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้จากผลประกอบการที่ดีและ Valuation น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับตลาดสำคัญอื่นทั่วโลกในแง่ของ PEG (Price / Earnings to Growth Ratio) ทั้งยังมีประเภทของหุ้นดั้งเดิม (Old Economy) ที่ยังเป็นเครื่องจักรพื้นฐานในการขับเคลื่อนธุรกิจ และมีหุ้นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่เป็นเครื่องจักรสำคัญใหม่ในการขับเคลื่อนจีนในยุคหน้า เช่น e-Commerce, e-Education, Entertainment, Fintech, และบริษัท Mobile Applications ที่น่าสนใจต่างๆ มากมายครบเกือบทุกอุตสาหกรรม

ประการที่สาม จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในหุ้นจีน A-shares เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือราว 100% ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ในฝั่งตลาดสหรัฐฯ เติบโตเพียง 22% สะท้อนศักยภาพการเติบโตของตลาดหุ้นจีนที่สูง นอกจากนี้ดัชนี A-shares ยังได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำมากขึ้นสำหรับการเป็นแหล่งรองรับการระดุมทุน ซึ่งมีมูลค่าธุรกรรม IPO (Initial Public Offering) เป็นสัดส่วนราว 33% ของมูลค่าการ IPO ทั่วโลกในปี 2020 จากอานิสงส์การปฏิรูปตลาดทุนที่เด่นชัดในช่วงที่ผ่านมา จึงสนับสนุนการไหลเข้าของเม็ดเงิน IPO ในหุ้นจีน A-shares อย่างต่อเนื่อง

ประการที่สี่ มีเม็ดเงินอีกมหาศาลที่รอการเข้าลงทุนในตลาดจีน A-shares จากข้อมูลของ Goldman Sachs ปัจจุบันหุ้นจีน A-shares ได้ถูกรวมและทยอยเพิ่มน้ำหนักในดัชนีหุ้นมาตรฐานระดับโลกมากมาย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้เกิดการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนอีกราว 430 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะข้างหน้า

ประการที่ห้า ครัวเรือนจีนยังมีสัดส่วนการถือหุ้นจีนในประเทศตนเอง (ราว 8% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของครัวเรือน) น้อยกว่าครัวเรือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ (ราว 25%) เนื่องจากคนจีนชอบถือที่ดินมานาน ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพสำหรับการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีนของคนจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในระยะยาว รวมถึงบทบาทของนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดจีนเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกด้วย

ในปี 2021 หุ้นจีน A-shares ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตและปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อ เนื่องจากมีประเภทหุ้นยอดนิยมทั้งในโลกยุคก่อนและโลกยุคหน้าอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นจุดประสานการลงทุนสไตล์หุ้นเติบโต (Growth) และหุ้นคุณค่า (Value) ได้เป็นอย่างดี และสอดรับกับธีมการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสังคมเมืองและชนชั้นกลาง (Urbanization) เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) นวัตกรรมด้านสุขภาพ (Healthcare Innovation) และการบริการที่ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆ (Cloud Computing) รวมไปถึงธีม 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพลังงานสีเขียว (Green Energy) จากข้อมูลของ FactSet หุ้นจีน A-shares จะมีบริษัทมากกว่า 30% ที่คาดว่าจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ได้มากกว่า 10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าในดัชนี MSCI AC World และจะสร้างปรากฏการณ์การเสนอขายหุ้น IPO ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และราคาหุ้นยังไม่แพงสำหรับการลงทุนระยะยาวเมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตของตลาดและบริษัท

สำหรับหุ้นจีน A-shares แม้จะมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนยังควรตระหนักว่าตลาดหุ้นจีนก็เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการควบคุมและกำกับดูแลที่มีแนวโน้มออกมาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานอาจกดดัน Sentiment ตลาดในช่วงสั้น ตัวอย่างล่าสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ทางการจีนออกร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจการปล่อยสินเชื่อออนไลน์สำหรับบริษัท Fintech ซึ่งทำให้การ IPO ของ ANT Group ต้องถูกระงับไป อีกทั้งทางการจีนได้ออกร่างกฎหมายจำกัดการผูกขาดทางการค้าของกลุ่มธุรกิจออนไลน์และ Internet Platform ซึ่งส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนในระยะสั้น นักลงทุนจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงในระยะสั้นให้ครบถ้วน เนื่องจากทางการจีนอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนกฎหมายด้านการกำกับดูแลเพื่อให้มีความโปร่งใสและรัดกุมมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนยอมรับความผันผวนของตลาดได้ในช่วงสั้น ก็เชื่อได้ว่าตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้น A-shares จะมีโอกาสที่สร้างผลตอบแทนที่สูงในระยะต่อไปได้จากการพลิกโฉมของหุ้นจีนในเวทีการลงทุนหุ้นโลกในอนาคต

ผู้เขียน : คุณธนพล ศรีธัญพงศ์ Manager, Investment Advisory Chief Investment Officer (CIO) บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth