การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดน่าสนใจจริงหรือ

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 15% โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คิดไปในทิศทางเดียวกันคือการลงทุนในธีมของ Reflation ที่มาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านการเพิ่มขึ้นของกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%

นอกจากนั้นนักลงทุนยังให้ความสนใจในเรื่องนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมถึงแผนการผลักดันนโยบายสีเขียวต่างๆ และส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในระยะยาว และยกเลิกมาตรการหลายอย่างของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเดินหน้าการเปลี่ยนแปลงไปยังพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2050

การพัฒนาของพลังงานสะอาดนั้นเริ่มเห็นภาพตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน 2020 หลังจากที่ค่ายรถยนต์สองค่ายใหญ่อย่าง Volkswagen ที่ตั้งเป้าหมายยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 30% ของรายได้รวมในปี 2030 โดยจะมียอดขายอย่างน้อย 3 ล้านคันต่อปีตั้งแต่ปี 2025 โดยมีมากกว่า 75 รุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าที่รอการผลิต และ Tesla ตั้งเป้าขายลดต้นทุนของแบตเตอรี่ลง 56% จากปัจจุบันในปี 2023 ซึ่งเราคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะระบบจ่ายไฟฟ้าคิดเป็น 54% ของต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามแผนของสหภาพยุโรปที่หลายประเทศจะเลิกจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป

นอกจากนั้นในช่วงต้นปี 2021 นโยบายของจีนก็เริ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุโรปและสหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2060 ซึ่งเราเริ่มเห็นรัฐบาลจีนมีแผนอย่างเป็นรูปธรรมจากการจัดตั้งตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้น และคาดว่าจะได้เห็นแผน 5 ปีอย่างละเอียดในเดือนมีนาคม 2021

ด้วยการสนับสนุนและร่วมมือของประเทศหลักและบริษัทมีแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบาย ทำให้นักลงทุนเริ่มเห็นความน่าสนใจของกลุ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีในตลาด ETF พบว่ามีเงินไหลเข้ากลุ่มพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก รถยนต์ไฟฟ้าและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติรวม 15.8 พันล้านดอลลาร์ในรอบปีที่ผ่านมา และ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือว่าเป็นธีมที่มีกระแสเงินไหลเข้าสูงที่สุดธีมหนึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2021 ด้วยกระแสเงินที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ETF ของพลังงานสะอาดปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบ 10-25% มากกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 4% อีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในกลุ่มพลังงานอย่างยั่งยืน นั่นคือการออก Green Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้เพื่อการลงทุนในโครงการที่สงผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 7.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เพิ่มขึ้น 29% จากปีที่ผ่านมา และคาดกันว่าจะเพิ่มเป็น 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 เราจึงได้ข้อสรุปที่ว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดของธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ผ่านไปแล้ว

ความน่าสนใจของกลุ่มธุรกิจนี้ในอนาคตยังมีความโดดเด่นในด้านอุปสงค์อย่างชัดเจน และมีนโยบายภาครัฐสนับสนุน การลงทุนในพลังงานสะอาดเราสามารถลงทุนได้หลายรูปแบบการลงทุนได้แก่

green-energy-friendly-to-earth-01

1. พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) – จากการคาดการณ์ของ International Energy Agency พบว่า พลังงานหมุนเวียนจะมาเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนที่ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2025 และคิดเป็น 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมด โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลง 82% โดย International Renewable Energy Agency มองว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมจะลดลง 40-50% ในอีก 10 ปีข้างหน้าจากเทคโนโลยี การแข่งขัน การะประหยัดจากขนาดการผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้โรงไฟฟ้าในยุโรปมีเสถียรภาพและงบดุลแข็งแรงที่สุด ส่วนสหรัฐฯ มีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุด

2. รถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทาน (Electric Vehicle) – Goldman Sachs และ Deloitte ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% และ 29% ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และจะมีอัตราเร่งตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป โดยภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงคือจีนและยุโรป โดยการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานนั้นมีตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่

3. โครงสร้างพื้นฐาน – นอกเหนือจากผู้ผลิตพลังงานแล้ว โครงสร้างพื้นฐานก็มีความสำคัญและสนับสนุนการเติบโตของพลังงานทางเลือกและห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า เช่น Semiconductor ผู้ผลิต Hardware และ Software เหมืองแร่ที่ผลิตแบตเตอรี่ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง และสถานีชาร์จไฟฟ้า

แม้ว่ากระแสพลังงานสะอาดจะเป็นธีมที่ค่อนข้างชัด แต่การลงทุนเราจะมองแค่ในส่วนของผลตอบแทนด้านบวกก็คงจะไม่ถูกต้อง ความเสี่ยงหลักที่เรามองว่าอาจจะทำให้การลงทุนในกลุ่มนี้ไม่น่าสนใจ ได้แก่ 1. ความเสี่ยงด้านการจัดหาเงิน เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงทั้งการวิจัยและพัฒนา และ 2. การเปลี่ยนแปลงของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่อาจจะเปลี่ยนภาพการลงทุนได้ ยิ่งไปกว่านั้นราคาก็ปรับตัวขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว เราจึงมองว่าการลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาดนั้นต้องเลือกบริษัทที่มีกระแสเงินสดแข็งแกร่งและงบดุลแข็งแรงจะมีแต้มต่อในการลงทุนมากกว่าทั้งภาพความเสี่ยงและโอกาส ในทางตรงกันข้าม กลุ่มพลังงานแบบดั้งเดิมนั้นมีแนวโน้มของอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงในระยะยาว

นับจากวันนี้เป็นต้นไป กลไกของเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้ำมันไปยังพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกอย่าง พลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ พลังงานใต้พิภพ รวมถึงพลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้ใช้งบประมาณมหาศาลและใช้เวลามากกว่าทศวรรษกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ผลตอบแทนของกลุ่มพลังงานสะอาดมีแนวโน้มสูงกว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ด้วยการลงทุนเท่าปัจจุบันยังห่างไกลกับการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระยะยาว ดังนั้นเรามองว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่าเพียงคาดหวังผลตอบแทนสูงในระยะสั้นเพราะการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะค่อยๆ มา และกว่าจะเป็นรูปธรรมก็น่าจะหลังจากปี 2025 เป็นต้นไป ถึงตอนนั้นธุรกิจนี้จะเป็น S-Curve ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

บทความโดย สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา
ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล. ไทยพาณิชย์

ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth