ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
กระแส AI Boom หนุนหุ้น Tech ฟื้น
ครึ่งแรกของปี 2566 นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพราะดัชนีหุ้นเทคโนโลยี NASDAQ ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงถึงราว 32% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นที่ดีที่สุดในรอบ 40 ปี ในสายตาของนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ยังถูกมองว่ามีความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน และมีศักยภาพในการเติบโตด้วยการมีผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่มีผู้ใช้ทั่วโลก ทำให้มีความทนทานต่อแรงเสียดทานจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกเหนือจากนี้ กระแส AI Boom จากความนิยมของ Generative AI ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ราคาหุ้นเทคโนโลยีฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
‘Generative AI’ คือ AI ที่สามารถสร้างข้อมูลหรือผลลัพธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เสียง ข้อความ หรือวิดีโอ โดยรับคำสั่งผ่านภาษามนุษย์ แทนที่จะเป็นภาษาคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรม ตัวอย่างของ Generative AI ที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยที่สุด คงหนีไม่พ้น ChatGPT ซึ่งพัฒนาโดย OpenAI เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้บริการแตะหลัก 100 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากเปิดตัว นับเป็นสถิติเร็วสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ TikTok ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ในการมีผู้ใช้แตะหลัก 100 ล้านคน
ChatGPT คือ Chatbot ที่สามารถตอบคำถามจากผู้ใช้งานด้วยบทสนทนาที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ นอกจากจะช่วยตอบคำถามที่เราอยากรู้แล้ว หากลองค้นดูบนอินเทอร์เน็ตหรือสื่อโซเชียลจะพบว่าการนำ ChatGPT มาใช้ประโยชน์มีหลายรูปแบบ ตัวอย่างส่วนหนึ่ง เช่น การให้ความช่วยเหลือในการเขียนโปรแกรม (Coding) และแก้ Bug เป็นผู้ช่วยในการสร้างสรรค์งานเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรื่องย่อ หรือแม้แต่เนื้อเพลง และช่วยวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับโลกอย่าง McKinsey คาดการณ์ว่า Generative AI สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ต่อเศรษฐกิจโลกได้มากถึงระดับล้านล้านดอลลาร์ ตัวอย่างของการใช้ Generative AI ในการปฏิบัติงานของแต่ละอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น กลุ่มธนาคาร มีโอกาสใช้ Generative AI ในการแปลง Code เก่า (Legacy Code) เพื่อย้ายหรือเปลี่ยนแปลงระบบ IT, การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ของลูกค้ารายบุคคล ส่วนกลุ่มค้าปลีกสามารถใช้ Generative AI ในกระบวนการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค หรือช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการเขียนข้อความโฆษณา เป็นต้น
แม้ว่า Generative AI จะมีความสามารถและความเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง แต่ในปัจจุบัน ก็ยังคงมีข้อจำกัดและข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้งาน เช่น AI อาจให้คำตอบที่ดูน่าเชื่อถือแต่ไม่ถูกต้อง ความถูกต้องและเหมาะสมของแหล่งข้อมูลที่ AI ใช้ในการเรียนรู้ นอกจากนี้ บางคนยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ฮาร์ดแวร์สำหรับการประมวลผลของ AI
สำหรับด้านตลาดทุนแล้ว หนึ่งในบริษัทที่น่าจะได้ประโยชน์จากกระแส AI Boom ในขณะนี้คือ NVIDIA ผู้ผลิตชิปประมวลผลด้านกราฟิก หรือ GPU ชั้นนำของโลก โดย GPU ถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง เกม, Cloud และ Data Center รวมถึงการใช้งานด้าน AI ทั้งนี้ NVIDIA รายงานรายได้งวดไตรมาส 1/67 (ปิดงวด 30 เมษายน 2566) ราว 7.19 พันล้านดอลลาร์ ดีกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 6.5 พันล้านดอลลาร์ แต่สิ่งที่สร้างกระแสเชิงบวกอย่างมาก คือผู้บริหารของ NVIDIA ให้ Guidance หรือข้อมูลแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสถัดไป คือไตรมาส 2/67 ที่คาดว่ารายได้จะสูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ การเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) โดยหลักมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Data Center ซึ่งสะท้อนความต้องการใช้ Generative AI และ Large Language Model ประเด็นนี้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ราคาหุ้น NVIDIA (NVDA) ปรับตัวขึ้นมากถึง 189% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (อ้างอิง: NVIDIA Announces Financial Results)
จึงเชื่อว่ากระแส AI Boom ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจเพิ่งจะอยู่ในเฟสเริ่มต้น แต่ในแง่ของการลงทุน ราคาหุ้นเทคโนโลยีหลายบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้น ย่อมสะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนที่อยู่ในระดับสูงตามไปด้วย หากผลประกอบการในอนาคตไม่ได้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะผันผวนแรงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องติดตามข่าวสารและปัจจัยการลงทุนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน ยังคงเป็นหลักการลงทุนที่สำคัญ ที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนในระยะยาว
กองทุนประเภท Thematic ของ SCBAM ที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากกระแส AI Boom เช่น SCBDIGI (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลดิจิตอล) , SCBSEMI (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor) , SCBROBOA (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์) เป็นต้น เช่นเดียวกับกองทุนดัชนีหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ คือ SCBNDQ (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส เอ็นดีคิว) ที่ได้รับกระแสเชิงบวกจากบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยภาพรวม
คำเตือน
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนได้เว็บไซต์ SCBAM หรือสอบถามข้อมูลและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBAM Client Relations โทร. 0 2777 7777
ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2566
บทความโดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ที่มา :
The Standard Wealth