ลงทุนระยะยาว 10 ปี สินทรัพย์ไหน ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่กันบ้าง

การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้น มีโอกาสรับผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยปกติ สินทรัพย์เสี่ยงสูงก็มักจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สินทรัพย์เสี่ยงต่ำในระยะยาว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความผันผวนที่จะสูงกว่าในระยะสั้นที่มีเหตุการณหรือปัจจัยอะไรมากระทบ


ทั้งนี้ ทีมงาน Investment Product Selection & Partnership ของ SCB Wealth ได้จำลองสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง (Back testing) ว่า ถ้าลงทุนมาแล้ว 10 ปี ในสินทรัพย์ตัวอย่างแต่ละประเภท ผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่บ้าง โดยเลือกคำนวณผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 31 ส.ค. 2013 - 30 ก.ย. 2023 ส่วนสินทรัพย์ที่นำมาคำนวณ ได้แก่ หุ้นสหรัฐฯ ซึ่งใช้ข้อมูลดัชนี S&P500 Total return index จาก Bloomberg ในการคำนวณ หุ้นไทย ใช้ดัชนี SET Total return index หุ้นกู้เอกชนไทย ใช้หุ้นกู้เครดิตเรตติ้ง BBB ช่วงอายุ 3 ปี จาก สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ทองคำ ใช้ข้อมูลจาก XAUUSD จาก Bloomberg และเงินฝาก ใช้ข้อมูลจาก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ในอัตราสูงสุด ตามข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

10-years-investment-02

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน +217% สูงสุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ที่นำมาทดสอบ รองลงมาคือ หุ้นกู้เอกชนไทย +66% ตามด้วยหุ้นไทย +55% ทองคำ +32% และเงินฝาก +14% ซึ่งผลลัพธ์นี้ น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่า ยิ่งมีระยะเวลาลงทุนนาน สินทรัพย์เสี่ยงจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ


เพียงแต่ระหว่างทางสินทรัพย์เหล่านี้ อาจจะปรับตัวลดลงมากได้ในบางปี อย่างเช่น ช่วงโควิด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นไทย ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่ เงินฝาก กับหุ้นกู้เอกชนไทย ผลตอบแทนจะค่อนข้างนิ่ง ไม่ได้เคลื่อนไหวผิดไปจากปกตินัก ส่วนทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นได้ ท่ามกลางสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลง


โดยรวมแล้ว อีกประเด็นที่ภาพนี้สะท้อนได้ดี นอกจากการลงทุนระยะยาว ในสินทรัพย์เสี่ยงสูงมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่ำแล้ว หากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีทั้งสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำและเสี่ยงสูงอยู่ในพอร์ต อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเรา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เรา มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว ในขณะที่ความผันผวนของพอร์ตก็จะลดน้อยลง เมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนที่ไปเน้นลงทุนแต่สินทรัพย์เสี่ยงนั่นเอง


หมายเหตุ

· การจำลองผลตอบแทนโดยใช้วิธี Back testing จัดทำโดยทีมงาน Investment Product Selection & Partnership ในช่วงระยะเวลา 31/08/2013 – 30/09/2023

·  ผลตอบแทนที่แสดงไม่ได้รวม ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการลงทุน การหักภาษี หรือผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

·  ข้อมูลที่นำมาคำนวณมีนิยามและแหล่งที่มาดังนี้ เงินฝาก ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน โดยเป็นอัตราสูงสุด ข้อมูลจาก ธปท. , หุ้นกู้เอกชนไทย เครดิตเรตติ้ง BBB ช่วงอายุ 3 ปี ใช้ข้อมูลจาก THAIBMA , หุ้นไทยใช้ดัชนี SET Total return index ข้อมูลจาก Bloomberg ,หุ้นสหรัฐฯ ใช้ดัชนี S&P500 Total return index ข้อมูลจาก Bloomberg และทองคำใช้ XAUUSD ข้อมูลจาก Bloomberg


คำเตือน

· การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

· การลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน รวมทั้งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงมีความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน

·  ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต


บทความโดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ SCB CIO


จัดทำ ณ วันที่ 20 ต.ค. 2566