เปลี่ยนความสูญเปล่า สู่ความสำเร็จ ด้วย Process & Lean Management

ร่างกายที่ปราศจากไขมัน ย่อมคล่องแคล่วว่องไว การทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน องค์กรที่กระชับฉับไว มีประสิทธิภาพ ลดความสูญเปล่า ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโต คุณกุลวัชร ภูริชยวโรดม (ปอ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชนัน จำกัด ได้แชร์เคล็ดลับการบริหารธุรกิจสู่ความสำเร็จให้ผู้เข้าสัมมนาโครงการ DIPROM AgriBiz Scale Up เพื่อธุรกิจ SMEs ด้านการเกษตร ดังนี้

lean3

พลิกธุรกิจสู่ความสำเร็จแบบ ChouNan

Lean คือ แนวคิดที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลดสิ่งไร้ประโยชน์ (Waste) ในกระบวนการผลิตให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่มีสิ่งที่ไร้ประโยชน์อีกต่อไป คุณปอ กล่าวว่า หลักการของ Lean คือ ลดเวลา-รายจ่าย-กระบวนการให้กระชับมากที่สุด ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ทั้งนี้ การลดความสูญเสีย คือ กิจกรรมที่ทำขึ้นแล้วไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต

ความสูญเสีย 8 ประการ (8 Wastes)

ความสูญเปล่าสิ้นเปลือง (Waste) คือ กิจกรรมใด ๆ ที่ทำขึ้นแล้วไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในการผลิต

  1. Transportation lost ความสูญเสียจากการขนย้ายมากเกินไป
  2. Inventory lost กว้างสูญเสียจากการมีวัสดุคงคลังมากเกินไป
  3. Motion loss ความสูญเสียจากการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป
  4. Waiting lost ความสูญเสียจากการรอมากเกินไป
  5. Over production loss ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินความต้องการ
  6. Over process loss ความสูญเสียจากการมีขั้นตอนการทำงานมากเกินความจำเป็น
  7. Defect loss ความสูญเสียจากการมีของเสียมากเกินไป
  8. Non-Utilized People ความสูญเสียจากการใช้คนไม่เหมาะสมกับงาน


นอกจากนี้คุณปอยังนำแนวคิด Six Sigma มาใช้เป็นการวัดระดับคุณภาพของกระบวนการการทำงานที่เทียบเท่ากับ 99.99966% เป็นเทคนิคที่ใช้เข้ามาช่วยวิเคราะห์ปัญหา เพื่อปรับปรุงคุณภาพของการดำเนินธุรกิจให้ลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด  หลักการ คือ ทำให้ทุกอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ เพราะความผิดพลาดมักเกิดจากการทำงานด้วยความเคยชิน  Six Sigma จึงเป็นการวัดความสมบูรณ์ในการทำงานว่ามีมากน้อยแค่ไหนและเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความผิดพลาดและเพื่อช่วยลดต้นทุน


ดังนั้น เมื่อนำแนวคิด Lean + Six Sigma มารวมกันจะได้เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขั้นตอนการทำ Lean Six Sigma ประกอบด้วย DMAIC

ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุด คือ D (Define) หรือการกำหนดปัญหาเพราะไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหากันแน่  โดยวิธีกาแยกปัญหาออกมาเป็นเรื่องๆ ได้ทำด้วยการใช้ Fishbone Diagram เพื่อหา Cause & Effect แล้วดูว่าปัญหาคืออะไร และปัญหาอะไรที่เร่งด่วนต้องรีบแก้ไข

วิถีธุรกิจแบบ ChouNan

โชนันให้ความสำคัญใน 3 เรื่องคือ Fast-Comfort-Value  ดังนั้น ทุกเมนูต้องเร็ว อร่อย ทานง่ายและคุ้มค่า แล้วโชนันนำหลักการ Lean มาใช้อย่างไร คุณปอได้ยกตัวอย่างเช่น การจัดห้องครัวของร้านให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในพื้นที่ที่จำกัด  การจัดวางผังที่นั่งให้มากที่สุด หรือ การทำทุกอย่างให้เป็น Standard เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบ การจัดเก็บของในตู้เย็น การเตรียมการก่อนทำอาหาร การใช้เทคโนโลยีและการดีไซน์ร้าน    ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ เวลาที่พนักงานไปทำงานทดแทนต่างสาขา จะสามารถทำงานได้ทันทีเพราะทุกอย่างเป็น Standard เดียวกันแล้ว


นอกจากนี้ คุณปอได้ยกตัวอย่าง Innovation Project ที่พนักงานได้ส่งเข้าประกวด จากการนำหลักการ Lean มาใช้ว่า พนักงานคลังสินได้นำเสนอ Project วิธีการจัดเก็บสินค้าแบบใหม่โดยจัดเรียงตามความถี่ในการใช้งาน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพจัดส่งสินค้าได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ช่วยลดเวลา ลดต้นทุน จากการที่พนักงานสามารถนำหลักการ Lean มาใช้  คุณปอมองว่า ความสำเร็จที่ได้รับ ไม่ใช่การได้กำไรเพิ่มหรือลดต้นทุน แต่เป็นการสร้าง Culture ในองค์กรที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่า ถ้าช่วยกันคิดหาวิธีการใหม่เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ลดความสูญเสียแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตัวพนักงานเองก็ทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นด้วย

ทำไมอาหารจึงไม่ใช่หัวใจสำคัญของ ChouNan

แม้โชนันจะเป็นธุรกิจอาหาร แต่คุณปอกลับมองว่า หัวใจสำคัญที่สุด คือ คน เพราะคนสามารถสร้างคนได้ ทำร้ายก็ได้ ดังนั้น คุณปอจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม โดยทุกสัปดาห์จะต้องมีการเทรนนิ่ง มีคอร์สฝึกอบรมภายใน และในทุกปีจะมี KPI ให้พนักงานทุกคนต้องเทรนคนอื่น เพื่อเป็นการฝึกสกิลในการ Coaching เพื่อให้พนักงานสอนงานเป็น เพราะเมื่อพวกเขาเติบโตก็จะสามารถสอนงานลูกน้องต่อได้ ซึ่งตอนนี้ได้ปรับกระบวนการฝึกอบรมพนักงานใหม่เหลือเพียง 1 วันก็สามารถปฎิบัติงานได้ทันที เพราะมีคู่มือที่ปรับปรุงจนง่ายต่อการทำความเข้าใจ  ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของธุรกิจ คือ  การวางระบบทุกอย่างแล้วปรับกระบวนการทำงานเพื่อให้ทุกอย่าง Lean ให้มากที่สุด

ล้ม ลุก เรียนรู้ สู้แบบ ChouNan

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารต่างโดนผลกระทบจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า แล้วคุณปอมีวิธีลุกขึ้นสู้อย่างไร คุณปอกล่าวว่า ถ้าเปรียบโชนันเป็นกราฟเส้นจะเป็นเส้นแนวชันขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็ดิ่งลงมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำอย่างไรที่จะปั้นธุรกิจให้เกิด New S Curve ใหม่ได้ตลอดเวลา เคล็ดลับ คือ การลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด และมองหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิดเวฟที่ 1 คุณปอทำ ChouNan Franchise เพื่อทำ Delivery หาพาร์ทเนอร์มาเป็นครัวกลาง แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มเบาลงจึงไม่ได้ทำโปรเจคต่อ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้คุณปอได้เรียนรู้ การทำธุรกิจ Franchise


โควิดเวฟที่ 2 สร้างโปรเจค “ข้าวกล่อง” คิดแคมเปญ “สั่งเท่าไหร่เราช่วยเท่ากัน” เมื่อมีคนสั่งอาหารไปให้บุคคลากรทางการแพทย์ทางโชนันจะร่วมสมทบทุนข้าวกล่องด้วย ซึ่งเป็นแคมเปญที่ได้ทั้งธุรกิจได้ทั้งบุญ นอกจากนี้ ยังคิดทำ ChouNan Shushi Corner ขายหน้าร้าน จนสามารถปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “SOUL SHI” และคุณปอยังสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านปิ้งย่างพรีเมียม “SUMi TEi”  ร้านอาหารไทย “บรรจง”  Vending Machine “ตู้กับข้าว” ซึ่งโปรเจค Vending Machine ได้ทดลองทำประมาณ 7 เดือน ทำให้ได้ประสบการณ์ แม้ว่ายอดขายจะไม่เป็นไปตามที่คาด แต่ก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลว และนำไปสู่การต่อยอดใหม่ จนเกิดเป็นแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือหน้าหยก”

เรียกได้ว่าในช่วงโควิด-19 คุณปอเจอบททดสอบที่สะบักสะบอมที่สุด แต่ก็ลุกขึ้นสู้ได้เสมอ เพราะโชนันมีการ Lean อย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิด Efficiency สูงสุด ที่สำคัญพนักงานในองค์กรทุกคนมี Culture ของความเป็นนักสู้ ไม่ย่อท้อ พร้อมสู้ให้องค์กรอยู่รอด แม้ในช่วงนั้นจะไม่ได้รับเงินเดือนเต็มเดือน ต้อง Work From Home ต้อง Leave without Pay  แต่ทุกคนกลับไม่หวาดหวั่น รู้สึกสนุกกับการได้ลองทำสิ่งใหม่ ได้ Challenge  สิ่งนี้ คือ สิ่งที่คุณปอบอกว่าเป็น  Culture ขององค์กรที่อยากให้เป็น เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม หากทุกคนสู้ไปด้วยกัน ปัญหาอุปสรรคไม่มีทางทำให้โชนันล้มลงได้


คุณปอ ยังเชื่อมั่นในเรื่องของ Work Life Balance เพราะมองว่า Productive ไม่ใช่เรื่องของการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การ Balance สิ่งต่างๆ ในชีวิต ประกอบด้วย 4  ด้านคือ ร่างกาย (การพักผ่อน, สุขภาพ, อาหาร) , อารมณ์ (มองในมุมกลับกัน เช่น มองในมุมลูกค้า, มองให้ไกล, มองให้กว้าง, วิธีคิด (การโฟกัส ต้องชัดเจนกับจุดยืนของตัวเองและพัฒนาไปสู่สิ่งที่โฟกัส), การคิดบวก จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสบางอย่างที่เราไม่เคยคิด , การแบ่งปัน เพื่อเป็นวิทยาทานให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่น องค์กรอื่นและสังคม)  และ จิตวิญญาณ ต้องแบ่งตัวเองออกเป็นส่วนๆ ทั้งเรื่องงาน, ตัวเองและครอบครัว


ก่อนจากกันคุณปอกล่าวว่า ทุกคนสามารถเอาชนะความกลัวของตัวเองได้  ถ้าหากทำได้เราจะพบว่าตัวเรานั้นมีศักยภาพอย่างไร้ขีดจำกัด เราไม่มีข้อจำกัดในการทดลองทำอะไรใหม่ๆ  และสุดท้าย การที่ทำให้พนักงานของโชนันก้าวไปข้างหน้า ทำให้องค์กรเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ นั่นคือ ความสุขและความสำเร็จที่ยั่งยืนของโชนัน

ที่มา : สัมมนาโครงการ DIPROM AgriBiz Scale Up เพื่อธุรกิจ SMEs โดย คุณกุลวัชร ภูริชยวโรดม (ปอ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชนัน จำกัด วันที่ 9 กันยายน 2565 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่