เทคนิคยื่นภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน ปีภาษี 2565

การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนในฐานะพลเมืองและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในการคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง โดยไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ


โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ ต้องรู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี


การยื่นภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90/91) แบบออนไลน์ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเสียเวลาในการกรอกข้อมูลยื่นภาษีออนไลน์ ควรใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการ เพราะสะดวกในการอ่านและตรวจสอบข้อมูล ที่สำคัญต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้ตามเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ( https://efiling.rd.go.th/rd-cms/tax )

salary

ก่อนยื่นภาษี มนุษย์เงินเดือนควรศึกษาและทำความรู้จักข้อมูลของตัวเองก่อน โดยผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนทางเดียว (ภ.ง.ด.91) ต้องรู้ว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีหรือไม่


ผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และเกิน 220,000 บาท (กรณีสมรส) มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ถึง 120,000 หรือ 220,000 บาทต่อปี แล้วแต่กรณี ก็ไม่ต้องยื่นภาษี


เงินที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี คือ เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าที่กฎหมายกำหนด


ส่วนมนุษย์เงินเดือนที่เปลี่ยนงานหรือออกจากงานระหว่างปี หากมีรายได้ที่เกิดขึ้นใน ระหว่างปี 2565 ก็ต้องนำมายื่นภาษีเช่นกัน และหากได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เช่น เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน อาจมีทางเลือกในการคำนวณภาษีวิธีพิเศษตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนยื่นภาษี

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้หลายช่องทางรวมถึงอาชีพเสริม เช่น

  • ขายของออนไลน์
  • รายได้ประเภทอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี


ก็ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องรู้ว่ารายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด เพื่อให้หักค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด


กรณีเงินเดือนสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีเงินได้ทั้งจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน โดยหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกัน


ถัดจากนั้น ต้องรู้ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่จะนำมาหักออกจากรายได้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส (กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้) ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา รวมถึงค่าลดหย่อนเบี้ยประกัน การลงทุน ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เงินออม การบริจาค ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามมาตรการช้อปดีมีคืน เป็นต้น


หลังจากนำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว  ถ้ามนุษย์เงินเดือนมีเพียงรายได้จากเงินเดือน จะสามารถคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากเงินได้สุทธิคูณด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าตามระดับเงินได้สุทธิได้เลย โดยอัตราภาษีจะสูงขึ้นตามระดับเงินได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่ถ้ามีรายได้ประเภทอื่น ๆ ด้วย นอกจากจะต้องคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้ทุกประเภทรวมกันหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว จะต้องคำนวณอีกวิธีหนึ่งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน กล่าวคือนำรายได้ประเภทอื่น ๆ นอกจากเงินเดือน มาคูณด้วยอัตราภาษี 0.5% หากวิธีใดมีจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายสูงกว่า ก็ให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วการคำนวณภาษีตามวิธีแรก จะมีจำนวนมากกว่า


เมื่อข้อมูลครบถ้วนก็ถึงขั้นตอนการยื่นภาษี ต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน ซึ่งก่อนยื่นเสียภาษี จะมีหน้าแบบแสดงรายการแสดงจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ และจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือจำนวนภาษีที่ชำระไว้เกิน จึงควรตรวจทานรายละเอียดให้เรียบร้อย ก่อนกดยืนยันการยื่นแบบ

6 ขั้นตอนยื่นภาษี

ขั้นตอนที่ 1 : เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms จากนั้นคลิกยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91


ขั้นตอนที่ 2
: กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้  ให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวว่าถูกต้องหรือไม่ หรือต้องแก้ไข


ขั้นตอนที่ 3
: กรอกเงินได้   โดยดูแหล่งที่มาของรายได้ 5 ประเภท

  • รายได้จากเงินเดือน
  • รายได้จากฟรีแลนซ์, รับจ้างทั่วไป, วิชาชีพอิสระ
  • รายได้จากทรัพย์สิน, การทำธุรกิจ
  • รายได้จากการลงทุน
  • รายได้จากมรดกหรือได้รับมา


ขั้นตอนที่ 4
: กรอกค่าลดหย่อน

  • กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ลดหย่อนบุตร, ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

  • กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ, เงินสมทบกองทุนประกันสังคม, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ SSF

  • กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย, ค่าซื้อสินค้าหรือบริการตามโครงการช้อปดีมีคืน

  • กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ, เงินบริจาคการกุศลสาธารณะ


ขั้นตอนที่ 5
: ตรวจสอบข้อมูล

ถ้ามียอดชำระไว้เกิน สามารถขอคืนเงินภาษี หรือ อุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง  ถ้าต้องชำระภาษีเพิ่ม แล้วภาษีมีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน


ขั้นตอนที่ 6
: ยืนยันการยื่นแบบภาษี

หากเตรียมข้อมูลครบถ้วน ควรรีบยื่นเสียภาษีให้เร็ว เพราะยิ่งยื่นเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วตามไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ายื่นช้ากว่ากำหนด จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้ สำหรับปี 2565 ยื่นแบบออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 และยื่นแบบกระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566


การวางแผนภาษีที่ดีและใส่ใจกับรายละเอียด ขณะเดียวกันเมื่อเอกสารพร้อมและยื่นภาษีให้เร็ว นอกจากจะทำให้ประหยัดภาษี ยังลดความวุ่นวายของการคำนวณตัวเลขในช่วงใกล้วันสุดท้ายของการยื่นแบบในแต่ละปีได้ด้วย