ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
ตลาดค้าปลีกเวียดนาม โอกาสทองของการลงทุน
เปิดมาปี 2564 ประเทศ “เวียดนาม” เป็นเสมือนหญิงสาวเนื้อหอม เป็นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลก จากผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตัวเลข GDP ปรับขึ้น 6% และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.5 -7% อีกทั้งยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือโครงสร้างประชากรที่เป็นอัตราส่วนทองคำ ประชากรเวียดนาม 44 ล้านคนจากทั้งหมด 98 ล้านคนอยู่ในวัยทำงาน ทำให้มีการแข่งขันในธุรกิจอุปโภคบริโภคและตลาดมีศักยภาพเติบโตสูง
ภาคธุรกิจปลีกเวียดนามนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพน่าจับตามอง โดย
คุณเฉลิมชัย พรศิริปิยกุล Head of GO! Expansion Central Retail Vietnam และคุณเอกศักดิ์ วิวัฒนานนท์ Business Development สายงานธุรกิจต่างประเทศ SCB
มาพูดคุยถึงโอกาสการลงทุนในตลาดค้าปลีกเวียดนาม
เซ็นทรัล รีเทล ปักหมุดตลาดค้าปลีก เปิดพรีเมียมซูเปอร์มาร์เก็ต
จากที่เซ็นทรัล รีเทลเปิดตัว
Tops Market
เป็นแบรนด์พรีเมี่ยมซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในนครโฮจิมินห์ เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพตลาดประเทศเวียดนามหลายอย่าง ได้แก่
· ศักยภาพของประเทศเวียดนามเอง ที่การเมืองมีเสถียรภาพสูง โครงสร้างประชากรที่เป็นอัตราส่วนทองคำที่ครึ่งหนึ่งเป็นวัยทำงาน และลักษณะของหนุ่มสาวเวียดนามที่สร้างครอบครัวค่อนข้างเร็ว และหนึ่งครอบครัวมีลูกอย่างน้อยสองคน ส่งผลให้มีประชากรกลุ่มเด็กเติบโตขึ้นมาซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้หมายของธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ จากอานิสงค์ของ FTA ที่มีนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนจำนวนมากทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับ และประชากรชนชั้นกลางเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
· โอกาสในธุรกิจค้าปลีก จากตัวเลขการเทียบสัดส่วนห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดของเวียดนามต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่เวียดนามมีประชากรมากกว่าไทย 30 ล้านคน แต่สัดส่วนห้างค้าปลีกเทียบกับจำนวนประชากรกลับน้อยกว่าไทย 3-4 เท่า เรียกว่ายังมีโอกาสทางการตลาดที่ลูกค้ากลุ่มระดับปานกลางถึงพรีเมี่ยมที่ต้องการสินค้าคุณภาพดีหรือสินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีห้างในเวียดนามที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้อย่างจริงจัง
ทางเซ็นทรัล รีเทลเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะนำเสนอสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ประกอบกับที่มี Big C ในเวียดนามอยู่แล้ว 35 สาขา พบว่ามี 7 สาขาที่อยู่ใจกลางเมืองใหญ่และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ จึงรีแบรนด์ 7 สาขาจาก Big C เป็น Tops Market จำหน่ายสินค้าเกรดพรีเมี่ยม
ตลาดรีเทลในเวียดนามมีโอกาส ความเสี่ยงอย่างไร
คุณเอกศักดิ์กล่าวว่าเวียดนามมีอัตราการเติบโต GDP ที่เร็วที่สุดในโลก 6-7% ต่อปี ในส่วนตลาดรีเทลมีมูลค่า 170 พันล้านเหรียญยูเอส คาดว่าใน 2021-25 จะเติบโต 10% ต่อปี เพราะคนเวียดนามมีกำลังซื้อเยอะและเพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มคนรวยในเวียดนามเติบโตเร็วมากถึง 11% ต่อปี แสดงถึงการที่คนเวียดนามเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศที่โตเร็วมาก ขณะที่ภาคการบริโภค private consumption คิดเป็น 67% ของ GDP ตามหลังเพียงฟิลิปปินส์ สรุปว่าคนเวียดนาม มีกำลังซื้อเยอะ และก็กล้าที่จะจ่ายเงิน ในส่วนเขตเมืองก็มีการขยายตัวเร็วมาก 3% เร็วกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ทำให้ภาคค้าปลีกยังมีโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้อีกมาก
ในส่วนวิถีชีวิตการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของคนเวียดนาม ถ้าไม่ใช่ในเมืองใหญ่ คนเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงซื้อของใน Traditional Trade เช่นตลาด ร้านยี่ปั๊วะ ร้านขายของชำ แต่ถ้าเป็นในเมืองใหญ่ คนเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือซื้อของในโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายกว่า ของมีคุณภาพมากกว่า และสามารถซื้อของทุกอย่างได้ในที่เดียว ในปี 2020 ซุปเปอร์มาร์เก็ตเติบโตประมาณ 16-18% ต่อปี ยิ่งช่วยโควิด ซุปเปอร์มาร์เก็ตเติบโตแซง Traditional Trade เพราะคนไม่อยากออกนอกบ้านเยอะ การไปโมเดิร์นเทรดที่เดียวสามารถซื้อของที่ต้องการได้ทั้งหมด แทนที่ต้องไปหลายๆ ร้าน
ในช่วงโควิดที่คนออกจากบ้านไม่ได้ ก็หันมานิยมซื้อของกินของใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตผ่านทางแอปพลิเคชั่น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ตอนนี้ตลาดค้าปลีกเวียดนาม ประกอบด้วย ผู้เล่นรายใหญ่ทั้ง Saigon Co Op VinMart Mobile World ที่เป็นของเวียดนาม Central Group, AEON, Lotte Mart ที่เป็นต่างชาติ
กลยุทธ์ขยายธุรกิจครอบคลุมทุก segment
เซ็นทรัล รีเทลทำแบ่งตลาดเป็น
3 segment ใหญ่ๆ โดยใช้โมเดลที่มีสินค้าและบริการต่างกันตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม คือ
1) ร้านค้าในเมืองใหญ่ เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ ใช้โมเดล Tops Market
2) ร้านค้าตัวจังหวัด ใช้ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น Big C
3) ร้านค้าในอำเภอของจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป (Suburban) ใช้โมเดลซุปเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ MINIGO
ใน 5 ปีนับจากนี้ไป เซ็นทรัลมีแผนใช้งบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ (3.5 หมื่นล้านบาท) ขยายสาขาทุกโมเดลให้ครอบคลุม 55 จังหวัดในเวียดนาม โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2564 นี้ เตรียมงบไว้ 6.6 พันล้านบาท โดยจะขยายมอลล์ 4 สาขาใน 4 จังหวัด และ MINIGO 1 จังหวัด ตลอดจนรีแบรนด์ Tops Market ให้ครบ 7 สาขา
ในส่วนช่องทางออนไลน์ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง และจับมือกับพาร์ทเนอร์โซเชี่ยลมีเดียอันดับหนึ่งของเวียดนาม รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ เริ่มทดลองแพลตฟอร์ม Beep-Beep เป็นบริการ Click & Collect ในโฮจิมินห์ มี Fulfillment Center ใกล้บ้าน ให้ลูกค้าไปรับของในช่วงเวลาที่สะดวก เป็นการแก้ Pain Point ตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ไม่มีคนอยู่บ้านคอยรับของ
Tops Market เวียดนาม VS ไทย เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
Tops Market ที่เวียดนามยังคงคอนเซ็ปต์ Top of the World, Top of Choice เหมือนที่ไทย แต่สินค้าเวียดนามยังเป็นหลัก และผสมผสานสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ ตามผลสำรวจความนิยมของลูกค้าเวียดนาม และลูกค้าชาวต่างชาติที่นั้น ทั้งนี้ เซ็นทรัลมีศักยภาพนำสินค้านำเข้าจำนวนมาก จึงสามารถทำราคาได้ดีที่สุดในตลาด นอกจากจะขายสินค้านำเข้าใน Tops Market แล้ว ก็ยังวางขายในซุปเปอร์แบรนด์ MINIGO ด้วย เพื่อตอบสนองคนที่ไม่สามารถเข้าเมืองมาซื้อสินค้าได้ นอกจากสินค้านำเข้าแล้ว Tops Market ยังมีจุดขายที่สินค้าออร์แกนิค โดยเรามีเป้าหมายว่าลูกค้าเวียดนามต้องได้กินผักผลไม้สินค้าออร์แกนิคในราคาที่จับต้องได้ และใช้หลัก Customer-Centric ทำ Customize สินค้าเนื้อ ชีส ฯลฯ ตามความนิยมลูกค้าในพื้นที่สาขา
คนเวียดนามชอบสินค้าไทยหรือไม่?
จากประสบการณ์ที่คุณเอกศักดิ์พูดคุยกับคนเวียดนามพบว่า สินค้าจากไทยทั้งของกินของใช้เป็นที่นิยมของคนเวียดนาม ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพและรสชาติดีกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าเวียดนามเอง และราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับสินค้าที่มาจากเกาหลีหรือญี่ปุ่น สินค้าของกินที่ดังมาก คือเครื่องดื่มชูกำลัง ปลากระป๋อง ขนมขบเคี้ยว ซึ่งมีการปรับรสชาติให้เข้ากับความชอบของคนเวียดนาม นอกนั้นก็มี ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ใช้ดีกลิ่นหอมติดทนนาน ในส่วนเครื่องสำอางก็มีคุณภาพดี แต่อาจจะสู้ของจากทางเกาหลี ญี่ปุ่นไม่ได้
คุณเฉลิมชัยกล่าวถึงวิธีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนเวียดนาม เพราะแม้คนไทยกับคนเวียดนามมีพฤติกรรมการกินและใช้ของที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่ต้องปรับ 4 ข้อด้วยกัน
1) ผู้ประกอบธุรกิจต้องตรงไปตรงมา สินค้าที่นำเข้ามาต้องดีมีคุณภาพ ถ้าเป็นของสดต้องสดจริงๆ เพราะคนเวียดนามมีพฤติกรรมชอบสัมผัสสินค้าตรวจสอบความสดใหม่
2) การทำ Segment สินค้าต้องชัดเจน ทางภูมิศาสตร์เวียดนามแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เวียดนามเหนือ เวียดนามกลาง และเวียดนามใต้ โดยผู้คนในแต่ละภาคก็มีรสนิยม พฤติกรรมแตกต่างกัน จึงสำคัญที่ต้องเข้าใจพฤติกรรมคนแต่ละภูมิภาค และแม้คนเวียดนามจะมีกำลังใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ Value for Money ก็ยังเป็นสิ่งที่คนเวียดนามยังคิดถึงอยู่มาก ดังนั้น ราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญมากในตลาดเวียดนาม
3) การบริการ ลูกค้าเวียดนามชอบพิจารณาสินค้าถี่ถ้วน ควรมีบริการที่จะสื่อสารคุณภาพสินค้าให้เขาเข้าใจได้
4) คนเวียดนามให้ความสำคัญกับเด็ก กิจกรรมที่ทำกับเด็กๆ จะเป็น Value Added ให้ลูกค้ามีความรักในสินค้าของเรามากขึ้น
แนะนำผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในเวียดนาม
คุณเฉลิมชัยกล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวในการไปลงทุนทำธุรกิจในเวียดนาม ดังนี้
1) คิดก่อนว่า แม้เวียดนามจะอยู่ใกล้ไทย แต่ก็ไม่เหมือนไทยเสียทีเดียว การคิดว่าอะไรดีในประเทศเรา แล้วจะดีในเวียดนาม จะทำให้เราติดกับดัก ต้องเรียนรู้ว่าพฤติกรรมคนเวียดนามไม่เหมือนไทย
2) เข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์ พฤติกรรมผู้คนในแต่ละภูมิภาค และจับจุดความต้องการของลูกค้าให้ถูก
3) ปรับพื้นฐานความคิดเรื่องการทำงานกับคนเวียดนาม ว่าการสื่อสารกับพวกเขาไม่เหมือนกับคนไทยด้วยกันเอง พนักงานชาวเวียดนามมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง ยึดถือเรื่องศักดิ์ศรีค่อนข้างมาก
4) บริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องมีความอดทน เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพ จึงมีหลายประเทศเข้ามาลงทุน และตลาดมีการแข่งขันสูง ในส่วนตำแหน่งงานระดับหัวหน้าควรเป็นคนไทยกำกับ มิฉะนั้นผลอาจไม่ออกมาตามนโยบายที่วางไว้
5) ต้องมีการอัพเดทเรื่องข้อกฎหมายอยู่เรื่อยๆ เพราะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเป็นประจำ ต้องมั่นใจว่าเราทำตามกฎหมายได้ถูกต้องทุกข้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับ
6) เข้ามาลงทุนเป็น FDI จะดีที่สุด การทำธุรกิจแบบร่วมทุน (Joint Venture) อาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยความเสี่ยงเรื่องพาร์ทเนอร์หากที่ไม่สามารถทำธุรกิจด้วยกันได้ในระยะยาว
ปรึกษาเรื่องการลงทุนในเวียดนามกับ SCB
SCB สาขาโฮจิมินห์ซิตี้
ให้บริการทางการเงินทุกรูปแบบ เงินฝาก สินเชื่อ การค้าต่างประเทศ เงินโอน อัตราแลกเปลี่ยน ให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบ ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอนในการลงทุน SCB มีประสบการณ์ให้บริการมาอย่างยาวนาน ได้รับใบอนุญาตดำเนินการ 99 ปีจากธนาคารกลางเวียดนาม และเครือข่ายกับสำนักงาน SCB ในกลุ่ม CLMV รวมถึงสิงคโปร์ และจีน พร้อมสนับสนุนธุรกิจที่ขยายการลงทุนในตลาดลุ่มแม่น้ำโขง โดยพนักงานมีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์การลงทุนตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างครบวงจร
ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อได้ - ที่นี่ –
ที่มา : Vietnam Insight & Update 2021 โอกาสทางการค้า มุมมองและศักยภาพการเติบโตธุรกิจรีเทล เวียดนาม ออกอากาศทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 30 เมษายน 2564
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด