ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ประเทศไทยหลังโควิด-19 ตอนที่ 1 : ผลกระทบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย
ตอนที่ 1
วิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างในชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ยอดผู้ป่วยติดเชื้อ ความวิตกกังวลในอนาคตที่ไม่แน่นอน และมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center – EIC) SCB ได้นำวิเคราะห์ผลกระทบที่โควิดมีต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยอย่างน่าสนใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ทำไมวิกฤตโควิด-19 จึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกมากกว่าวิกฤตที่เคยเกิดก่อนหน้านี้
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตที่กระทบรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะเป็นวิกฤตที่แพร่กระจายส่งผลกระทบไปทั่วโลก ต่างจาก Hamburger Crisis ในปี 2008 ที่มีผลเฉพาะสหรัฐและยุโรป แต่ด้านเอเชียยังดีอยู่ และวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 1997 ที่กระทบแค่กับไทยและประเทศเอเชีย ไม่ไปถึงยุโรปและสหรัฐ แต่วิกฤตโควิด-19 กระจายรุนแรงไปทั่วโลกกว่า 208 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ และมากกว่า 144 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยเคสขึ้นไป
ในส่วนประเทศไทย แม้เราจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ดี โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลงในลักษณะ Flatten the Curve แต่ก็ต้องจับตาดูช่วงหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกก็จับตามองในประเทศตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะการทดสอบตรวจหาผู้ติดเชื้อ (Testing) ในส่วนประเทศไทย จำนวน Testing ไป 227,00 เคสคิดเป็นจำนวน 3,300 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ซึ่งนับว่าค่อนข้างน้อยอยู่ จึงต้องติดตามสถานการณ์และมาตรการ Testing ในช่วงหลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์
ทั้งนี้ เมื่อดูจากดัชนีล็อกดาวน์ของประเทศที่มีการปิดเมือง มาพล็อตกับดัชนีภาคอุตสาหกรรมจะออกมาเป็นกราฟ Downward Sloping หมายความว่ายิ่งล็อกดาวน์มาก เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมลดลงมาก ชี้ให้เห็นว่า การล็อกดาวน์มีนัยยะสำคัญต่อผลผลิตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเร็วหรือช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผ่อนคลายล็อกดาวน์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อมันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะกลับมาใช้จ่าย ออกไปที่ชุมชนเหมือนก่อนเกิดโควิด ซึ่งตรงนี้ มาตรการ Testing ติดตามผู้ป่วยทีมีประสิทธิภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
ผลกระทบต่อประเทศไทย ก่อนหน้าโควิดและเมื่อเกิดโควิด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 นี้ จะหดตัว -3% รุนแรงที่สุดตั้งแต่วิกฤต Great Depression เมื่อ 90 ปีที่แล้ว สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปีพ.ศ. 2562 เนื่องจากภาวะสงครามการค้า เห็นได้จากการปิดโรงงาน สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงบประมาณปี 2563 ที่อนุมัติล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลให้งบลงทุนต่างๆ ล่าช้าไปด้วย
ในส่วนวิกฤตไวรัสโควิด-19 จากที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด เศรษฐกิจไทยก็ชะลอตัวอยู่แล้ว โดยดูจากช่วง 10 สัปดาห์แรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงช่วงก่อนล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ตัวเลขธุรกิจเปิดใหม่ลดน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.3% ขณะที่ตัวเลขของธุรกิจที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้น 20.4% แสดงให้เห็นว่าธุรกิจเปิดใหม่น้อยกว่าธุรกิจที่ต้องปิดตัว
ผลกระทบกับประชาชน และมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ
คุณยรรยงมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2562 จากประชากรจำนวน 21 ล้านครัวเรือน พบว่า 59.2% (12.7 ล้านครัวเรือน) มีเงินสำรองสะสมไว้ใช้ได้น้อยกว่า 3 เดือนของค่าใช้จ่ายปกติ และมีถึง 7 ล้านครัวเรือนมีเงินออมสำรองใช้ได้เพียง 1 เดือน
จากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน เช่นมาตรการช่วยเหลือเยียวยา 6 แสนล้านบาท และแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท หรือในส่วนธปท. ก็มีการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs ตลอดจนกองทุนดูแลตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนด สำหรับมาตรการเพิ่มเติมต่อจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรคระบาดว่าจะจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ต่อหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องทำต่อ ก็ต้องมีการเยียวยาประชาชนต่อเนื่องเพิ่มเติม โดยกระทรวงการคลังและธปท.ก็พร้อมปรับมาตรการเสริมช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีว่าภาครวมเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างดี หนี้สาธารณะไม่สูงมาก จึงยังมีความสามารถในการะดมทุนระยะสั้นมาดูแลประชาชน ซึ่งการอัดฉีดเม็ดเงินลงที่ประชาชนโดยตรง อย่างเงินเยียวยา 5,000 บาทจะเห็นผลค่อนข้างเร็วจากการนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยทันที ในส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุน ต้องดูที่ระดับความพร้อมในการลงทุน ถ้ามีโครงการที่รองรับอยู่แล้ว การอัดฉีดเงินลงไปก็จะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ซื้อวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ที่เห็นผลค่อนข้างเร็วเช่นกัน
ตัวเลขเรียลไทม์ชี้คนว่างงานเพิ่มขึ้น
จากตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขแรงงานในประเทศไทยมีจำนวน 37.6 ล้านคน ส่วนที่มีความเสี่ยงมากคือภาคท่องเที่ยว ภัตตาคาร สันทนาการ บริการ ตลอดจนค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงกลุ่มพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบการรายย่อย และเจ้าของธุรกิจส่วนตัวในกลุ่มธุรกิจนี้ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ jobsdb.com พบว่าตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงปัจจุบัน (7 พฤษภาคม 2563) ตัวเลขโพสต์รับสมัครงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโพสต์ตำแหน่งงานประจำลดลง 35% และโพสต์งานพาร์ทไทม์ลดลงมากกว่า 50% ยิ่งงานเงินเดือนน้อยที่ใช้ทักษะน้อยที่อาจะเป็นงานในภาคท่องเที่ยวบริการลดลงมากที่สุด แต่โดยรวมนอกจากงานภาครัฐและแล้วทุกกลุ่มธุรกิจลดลงหมด
ข้อมูลเรียลไทม์นี้สะท้อนถึงภาวะในตลาดแรงงานที่ภาคธุรกิจต่างรัดเข็มขัดไม่จ้างงานใหม่ แม้ในบางกลุ่มธุรกิจสามารถขยายตัวได้ เช่น ธุรกิจออนไลน์ ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี่ ดูแลสุขภาพ ซึ่งก็ต้องมีการปรับใช้ออนไลน์ให้เข้ากับธุรกิจ อย่างไรก็ดี บรรยากาศโดยรวมการจ้างงานก็ชะลอลง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ คุณยรรยงแนะนำ ระหว่างว่าที่รอให้ภาวะการจ้างงานกระเตื้องขึ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ควรจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ ดิจิทัล Coding ที่เป็นต้องการเพื่อตอบโจทย์การจ้างงานในธุรกิจต่างๆ เหล่านี้
ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า และนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า New Normal ที่ทำให้รูปแบบชีวิตคนทั่วโลกแตกต่างไปจากเดิม คุณยรรยงมองภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้ New Normal เป็นอย่างไร คลิกอ่านที่ ประเทศไทยหลังโควิด-19 ตอนที่ 2 : โอกาสธุรกิจและทางรอด
ที่มา : SCBTV ประเทศไทยหลัง COVID-19 เตรียมรับมือผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 7 พฤษภาคม 2563