ประเทศไทยหลังโควิด-19 ตอนที่ 2 : โอกาสธุรกิจและทางรอด

ตอนที่  2

จากบทความ ประเทศไทยหลังโควิด-19 ตอนที่  1 ผลกระทบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย ในตอนที่  2 นี้มาดูกันว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจะต้องทำอย่างไรให้ไปต่อได้ถึงตอนที่อุตสาหกรรมฟื้นตัว   ธุรกิจแบบไหนที่จะอยู่รอดในช่วงนี้   New Normal ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร  มนุษย์เงินเดือนต้องรีสกีลเพิ่มเสริมทักษะใหม่อย่างไร  ฟังมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะนำผลงานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศมาวิเคราะห์ให้ผู้ประกอบการและมนุษย์เงินเดือนได้เตรียมพร้อมรับมือหลังวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง

ธุรกิจไหนรอด-ร่วง ช่วงโควิด

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ดร.ยรรยง  มองว่า  ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีโอกาส  ต้องมองให้ขาดว่าธุรกิจอะไรที่สามารถเติบโตได้และได้รับผลกระทบน้อยจากโควิด จากงานวิจัยพบว่ามี  3  กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจสื่อสาร  2.กลุ่มค้าปลีก  และ 3.กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม  โดยต้องทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป  เพราะคนเริ่มเคยชินกับการสั่งซื้อออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว  ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ต้องระวังและไม่ควรผลีผลามเพราะได้รับผลกระทบโดยตรง  ได้แก่   ธุรกิจโรงแรม   ร้านอาหาร   ธุรกิจสายการบิน  ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์  ธุรกิจน้ำมัน   และธุรกิจยานยนต์   พวกนี้คือ  กลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวัง  แต่ไม่ใช่จะทำธุรกิจไม่ได้ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม  หลังจากไตรมาส 3 – 4 ของปี 2563 ถึงจะเริ่มมองเห็นการฟื้นตัวแต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดร.ยรรยง กล่าวอีกว่า  อยากให้ลองเรียนรู้จากประเทศต่างๆ  ที่มีวิกฤตจะเห็นว่ามี  Pattern บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน  อย่างกลุ่มเอเชียจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้า FMCG บางประเภทเพิ่มสูงมากขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน  ทำให้มีการกักตุนสินค้าเพราะกังวลว่าจะขาดแคลน   หากภาคธุรกิจต้องหยุดการผลิต  โดยสินค้าที่ซื้อเพิ่มมากขึ้น  ได้แก่  ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล  48%   ผลิตภัณฑ์สุขภาพและอาหารเสริม  45%   และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน  40%   รวมถึงพฤติกรรมของคนจากสถานการณ์โควิด  ทำให้เกิดการซื้อของออนไลน์ 32%  การใช้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง  42%  และการสั่งอาหาร Delivery 30%

ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่ซื้อน้อยลง  ได้แก่  เครื่องดื่มแอลกอฮอร์ 30%  สินค้าฟุ่มเฟือย 27%  เนื้อสัตว์และอาหารทะเล 21%  รวมไปถึงพฤติกรรมที่ทำน้อยลง  ได้แก่  การออกนอกบ้าน 52%  การออกไปกินข้าวนอกบ้าน  52%   หรืออย่างในสหรัฐอเมริกายังมี Trigger Point  ที่ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในการใช้จ่าย โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น  เช่น  อาหารและยารักษาโรค โดยมีสัดส่วนการซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 50%  และมีพฤติกรรมในการซื้อของออนไลน์   ส่วนการลดค่าใช้จ่ายจะเป็นด้านการท่องเที่ยว 56% รวมถึงด้านความบันเทิงและการซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ลดลงกว่า 30%

New Normal ความปกติใหม่ที่คุ้นเคย

ดร.ยรรยง  ให้ความเห็นในเรื่อง  New Normal  กับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงเพราะความเคยชินเมื่อทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ในระยะเวลานาน  มีโอกาสที่จะกลายเป็น New Normal   แต่ไม่ใช่ทุกพฤติกรรมจะกลายเป็น New Normal ไปทุกอย่าง   นอกจากนี้  แนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน  ได้แก่  การดูวิดีโอสตรีมมิ่ง , การเล่นเกมออนไลน์ , การใช้จ่ายเงินผ่าน  e-Payment , การสั่งอาหาร Delivery, การทำอาหารกินเองที่บ้าน  รวมไปถึงการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมแต่งบ้าน   เช่น  เฟอร์นิเจอร์ ,  Renovate บ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศ   เหล่านี้สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมใหม่คนในสังคม

ดร.ยรรยงยังกล่าวอีกว่า  เมื่อมีวิกฤตมักมี New Normal   ตัวอย่างเช่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ผู้ชายถูกเกณฑ์ออกไปเป็นทหารจำนวนมาก  ทำให้จากปกติผู้หญิงเคยอยู่แต่บ้าน  ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว  ทำให้เกิด New Normal ที่ผู้หญิงออกนอกบ้านไปทำงาน  หรืออย่างเหตุการณ์ 911 ที่มีการก่อการร้ายทำให้เกิดมาตรฐานการบินในเรื่องการป้องกันก่อการร้ายและความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น  หรือวิกฤตโรคซารส์  ทำให้  e-Commerce ในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เติบโต  เพราะคนต้องซื้อของออนไลน์    ส่วนประเทศไทย  ดร.ยรรยง  มองว่า  New Normal  จะเป็นเรื่องของการใช้ออนไลน์หรือเทคโนโลยีในเรื่องต่างๆ  เพิ่มมากขึ้น

“รู้ใจ”  เทคนิคพาธุรกิจฝ่าโควิด

กับคำถามที่ว่าในช่วงนี้ควรเริ่มทำธุรกิจใหม่หรือไม่   ดร.ยรรยง  มองว่า  ธุรกิจหลังโควิดจะต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเข้าใจลูกค้า  รู้ใจลูกค้าว่าความต้องการใหม่คืออะไร  ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบให้เข้ากับพฤติกรรมใหม่   เช่น   ร้านอาหาร  เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังชอบออกไปทานข้าวที่ร้านอาหารมากกว่าจะซื้อกลับบ้าน  เพราะได้ทั้งความสดใหม่และบรรยากาศของร้าน  แต่ต้องมีการขายผ่านออนไลน์ด้วย  เพราะคนเคยชินกับการสั่งออนไลน์แล้ว  หรือห้างสรรพสินค้าต้องสร้างจุดเด่นให้คนอยากออกไปเดินห้าง  สร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าการซื้อออนไลน์ก็จะทำให้คนเลือกที่จะมาเดินห้างมากขึ้น  เป็นต้น


ชี้ทางรอดธุรกิจโรงแรม

การระบาดของโควิดทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมมีบาดแผลลึกยากที่จะเยียวยาให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว  ดร.ยรรยง มองว่า  ต้องค่อยเป็นค่อยไปคาดว่าประมาณกลางปีหน้า 2564 เป็นต้นไป  จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีเพราะจุดเปลี่ยนของวิกฤตโควิดคือต้องผลิตวัคซีนได้สำเร็จ  ธุรกิจโรงแรมก็จะดีขึ้นตามมา  แล้วในช่วงนี้ต้องปรับตัวอย่างไร   สิ่งแรก  คือ   การบริหารจัดการทางการเงิน  ต้องดูแลสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด   บริหารบัญชีค้างจ่ายให้มีประสิทธิภาพ   ลดค่าใช้จ่าย   จ้างงานเท่าที่จำเป็น   ลดสินค้าคงคลัง  แม้จะดูเหมือนว่าธุรกิจโรงแรมต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว  แต่ ดร.ยรรยง  แนะว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่ควรนิ่งเฉย  ควรปรับตัวใน  2  มิติสำคัญ ได้แก่


1.การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการให้บริการ
ได้แก่   New Service & Hygiene   ในด้านการให้บริการและการทำความสะอาดผู้เข้าพักจะยินดีรับการบริการแบบไม่มีการสัมผัส (Contactless Services) มากขึ้น รวมถึงการทำความสะอาดห้องพักและพื้นที่ต่างๆ ด้วยมาตรฐานใหม่ , Digitalization Accelerated ผู้เข้าพักจะต้องการใช้เทคโนโลยีภายในโรงแรมมากขึ้นเพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิด เช่น  ระบบโมบายเช็คอิน หรือระบบ e-Concierge ที่ใช้จองบริการต่างๆ ภายในโรงแรม  ทำให้ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีการบริการมากกว่าแต่ก่อน


2.การเพิ่มความยืดหยุ่นของรายได้
ได้แก่   More Thai  Guest  เพิ่มสัดส่วนรายได้ผู้เข้าพักชาวไทยมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานได้หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติในอนาคต , Non -Room Revenue  การเพิ่มรายได้จากบริการอื่นๆ  เช่น  สปา   ฟิตเนต  ห้องอาหาร  ห้องประชุม จะมีบทบาทต่อการดำเนินงานของโรงแรมมากขึ้นในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากห้องพักเพียงอย่างเดียว

จุดขายใหม่โอกาสทองท่องเที่ยวไทย

ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP  แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดทำให้ไทยขาดรายได้  แต่หากมองในแง่ดี  ไทยมีจุดได้เปรียบจากความเข้มแข็งในด้านการแพทย์และสาธารณะสุข  ดร.ยรรยง  มองว่า  หลังโควิดไทยยังมีรูมที่ถือว่าเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนไทยอีก  เนื่องจากมีชื่อเสียงในด้าน Medical & Wellness Tourism ถือเป็นโอกาสในด้านการแพทย์   การรักษาฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม  รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น   ซึ่งนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง หรือ  FIT (Free and Independent Traveler) จะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเที่ยวหลังโควิด   จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะใช้วิกฤตนี้สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น


วิชาเอาตัวรอดของมนุษย์เงินเดือน

ก่อนจะเกิดโควิดก็มีกระแส Disruption ในภาคธุรกิจต่างๆ  ทำให้ต้องปรับ Business Model  และยิ่งมีโควิดก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการ Disrupt ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม  ในส่วนของมนุษย์เงินเดือน ดร.ยรรยง กล่าวว่า  สิ่งแรกที่ควรทำคือ  การบริหารความเสี่ยง  โดยจะต้องมีสภาพคล่องเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองไปได้อย่างน้อย 6 เดือนหากเกิดตกงานกะทันหัน  ควรลดรายจ่าย  ไม่ก่อหนี้เพิ่ม  หารายได้เสริม   และในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้านควรลงทุนกับตัวเองเสริมความรู้  เพิ่มทักษะใหม่ที่ตลาดแรงงานต้องการ  ทำให้เพิ่มโอกาสให้ตัวเองสามารถออกไปหางานใหม่ได้  หรืออาจคิดริเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองจากทักษะใหม่ที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม

ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบคงจะพอมองเห็น  New Normal  ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยหลังโควิดสิ้นสุดลง   ใครปรับตัวได้เร็ว  ตอบสนองได้ทันตามความต้องการใหม่ของผู้บริโภค  รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสร้างโอกาสทางธุรกิจ ก็จะสามารถยืนหยัดและอยู่รอดได้  ขณะที่มนุษย์เงินเดือนก็เป็นโอกาสที่จะสะสมต้นทุนความรู้  เพิ่มทักษะใหม่ทำให้แข็งแกร่งขึ้น  ดียิ่งขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต  ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือมนุษย์เงินเดือน  หากรู้จักปรับตัว  พร้อมเรียนรู้  เพิ่มทักษะใหม่อยู่เสมอ  เมื่อโอกาสมาถึงความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ที่มา : SCBTV ประเทศไทยหลังโควิด-19 เตรียมรับมือผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 7  พฤษภาคม 2563