ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
วางแผนเกษียณด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากกล่าวถึงการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังวัยเกษียณของพนักงานบริษัทเอกชน ก็ต้องนึกถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางการเก็บออมที่ดีแล้วยังมีประโยชน์อีก 5 อย่าง ได้แก่
1.เหมือนได้เงินเดือนเพิ่มจากเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้
ไม่มีการออมรูปแบบใดที่ได้นายจ้างมาช่วยออมเหมือนกองทุนสำรองเลีัยงชีพ โดยหากเป็นสมาชิกกองทุนนี้แล้ว นายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้เพิ่ม ซึ่งเงินส่วนนี้เปรียบเสมือนพนักงานได้เงินเพิ่มจากนายจ้างมาพิเศษ โดยเงินสมทบจะจ่ายตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง
2.เพิ่มโอกาสให้เงินลงทุนด้วย Employee’s Choice
ปัจจุบันกฎหมายเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้ (Employee’s Choice) โดยเลือกนโยบายการลงทุนได้จากระดับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้และจากผลตอบแทนที่ตัวเองต้องการ จึงควรเลือกนโยบายหรือสัดส่วนการลงทุนที่สอดคล้องกับอายุ ผลตอบแทนที่ต้องการและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอย่างเหมาะสม ทำให้มีเงินออมจากการลงทุนมากขึ้น เช่น ถึงแม้จะมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงของเงินลงทุน แต่ถ้าอายุน้อยเป็นวัยเริ่มต้นทำงาน การเลือกนโยบายลงทุนที่มีสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นก็จะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้มากกว่า
3.สร้างวินัยลงทุนระยะยาว
การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการออมระยะยาว โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ การมีเงินเกษียณ มีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน เป็นการสร้างวินัยการลงทุนที่เก็บก่อนใช้ ดังนั้น หากเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่เดือนแรกของการทำงานก็จะมีเงินก้อนโตไว้ใช้ในวันเกษียณ
4.ได้มืออาชีพมาดูแลเงิน
ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจะคอยดูแลและบริหารเงินแทนเรา นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่ากองทุนประเภทอื่น ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่านี้ก็จะช่วยให้เงินงอกเงยได้มากขึ้นในระยะยาว
5.สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วยประหยัดภาษีในทุกต่อ ตั้งแต่เงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ผลประโยชน์จากการลงทุน และเงินที่ได้จากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ (ทั้งเงินของสมาชิก เงินส่วนของนายจ้าง และดอกผลจากการลงทุน) จะได้รับยกเว้นภาษี หากอายุเกษียณไม่น้อยกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี
การบริหารเงินออมเบื้องต้นจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป้าหมายมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณมี 3 เคล็ดลับ ได้แก่ เพิ่มอัตราเงินสะสม เปลี่ยนทางเลือกลงทุน หรือทำทั้งสองเทคนิคควบคู่กัน
ตัวอย่าง การเพิ่มเงินออมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1.อายุ 25 ปี เงินเดือน 25,000 บาท (อัตราการเพิ่มของเงิน 3% ต่อปี)
2.สะสมเงินเข้ากองทุน 3% ต่อเดือน นายจ้างสมทบ 3% ต่อเดือน สมมติได้รับผลตอบแทน 5% ต่อปี
3.ต้องการใช้เงินหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน สมมติว่าได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณ 2% ต่อปี (อัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี) และคาดว่าจะเสียชีวิตอายุ 85 ปี
|
เงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ |
เงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนอายุ 60 ปี |
เงินเกิน/เงินขาด |
1.ไม่ทำอะไรเลย |
6,761,921 บาท |
2,723,144 บาท |
เงินขาด 4,038,777 บาท |
2.เพิ่มเงินสะสมเป็น 10% นายจ้างสมทบให้ 5% |
6,761,921 บาท |
6,807,861 บาท |
เงินเกิน 45,940 บาท |
3.เปลี่ยนทางเลือกลงทุน สมมติได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี แต่ยังคงสะสมเงินเข้ากองทุน 3% ต่อเดือน นายจ้างสมทบ 3% ต่อเดือน |
6,761,921 บาท
|
5,169,087 บาท |
เงินขาด 1,592,834 บาท |
4.เพิ่มเงินสะสมเป็น 10% นายจ้างสมทบให้ 5% และเปลี่ยนทางเลือกลงทุน สมมติได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี |
6,761,921 บาท |
12,990,219 บาท |
เงินเกิน 6,228,298 บาท |
หมายเหตุ : การคำนวณเพื่อหาวิธีเพิ่มเงินออมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใช้วิธีคำนวณของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากข้อมูล พบว่าหากไม่ทำอะไรเลยเมื่อถึงวันเกษียณ (อายุ 60 ปี) จะมีเงินจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 2,723,144 บาท โดยเงินขาดไป 4,038,777 บาท (เงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท หรือ 6,761,921 บาท ตลอดมีชีวิตหลังเกษียณ)
หากเลือกเพิ่มเงินสะสมเป็น 10% ต่อเดือน สมมติว่านายจ้างสมทบเพิ่มเป็น 5% ต่อเดือน จะมีเงินจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 6,807,861 บาท ได้เงินเกินเป้าหมาย 45,940 บาท
หากเลือกเปลี่ยนทางเลือกลงทุน สมมติได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี แต่ยังคงสะสมเงินเข้ากองทุน 3% ต่อเดือน นายจ้างสมทบ 3% ต่อเดือน จะมีเงินจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5,169,087 บาท เงินขาด 1,592,834 บาท
หากเลือกเพิ่มเงินสะสมพร้อมกับเปลี่ยนทางเลือกลงทุน (วิธีการที่ 4) จะมีเงินจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 12,990,219 บาท ได้เงินเกินเป้าหมายถึง 6,228,298 บาท
สำหรับนโยบายการลงทุน ปัจจุบันหลายบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตนเองได้
(
Employee
’
s Choice
)
โดยมีแผนการลงทุนที่เป็นส่วนผสมสินทรัพย์การลงทุน เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ โดยลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และมีแผนการลงทุนแบบแผนสมดุลตามอายุ (Target Date) ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนที่มีการจัดสรรเงินลงทุนตามอายุของสมาชิกซึ่งจะปรับพอร์ตการลงทุนให้อัตโนมัติเมื่อมีอายุเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับวัยใกล้เกษียณ เช่น 50 ปี หากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจะมีเงินในกองทุนนี้ระดับล้านบาท ดังนั้น การเลือกนโยบายลงทุนจึงควรลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวทำให้ในระหว่างทางอาจเจอความผันผวนจากสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจปรับพอร์ตลงทุนด้วยการเน้นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำควร ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ติดตามสถาการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากเปลี่ยนนโยบายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ช่วงการแพร่ระบาดไวรัส COVID - 19 อาจทำให้เสียประโยชน์ได้ เพราะบริษัทจัดการที่ดูแลกองทุนต้องขายหุ้นในส่วนของสมาชิกที่ราคาปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นการขายในราคาถูกแล้วนำไปซื้อตราสารหนี้ และยังเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้น
โดยหลักการเบื้องต้นของการปรับพอร์ตลงทุน คือ กระจายลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตและยังคงได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดี
ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าการลงทุนในระยะยาวสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพราะนอกจากจะช่วยสร้างเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังวัยเกษียณ ยังได้เงินสมทบจากนายจ้างมาช่วยออม ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ดังนั้น การเริ่มต้นออมไว ออมให้เต็มสิทธิ และเลือกนโยบายการลงทุนที่ดี จำนวนเงินออมเพื่อเกษียณก็จะเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจ
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด