ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Shenzhen : Silicon Valley แห่งแดนมังกร
Shenzhen หรือเซินเจิ้น ซึ่งคนไทยคุ้นชินกับภาพเมืองที่เป็นประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่จากทางฮ่องกง และเป็นแหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมในเรื่องสินค้าเกรดบี แต่มาในวันนี้ ผู้คนที่ได้ไปเยือน Shenzhen ล้วนตื่นตาตื่นใจกับภาพเมืองใหญ่ทันสมัยที่มุ่งหน้าไปสู่ความเป็นมหานครไฮเทค ชวนทุกคนมาทำความรู้จัก Shenzhen ในศตวรรษที่ 21 ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “Silicon Valley of China”
จากชุมชนชาวประมงสู่เมืองใหญ่
ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน Shenzhen เป็นเพียงเมืองชายฝั่งเล็กๆ ที่เป็นด่านชายแดนจีนแผ่นดินใหญ่กับเขตฮ่องกง แต่เมื่อประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ผู้มีวิสัยทัศน์ในการใช้แนวทางเศรษฐกิจตลาดเสรีมาพัฒนาเศรษฐกิจจีน เจ้าของวาทะ “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้นับเป็นแมวที่ดี” ได้เปิดเมืองชายฝั่งทางภาคใต้ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ในปี 1979 เพื่อรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ในบรรดาเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เมืองแรก ได้แก่ Shenzhen, Zhuhai, Shantou และ Xiamen เมือง Shenzhen ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ชัยภูมิสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเมืองทำเกษตรกรรม ทำการประมงที่มีคนอาศัยอยู่ไม่ถึงสามหมื่นคน กลายมาเป็นเมืองเทคโนโลยีแนวหน้าของโลกที่มีประชากรกว่า 13 ล้านคน
4 ช่วงการพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิตระดับไฮเอนด์
ตั้งแต่ปี 1979 จนมาถึงปัจจุบัน เมือง Shenzhen แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 (ปี 1997-1992) ที่พัฒนาโดยใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งการที่ Shenzhen เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ธุรกิจจากฮ่องกงมาลงทุนให้ Shenzhen เป็นฐานการผลิตสินค้า เริ่มจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมระดับต้น ต่อมาก็เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และข้อมูล ทำให้ Shenzhen ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตระดับโลกที่จะกรุยทางสู่การผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยีและสินค้าเทคโนโลยีไฮเอนด์ จากที่มีการลงทุนจากภายนอกส่งผลให้แรงงานจากพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศต่างหลั่งไหลเข้ามาและเมือง Shenzhen ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า ถนน โทรคมนาคม
ช่วงที่ 2 (ปี 1992-2002) ในทศวรรษนี้ Shenzhen เข้าสู่การเป็นเมืองธุรกิจ การเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นผลจากการสร้างเศรษฐกิจกลไกตลาดในแบบสังคมนิยม (Socialist Market Economy) นวัตกรรมในภาคการเงิน ประกอบกับในช่วงเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ส่งผลให้มีการลงทุนและเทคโนโลยีจากบริษัทระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของ Shenzhen จากที่เน้นแรงมาเป็นการผลิตที่เน้นเงินทุนและเทคโนโลยีระดับสูง เช่นอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ในแง่ของห่วงโซ่การผลิตโลก เรียกว่าพัฒนาจากระดับล่างมาสู่ระดับกลาง-ล่าง (lower medium) และในช่วงนี้ ก็เริ่มมีการเติบโตของอุตสาหกรรมไฮเทค โลจิสติกส์ และการเงินโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วย
ช่วงที่ 3 (ปี 2003 – 2012) Shenzhen ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการที่ประเทศจีนได้เปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบสังคมนิยมทั้งประเทศ ทำให้เมือง Shenzhen ไม่มีข้อได้เปรียบจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแล้ว นอกจากนี้เมืองยังประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรที่ดิน พลังงาน และน้ำจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น Shenzhen จึงต้องหาจุดแข็งใหม่ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม โดยในภาคการผลิตก็ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ อินเทอร์เน็ต พลังงานรูปแบบใหม่ ไอทียุคใหม่ เป็นต้น ซึ่งทำให้ Shenzhen ก้าวขึ้นสู่ระดับกลาง-ล่างในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก
และในช่วงที่ 4 (ปี 2013 - 2018) ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Shenzhen ประสบความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและขึ้นสู่ระดับสูงในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ Shenzhen มี Ecosystem เงินทุน และบุคลากรที่มีความสามารถ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การเติบโตของสตาร์ทอัพ และเงินลงทุนทำให้ Shenzhen สามารถสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ที่สามารถดึงดูดทรัพยากรจากในระดับโลกได้ เห็นได้จากปี 2012 – 2017 ตัวเลขธุรกิจสินค้าไฮเทคเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า เติบโตปีละ 12.2% จาก 413 พันล้านหยวนเป็น 735 พันล้านหยวน คิดเป็น 32.8% ของตัวเลข GDP และธุรกิจที่ตั้งอยู่ใน Shenzhen กว่า 2,000 บริษัทลงทุนในกว่า 120 ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงแบรนด์ที่รู้จักกันดีอย่าง Huawei ZTE CIMC และ BYD ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ขยายเครือข่ายธุรกิจและการผลิตไปทั่วโลก
ก้าวสู่เมืองไฮ-เทคโนโลยีแห่งโลกตะวันออก
จากชุมชนชาวประมงในอดีต ด้วยนโยบายการส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่นนโยบาย AI 2023 Shenzhen ในวันนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น “Silicon Valley of China” เพราะเป็นบ้านของ Tech Company ชั้นนำของแดนมังกร อย่าง Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ Tencent เจ้าของแพล็ตฟอร์มโซเชียล WeChat และ QQ BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BGI บริษัทวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ DJI ผู้ผลิตโดรนและเทคโนโลยีทางอากาศ รวมถึงบริษัทเทคต่างชาติ อย่าง SenseTime ธุรกิจด้าน AI จากฮ่องกงเป็นต้น ล่าสุด Tencent มีแผนเมกะโปรเจ็กต์จะสร้าง “Net City” เมืองแห่งโลกอนาคต บนเนื้อที่กว่า 2 ล้านตารางเมตร ซึ่งจะเป็นที่ตั้ง ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัท และเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอีกด้วย ที่พิเศษคือจะเป็นเมืองที่ผสมผสานวิถีชีวิตคนเมืองเข้ากับความเป็นธรรมชาติ เน้นพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน สวนหย่อม และปราศจากการใช้รถยนต์ โดยจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งหมด
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าต่อไปอีกไม่นาน Shenzhen จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความพร้อมทั้งทางด้านซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ ต่างจาก Silicon Valley ของสหรัฐที่มีจุดแข็งแต่ทางซอฟท์แวร์ และก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจีนประกาศทดลองใช้เงินดิจิทัลสกุลหยวน Shenzhen ก็เป็นหนึ่งในสี่เมืองนำร่องการใช้เงินดิจิทัลหยวน และ Shenzhen ก็ยังเป็นที่ทดลอง 5G ที่แรกของโลกอีกด้วย
จับตามอง Shenzhen เมืองแห่งเทคโนโลยีในโลกตะวันออก ที่ผงาดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของโลกและทำให้สินค้าติดแบรนด์ “Made in China” ไม่ธรรมดาอีกต่อไป
อ้างอิง
https://www.metropolis.org/sites/default/files/resources
/the_story_of_shenzhen_2nd_edition_sep_2019_0.pdf
https://www.blockdit.com/articles/5ef2e35195d9ef13a54be159
https://www.prachachat.net/columns/news-368857
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=1898
https://www.britannica.com/