ตลาด E-Commerce เมียนมา โอกาสการค้าที่กำลังเติบโต

กระแสการค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก รวมถึงความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารทำให้โลกดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในปัจจุบันจนแทบแยกกันไม่ได้เลยทีเดียว กระแสการตอบรับต่อการสื่อสารในสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเมียนมาเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันคนเมียนมาเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อ-ขาย ทำธุรกรรมออนไลน์กันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ง่าย จากการสำรวจโดยรัฐบาลเมียนมาพบว่า ประชากรเมียนมามี 54 ล้านคน แต่มีหมายเลขโทรศัพท์กว่า 68 ล้านหมายเลข คิดเป็นสัดส่วน 126% ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าคนเมียนมา 1 คน ใช้โทรศัพท์ 1 เครื่องขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารมีอิทธิพลต่อคนเมียนมามาก ในอดีตคนเมียนมาเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ค่อนข้างยาก เพราะซิมการ์ดมีราคาแพง ปัจจุบันซิมการ์ดมีราคาถูกลงมาก และโทรศัพท์ที่คนเมียนมาใช้ล้วนแต่เป็นสมาร์ทโฟน เครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ในเมียนมาเป็นระบบ 4G ซึ่งการเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์จึงกลายเป็นวิถีชีวิตของคนเมียนมา โดยเฉพาะในย่างกุ้งที่ 4G ครอบคลุมถึง 80% ของพื้นที่ สูงสุดเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน รองจากไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จากการสำรวจของ Data Reportal พบว่าเดือนมกราคม 2563 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวน 22 ล้านคน และจากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดนั้นก็ใช้ Social Media เป็นสื่อหลัก

เมื่อปี 2562 รัฐบาลเมียนมาได้มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้กำหนดแผน Myanmar Digital Economy Roadmap และจัดตั้งคณะกรรมการ Digital Economy Development Committee (DEDC) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยแผนดังกล่าวรัฐบาลจะมุ่งเน้น 9 ภาคหน่วยที่สำคัญ ได้แก่ 1. ภาคการศึกษา 2. ภาคการสาธารณสุข 3. ภาคการเกษตร 4. ภาคการประมงและปศุสัตว์ 5. ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต และ SMEs 6. ภาคบริการทางการเงิน 7. ภาคเทคโนโลยีและการส่งเสริมสตาร์ทอัพ 8. ภาคการค้าออนไลน์ 9. ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ โดยวางเป้าหมายเพิ่มอัตราการใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเครือข่าย 5G นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ และลดการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

Myanmar Times ได้แถลงถึงเทรนการใช้เทคโนโลยีของคนเมียนมาที่นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook มากที่สุด รวมทั้งดู Netflix เพื่อดูหนังและซีรี่ส์ยอดฮิต เล่นเกมผ่าน Arcade และการฟังเพลงด้วย VIU, iFlix และ Joox


นอกจาก Facebook จะเป็นสื่อยอดนิยมแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการขายสินค้าด้วย ผ่าน Marketplaces ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน วันนี้จึงขอแนะนำ 4 เว็บไซต์ยอดนิยมที่คนเมียนมาใช้ในการทำการค้าขายสินค้าบนโลกออนไลน์ (ข้อมูลจาก Myanmore ที่มีการจัดอันดับเมื่อ 7/4/2563)

  1. Shop.com.mm ของ Alibaba Group แพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ในเมียนมา เป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน E-commerce ด้วยคุณภาพระดับ Alibaba เปิดตัวในเมียนมาเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีผู้ขาย 30,000 ราย มีสินค้าหลากหลาย จำนวนกว่า 500 แบรนด์ และ 2 ล้านกว่ารายการ และมีลูกค้า 5 ล้านคน มีระบบการชำระที่หลากหลาย รวมถึงการรับชำระเงินด้วยเงินสด และมีแคมเปญรายสัปดาห์ให้กับลูกค้า

  2. Spree.com.mm ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ประกาศตนว่าเป็นแอพพลิเคชั่นแบบครบวงจรที่ใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีสินค้าวางจำหน่ายมากกว่า 30 ประเภท เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ของแท้ 100% มีสำนักงานตั้งอยู่ในสิงคโปร์และไทย เพื่อขยายตลาดไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  3. Barlolo ก่อตั้งเมื่อปี 2559 โดยบริษัท 3KO Ventures ซึ่งกรรมการบริหารล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการค้าขายออนไลน์ เว็บไซต์จึงออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในเมียนมาได้ขายสินค้าฟรี และง่ายดาย ในแต่ละเดือนมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน และมีพ่อค้าเมียนมากว่า 1,000 ราย

  4. Metro ธุรกิจค้าส่งบนโลกออนไลน์สัญชาติเยอรมัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสด อาหารแปรรูป และเครื่องครัวในโลกดิจิตอลที่เสมือนจริง ขยายตลาดไปทั่วโลกกว่า 36 ประเทศ โดยขยายเข้าสู่เมียนมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2562 มีคลังสินค้าที่ทันสมัยขนาด 5,800 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa มีเทคโนโลยีการจัดเก็บสินค้าและด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย


จะเห็นได้ว่าคนเมียนมาเปิดกว้างให้โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิต เข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีการสื่อสารในระดับที่สามารถนำเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ การซื้อของออนไลน์เป็นที่นิยมมาก และเมียนมากำลังเป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุนชาวต่างชาติ อัตราการจ้างงานกำลังเติบโต รายได้ของประชากรกำลังจะเพิ่มขึ้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนทำการค้าในเมียนมา ซึ่งกำลังจะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้ออย่างมหาศาล


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนไปยังประเทศเมียนมา ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารไทยแห่งเดียวที่ได้รับอนุมัติการจัดตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ตามประกาศของธนาคารกลางเมียนมา หรือ Central Bank of Myanmar อย่างเป็นทางการ ให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบของบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา ภายใต้ Subsidiary License นี้ ธนาคารสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อยแบบครบวงจร รวมถึงสามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา ซึ่งคาดว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมาจะสามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้านิติบุคคลประมาณปลายปี 2563 และลูกค้าบุคคลตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนไปยังประเทศเมียนมา สามารถขอข้อมูลด้านนการค้า การลงทุน รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ย่างกุ้ง


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก:
ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ณ กรุงย่างกุ้ง

อ้างอิงข้อมูล

1. SCB Economic Intelligence Center. “อีคอมเมิร์ซ: โอกาสใหม่ของธุรกิจไทยใน CLMV” (7/5/2020)

2.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ประเทศพม่า.” https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2 (7/5/2020)

3.  DITP. “ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ (15-20 กย 62) รัฐบาลเมียนมาสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตัล.” https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/563676/563676.pdf&title=563676&cate=565&d=0 (7/5/2020)

4. Data Reportal. “Digital 2020:Myanmar.” https://datareportal.com/reports/digital-2020-myanmar (7/5/2020)

5. Myanmar Times. “Five tech trends in Myanmar 2020.” https://www.mmtimes.com/news/five-tech-trends-myanmar-2020.html (7/5/2020)

6. Thaibiz Myanmar.com. “China’s Alibaba Group owned Shop.com.mm, an online shopping platform in Myanmar grew rapidly in Myanmar.” http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=2708 (7/5/2020)

7.  Spree.com.mm. https://spree.com.mm/index.php (7/5/2020)

8. Shop.com.mm https://www.shop.com.mm/ (7/5/2020)

9. Balolo.com. https://barlolo.com/about-barlolo (8/5/2020)

10. The Nation Thailand. “E-Commerce operator Balolo aims for full Myanmar reach.” https://www.nationthailand.com/Corporate/30351585 (8/5/2020)

11. Hsu Myat Lin Naing. “The Yangon online shopping guide.” https://www.myanmore.com/2020/04/the-yangon-online-shopping-guide/ (7/5/2020)

12. Metro. https://metro-wholesale.com/page/about-us (7/5/2020)

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง