การตลาดของคนเหงาเหงา

“โลกของเราเป็นสีเทา  เลยมีความเหงาอยู่เป็นเพื่อน”  “แม้อยู่ท่ามกลางผู้คน  แต่ฉันรู้สึกว่าไม่มีใคร”  คำคมโดนใจในโลกออนไลน์สะท้อนอารมณ์เบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของคนยุคดิจิตอลที่มีเทคโนโลยีเป็นเพื่อน ทำให้เกิดคำถามว่าในยุคที่การสื่อสารเชื่อมต่อถึงกันเพียงแค่หยิบมือถือ  แต่ทำไมคนจึงมีความรู้สึกเหงา?  ความเหงาเกิดจากอะไร?  เมื่อพูดถึงความเหงานับเป็นภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน  เช่น  ไม่มีคนรับฟังปัญหา  คนรอบตัวไม่มีเวลาให้  รู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคม  ในทางจิตวิทยายังกล่าวว่า ความเหงา  แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในสังคมที่เราต้องการนั้นต่างจากความเป็นจริง  เช่น  อยากให้ทุกคนเป็นมิตรกัน แต่ความเป็นจริงกลับเป็นศัตรูคอยหาเรื่องใส่กัน  ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาเพราะความสัมพันธ์นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้นั่นเอง  จากเทรนด์ความเหงาจึงทำให้นักการตลาดทั่วโลกหันมาสนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมเพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของคนกลุ่มนี้และนับเป็นการเปิดน่านน้ำสีครามเพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาดของผู้บริโภคกลุ่มคนเหงา

ใครต่อใครก็เหงา

ไม่ผิดหรอกหากคุณจะเหงาเพราะทั่วโลกเขาก็เหงากัน  ในต่างประเทศเทรนด์ประชากรคนเหงามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ที่อังกฤษมีการสำรวจพบว่า มีจำนวนคนเหงาถึง 9 ล้านคน จนต้องมีการตั้งกระทรวงความเหงา (Ministry of Loneliness) เพื่อดูแลสุขภาพจิตของประชากรกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้คำปรึกษาและจัดให้มีกิจกรรมช่วยเหลือคนเหงาให้ฟื้นฟูสภาพจิตใจ   ส่วนอเมริกาได้มีงานวิจัยพบว่า 3 ใน 4 ของประชากรคิดเป็นร้อยละ 75   คนในเจน Z  อายุ  18-22 ปีเป็นกลุ่มที่มีความเหงามากที่สุด 


สำหรับประเทศไทยได้มีการทำวิจัยการตลาดคนเหงา  โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล  จากกลุ่มตัวอย่าง 1,126 คน  พบว่ามีคนเหงาในไทยมีถึง 26.75 ล้านคน  คิดเป็น 40.4% ของประชากรไทย โดยแบ่งเป็นกลุ่ม  แอบเหงา 23.6% , เหงาจนชิน 14.5% และเหงาจับใจ 2.3%  จากงานวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีความเหงาสูงสุด  ได้แก่   วัยทำงาน  มีความเหงา  49.3%  (อายุระหว่าง 23 – 40 ปี) รองลงมาคือ  วัยเรียน  มีความเหงา 41.8% (อายุระหว่าง 18 – 22 ปี)  และตามมาด้วยวัยผู้ใหญ่ มีความเหงา 33.6%  (อายุระหว่าง 41 – 60 ปี)  ในขณะที่วัยสูงอายุ  มีความเหงาต่ำที่สุดคือ  24.5% (อายุมากกว่า 60 ปี)  เพราะมีการจัดการด้านอารมณ์และมีความพร้อมทางจิตใจ


เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างความเหงากับปัจจัยรายได้  พบว่า   “รายได้มาก  เหงาน้อย”   “รายได้น้อย  เหงามาก”   โดยกลุ่มคนเหงา  46.3%  ที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท บอกว่าที่เหงาเพราะไม่มีเงินออกไปเที่ยวนอกบ้านหรือไปช้อปปิ้งเพราะมีภาระอื่นที่ต้องจ่ายทั้งค่าที่พักอาศัย  ค่าผ่อนรถ  เป็นต้น

วิธีแก้เหงาของคนเหงา

จากการสำรวจพบว่ามี  3 วิธีที่ใช้เพื่อคลายเหงาให้กับตัวเอง

  • อันดับ 1.เล่นโซเซียลมีเดีย แน่นอนว่ากิจกรรมคลายเหงาของคนในยุคนี้คือ  การเล่นโซเซียลมีเดีย  เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกับสังคมในโลกออนไลน์  โดยโซเชียลมีเดียที่ใช้บ่อย คือ Facebook 36.7%  Line 33%  Instagram  16.7%  และ Twitter  11.9%   โดย 44.8%  ยอมรับว่าติดมือถือมาก   นอกจากนี้เหตุผลหลักที่ใช้โซเซียลมีเดีย คือ  เพื่อดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อนและคนรอบตัว 51.3%   พูดคุย   30% และโพสต์เรื่องที่อยากแชร์  14.4% 

  • อันดับ 2. ทานอาหารนอกบ้าน เพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย  แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดการออกไปทานข้าวนอกบ้านลดน้อยลง  จึงสั่งเดลิเวอร์รี่แทน

  • อันดับ 3.ช้อปปิ้ง   ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์และช่วยลดความเครียด

โอกาสธุรกิจตลาดคนเหงา

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้กล่าวถึงตลาดคนเหงาในประเทศไทยว่ามีจำนวนถึง 26.75 ล้านคน  ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่รองรับตลาดคนเหงาเติบโตเพิ่มขึ้น  โดยในต่างประเทศมีการทำธุรกิจเพื่อเจาะตลาดคนเหงา   เช่น  สหรัฐอเมริกา มีแอป  Papa บริการเรียกคนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เช่น ช่วยทำงานบ้าน พาไปซื้อของหรือไปหาหมอ  และยังมีแอป People Walk  หาเพื่อนออกกำลังกาย  ในประเทศญี่ปุ่นมีบริการเช่าคุณลุง (OSSAN Rental)  เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหรือแก้ปัญหาให้คนเหงาหรือคนที่มีความเครียด 


ในประเทศประเทศไทย ธุรกิจคอมมูนิตี้ที่เอาใจคนเหงาและได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา เช่น  ร้านอาหาร  ร้านคาเฟ่  ร้านบอร์ดเกม  ธุรกิจ Co-Working Space   ธุรกิจดิจิทัล  เช่น  แอปหาเพื่อนหรือหาคู่  แอปปาร์ตี้หารหาคนหารในเรื่องต่างๆ   ธุรกิจการให้บริการสัตว์เลี้ยง  เช่น  โรงพยาบาล  คลินิก  สถานรับฝากสัตว์เลี้ยง  ธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม

กลยุทธ์จับใจคนเหงา        

จากที่กล่าวมาแล้วว่าคนเหงาในประเทศไทยมีจำนวนถึง 26.75 ล้านคน ทำอย่างไรที่จะทำธุรกิจเพื่อรับรองความต้องของประชากรกลุ่มนี้  วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)  ได้แนะนำให้ใช้  4  กลยุทธ์ดังนี้

  • C: Circumstance สร้างบรรยากาศ กลุ่มคนเหงามักไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองอยู่โดดเดี่ยว ต้องการคนเข้าใจ การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ จำเป็นจะต้องมีพื้นที่สำหรับคนเหงา เช่น ร้านอาหารจัดที่นั่งให้ทานคนเดียว, ร้านหมูกระทะมีชุดอาหารสำหรับทานคนเดียว เป็นต้น 

  • M: companion สื่อสารเหมือนเพื่อน ประชากรคนเหงามักติดโซเชียลมีเดีย การทำการตลาดจึงควรเลือกสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้รูปแบบการสื่อสารแบบเพื่อนที่ให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา

  • M: forget Me not อย่าลืมคนเหงา เพราะประชากรคนเหงาคือลูกค้าอีกกลุ่ม ต้องไม่ลืมส่งเสริมการตลาดเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ เช่น โปรคนโสดของโปรไฟไหม้, โปรโมชั่นวันคนโสดของอีคอมเมิร์ส 11 เดือน 11 เป็นต้น นอกจากจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้แล้ว ยังทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง

  • U: community ส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มหรือการมีส่วนร่วม ทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โคยสร้าง ผลิตภัณฑ์ บริการ หรืออีเว้นท์ ที่เน้นให้มีปฏิสัมพันธ์ และรวมตัวกันเป็นชุมชน  
     

ประชากรคนเหงาเป็นกลุ่มคนในสังคมอีกกลุ่มที่นักธุรกิจหรือนักการตลาดควรให้ความสนใจ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการหรือทำโปรโมชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ เพราะจะเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ในน่านน้ำสีครามที่ช่วยเพิ่มยอดขายสร้างรายได้ให้กับสินค้าและบริการได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต



ข้อมูลจาก :

https://positioningmag.com/1228902

https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/lonely-in-the-deep-market/