Greenwashing ความท้าทายบนการลงทุน ESG

เวลานี้ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการปรับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยแต่ละบริษัทมีพัฒนาการปรับใช้แตกต่างกัน จากข้อมูลผลสำรวจของ Nasdaq[i]  ที่สำรวจผู้บริหารบริษัทในอเมริกาเหนือและยุโรป พบว่า 15% ระบุว่า บริษัทเพิ่งปรับใช้ประเด็น ESG ในปี 2023 เป็นปีแรก อีก 30% ปรับใช้มาแล้ว 1-2 ปี ขณะที่มีมากถึง 46% ที่ปรับใช้มาแล้ว 3-5 ปี และอีก 9% ที่ใช้มาเกินกว่า 5 ปีแล้ว
 

อย่างไรก็ตาม 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า ธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายบนประเด็นการจัดทำรายงานด้าน ESG เปิดเผยต่อสาธารณชน ปัญหาหลัก คือ การจัดเก็บและเรียบเรียงข้อมูล รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับและภาคอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน และสิ่งที่น่าสนใจคือ มีถึง 39% ระบุว่า บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับหรือการให้คะแนน ESG (ESG Rating)  ของให้หน่วยงานภายนอก
 

การเติบโตที่รวดเร็วของกระแสความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงมาตรฐานการประเมินและจัดอันดับ ESG ที่หลากหลายนำไปสู่ปัญหา Greenwashing หรือ การฟอกเขียว ซึ่งหมายถึง การสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดด้านการปฏิบัติตามประเด็น ESG  อันเนื่องมาจากการให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน การปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้อง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติที่ดี หรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ โดยประเด็นนี้มีความท้าทายต่อการลงทุนมาก หากบริษัทใดถูกกล่าวหาว่าเข้าข่าย Greenwashing แล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจลงทุน รวมถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานในอนาคตได้
 

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นพัฒนาการของหน่วยงานกำกับที่เข้ามามีบทบาทจัดการกับ Greenwashing จากความพยายามในการออกกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ เช่น การสร้าง Taxonomy หรือ มาตรฐานกลางที่มีเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใส เพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อเป้าหมายด้าน ESG อย่างไร โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานออกมาชัดเจนที่สุด
 

ตัวอย่างภูมิภาคที่พยายามวางแนวทางปราบปราม Greenwashing ชัดเจน คือ สหภาพยุโรป (EU) ที่สร้าง EU Taxonomy ออกมาในระดับกฎหมาย โดยระบุชัดเจนว่า กิจกรรมเศรษฐกิจแบบไหนเรียกว่ากิจกรรมสีเขียว เข้าข่ายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังทยอยออกกฎหมายลูกและข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย
 

ขณะที่ ล่าสุดยุโรปอยู่ระหว่างออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจาก Greenwashing โดยร่างกฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ใจความสำคัญคือ กำหนดให้บริษัทที่ต้องการยืนยันว่าตัวเองใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green claim) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในการสื่อสารเพื่อกล่าวอ้างสิทธิติดฉลากสีเขียว ที่สำคัญ การปฏิบัติตามแนวทางนี้ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยหน่วยงานภายนอก (third party) ซึ่งคาดว่า กฎหมายฉบับนี้จะผ่านครบทุกขั้นตอนและนำมาใช้ได้ในเดือน มี.ค. 2024
 

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เป็นอีกภูมิภาคที่ออก Taxonomy ระดับภูมิภาคมาเพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้ประเทศในภูมิภาคนำไปปรับใช้ โดยลักษณะ Taxonomy จะแตกต่างไปจากยุโรป คือ ไม่ได้เป็นระดับกฎหมาย และมีการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมา 3 สี คือ สีเขียว เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม สีเหลือง เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมหนึ่ง แต่อาจยังก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ โดยที่มีความพยายามในการแก้ไขอยู่ และสีแดง เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีความพยายามที่จะแก้ไข

[i] Source : https://www.nasdaq.com/campaign/esg-climate-survey/

 

2070242786

เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทยว่า เราตื่นตัวในการวางกรอบกำกับด้าน ESG เพียงใด ก็เป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ Google Cloud Sustainability Survey 2023 ที่ระบุว่า ไทยติด 1 ใน 3 ของตลาดที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับความพยายามบนประเด็น ESG เป็นอันดับ 1 (อีก 2 ตลาด ได้แก่ สิงคโปร์ และเยอรมนี)[ii] แม้จะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ขณะที่ประเทศต่างๆ ลดความสำคัญของความพยายามด้าน ESG มาอยู่ในอันดับ 3 จากที่เคยเป็นอันดับ 1 ในปี 2022


ส่วนเรื่องการป้องกัน Greenwashing ประเทศไทย ก็มีการจัดทำ Thailand Taxonomy เพื่อป้องกันปัญหานี้ โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันร่าง Taxonomy ฉบับแรกเผยแพร่ออกมา เมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งร่างฉบับนี้ นำแนวทางของ EU Taxonomy, ASEAN Taxonomy รวมถึง Taxonomy ที่จัดทำโดย Climate Bond Initiative (CBI) องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร มาประยุกต์ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 และตั้งเป้าหมายเริ่มต้นกับ ภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน เพราะเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอน


ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน SCB Wealth ซึ่งมีพันธกิจดูแลความมั่งคั่งของลูกค้า ก็มีการให้ความสำคัญเรื่องการนำเกณฑ์กำกับ ESG มาเป็นกรอบคัดเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุน รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนด้วย โดยเรามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มความเข้มข้นในการใช้เกณฑ์นี้


แนวทางในการใช้เกณฑ์ ESG ได้แก่ การตรวจสอบความเข้มข้นในการใช้ ESG ของผู้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตรแบบเบื้องต้น ผ่านการตอบแบบสอบถาม ตรวจสอบข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม รวมทั้งการสัมภาษณ์ข้อมูลการใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน (Investment Process) เพื่อประเมินคะแนน ESG โดยรวมของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก่อนตัดสินใจว่า จะคัดเลือกมานำเสนอผู้ลงทุนหรือไม่


ขณะที่ การตัดสินใจลงทุน เราจะดำเนินการโดยคณะทำงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้การลงทุนมีความโปร่งใส ผ่านการพิจารณาคัดกรองโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน โดยเราจะประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ควบคู่กับการพิจารณาคะแนนด้าน ESG หรือ ESG Rating ที่หน่วยงานจัดอันดับได้ให้ไว้กับสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนนั้น รวมถึงตรวจสอบว่า สินทรัพย์ที่จะลงทุนเคยมีประเด็นความเสี่ยง Greenwashing หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนนั้น จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี และมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจด้วย


โดยรวมแล้ว หากต้องการลงทุนเพื่อเป้าหมายผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว เรื่อง Greenwashing เป็นประเด็นท้าทายที่นักลงทุนไม่ควรละเลย เพราะหากเกิดขึ้นกับสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดตามมาด้านผลตอบแทนได้เลย ดังนั้น การรู้เท่าทัน ป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่ารอให้เกิดผลกระทบแล้วมาแก้สถานการณ์ให้พอร์ตลงทุนแน่นอน

 

[ii] Source : https://cioworldasia.com/2023/04/26/singapore-and-thailand-lead-asian-markets-in-making-esg-a-top-business-priority/ และ https://cloud.google.com/blog/transform/2023-google-cloud-sustainability-survey


บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

จัดทำ ณ วันที่ 13 พ.ย. 2566