โปะหนี้หรือลงทุนดี

มีหลายคนเกิดอาการลังเลว่าจะนำเงินไปโปะหนี้หรือว่านำไปลงทุนก่อน บางคนเกิดรักพี่เสียดายน้อง เลยแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกนำไปโปะหนี้ ก้อนถัดมานำไปลงทุน และไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนก็ไม่ผิดกติกา


เริ่มแรก สำรวจเงินก้อนที่จะนำโปะหนี้หรือลงทุน สมมติว่ามีจำนวน 100,000 บาท จากนั้นให้แยกประเภทหนี้สินทั้งหมดที่มีพร้อมดอกเบี้ยจ่าย เช่น หนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่ายสูงๆ หนี้แบบลดต้นลดดอก หนี้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ เป็นต้น

 

ประเภทหนี้

อัตราดอกเบี้ย

จำนวนหนี้ที่เหลือ

นอกระบบ

20% ต่อสัปดาห์

10,000 บาท

บัตรกดเงินสด

28% ต่อปี

5,000 บาท

บัตรเครดิต

18% ต่อปี

30,000 บาท

ผ่อนบ้าน

7% ต่อปี

2,000,000 บาท

ผ่อนรถยนต์

3% ต่อปี

300,000 บาท


หมายเหตุ อัตราดอกเบี้ยที่แสดงเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อประกอบบทความเท่านั้น


ขั้นต่อมา ให้สำรวจผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนว่ามีอะไรบ้าง พร้อมประมาณการว่าถ้านำเงินไปลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี
 

ช่องทางลงทุน

ผลตอบแทน

เงินฝากประจำ

2% ต่อปี

กองทุนรวมตราสารหนี้

2.5% ต่อปี

กองทุนรวมผสม

5% ต่อปี

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

8% ต่อปี

กองทุนรวมหุ้น

9% ต่อปี

หุ้น

10% ต่อปี


หมายเหตุ ผลตอบแทนที่แสดงเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อประกอบบทความเท่านั้น

เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ให้ย้อนกลับไปดูว่าควรโปะหนี้ประเภทไหนก่อน แน่นอนหนี้ที่ต้องรีบกำจัดมากที่สุด คือ หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆ หมายความว่า ถ้ามีเงินก้อนต้องโปะให้หมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต และจากตัวอย่างก็สามารถกำจัดหนี้ดอกเบี้ยสูงๆ โดยใช้เงินจำนวน 45,000 บาท


สำหรับหนี้รถยนต์ซึ่งเป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ โดยจะคำนวณดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องชำระจากเงินต้นทั้งก้อนคงที่ตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจะผ่อนจ่ายเงินต้นเป็นงวดไปเรื่อยๆ แล้วก็ตาม ดังนั้น ถ้าคิดนำเงินมาโปะก็ไม่ทำให้ดอกเบี้ยลดลง มีดีแค่เงินต้นลดลงไป


มาถึงหนี้บ้านซึ่งเป็นหนี้ประเภทลดต้นลดดอก ก่อนทำการโปะก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนก่อนว่าทำแบบไหนแล้วได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากตัวอย่าง เมื่อหักเงินที่นำไปโปะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ จะเหลือ 55,000 บาท ก็นำเงินจำนวนดังกล่าวจำลองว่าผ่านไป 1 ปีจะได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง

 

ช่องทางลงทุน

เงินลงทุน

ผลตอบแทน

ลงทุน 1 ปีได้ผลตอบแทน

เงินฝากประจำ

55,000 บาท

2% ต่อปี

56,100 บาท

กองทุนรวมตราสารหนี้

55,000 บาท

2.5% ต่อปี

56,375 บาท

กองทุนรวมผสม

55,000 บาท

5% ต่อปี

57,750 บาท

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

55,000 บาท

8% ต่อปี

59,400 บาท

กองทุนรวมหุ้น

55,000 บาท

9% ต่อปี

59,950 บาท

หุ้น

55,000 บาท

10% ต่อปี

60,500 บาท


หมายเหตุ ผลตอบแทนที่แสดงเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อประกอบบทความเท่านั้น


จากตัวอย่าง ถึงแม้ว่าสินเชื่อบ้านจะเป็นแบบลดต้นลดดอก แต่จากตัวอย่างข้างต้นด้วยเงินที่เหลือ 55,000 บาท ถึงแม้จะนำไปโปะหนี้บ้าน เงินต้นก็ลดลงเพียงเล็กน้อยและไม่มีผลต่อการลดลงของดอกเบี้ยแต่อย่างใด   ขณะเดียวกันหากนำเงินไปลงทุนอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะถ้าได้ผลตอบแทนที่ดี


ยิ่งไปกว่านั้น หากเพิ่มเงินลงทุนทุกปีไปเรื่อยๆ เช่น เริ่มต้นลงทุน 55,000 บาท ปีถัดไปใส่เข้ามาอีก 60,000 บาท ปีถัดไปเพิ่มเป็น 65,000 บาท หมายความว่า เพิ่มปีละ 5,000 บาท จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับ (สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากันทุกปี) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


กรณีตัวอย่าง พบว่าการโปะหนี้บ้านจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อโปะด้วยจำนวนเงินเยอะๆ เช่น มีเงินคงเหลือจากการผ่อนบ้าน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ย 7% สมมติว่าเหลือผ่อนอีก 25 ปี แสดงว่าปัจจุบันผ่อนเดือนละ 14,135 บาท เงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด (25 ปี) เท่ากับ 4,240,674 บาท ในจำนวนนี้คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 2,240,674 บาท


สมมติว่ามีเงิน 500,000 บาท และต้องการโปะหนี้บ้าน จะทำให้มีเงินคงเหลือ 1,500,000 บาท ด้วยเงื่อนไขเหมือนเดิม คือ ดอกเบี้ย 7% เหลือผ่อนอีก 25 ปี แสดงว่าจะผ่อนเดือนละ 10,601 บาท เงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด (25 ปี) เท่ากับ 3,180,522 บาท ในจำนวนนี้คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 1,680,514 บาทจะประหยัดดอกเบี้ยได้ 560,160 บาท (2,240,674 - 1,680,514)


อย่างไรก็ตาม หากนำเงิน 500,000 บาทไปลงทุนก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี ใกล้เคียงหรือสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยบ้าน (จากตัวอย่าง ต้องได้ผลตอบแทน 7% ขึ้นไป) แต่จากธรรมชาติการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง จึงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอหรือไม่   ดังนั้น ไม่ว่าจะโปะหนี้หรือนำเงินไปลงทุน ต้องพิจารณาและศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจดำเนินการ