3 เทคนิคการบริหารเงินหลังเกษียณอย่างไร ให้มีพอใช้ตลอดชีวิต

คำถามสำคัญสำหรับผู้ใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วที่มักจะถามอยู่เสมอ คือ จะบริหารเงินหลังเกษียณอย่างไร ให้มีพอกิน พอใช้ไปตลอดชีวิต เพราะในการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุจะมีปัจจัยสำคัญที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือ อายุขัยของเรานั่นเอง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีกกี่ปีกันแน่ หากไม่มีการบริหารเงินที่ดี ก็อาจทำให้เราพบเหตุการณ์ที่ ‘เงินหมดก่อนตาย’ ก็เป็นได้


เรื่องสำคัญในการบริหารเงินหลังเกษียณ คือ จำนวนเงินออมที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ และการบริหารเงินออมที่มีอยู่หลังเกษียณ แม้ว่าเราอาจจะคิดว่าเงินเกษียณเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณแล้วก็ตาม ทว่าหากบริหารเงินออมดังกล่าวไม่ดีพอ ก็มีสิทธิที่จะมีเงินไม่พอใช้ไปจนตลอดรอดฝั่ง นอกจากนี้การบริหารเงินออมยังเป็นการทำให้เงินออมที่มีอยู่ งอกเงยเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยบทความนี้จะนำเสนอเทคนิคการบริหารเงินหลังเกษียณ ดังนี้

  1. บริหารรายจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเกษียณอายุ เราอาจจะเริ่มมีรายรับที่ไม่แน่นอน แม้ว่าเราอาจจะมีรายได้ประจำจากเงินบำนาญ หรือสวัสดิการจากรัฐ แต่รายได้ส่วนหนึ่งจะมาจากการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นจะจับจ่ายใช้สอยอย่างคล่องมือโดยไม่วางแผนไม่ได้แล้ว วิธีที่จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ คือ การจดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้เราทราบว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ มาจากทางไหนบ้าง และเรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร ทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้

  2. ลดภาระหนี้สิน เป็นสิ่งที่ควรทำให้เรียบร้อยก่อนเกษียณ เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้ว ต้องไม่มีหนี้สินหลงเหลืออีกแล้ว ดังนั้นก่อนเกษียณสัก 5 ปีต้องเริ่มสำรวจหนี้สิน (สำหรับคนที่ยังมีหนี้) และวางแผน ‘ภารกิจพิชิตหนี้’ โดยตั้งเป้าหมายปลดหนี้ให้หมดก่อนเกษียณอายุให้ได้

3. การบริหารพอร์ตการลงทุน โดยจุดประสงค์ของการจัดสรรเงินก้อนสุดท้ายนี้ มีอยู่ 2 ประการคือ เพื่อให้มีเงินเกษียณเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเฟ้อ ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม ควรมีลักษณะดังนี้

  • มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท
  • เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่ของพอร์ตการลงทุน
  • อัตราผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนอย่างน้อยควรมากกว่าเงินเฟ้อ
  • สามารถสร้างรายได้ประจำ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผลอย่างสม่ำเสมอได้
  • ควรมีสภาพคล่องสูงในการเปลี่ยนเป็นเงินสด เพราะอาจต้องขายหลักทรัพย์เพื่อมาใช้จ่าย

3.1 คำแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับวัยเกษียณ ควรมีการกระจายการลงทุนดังนี้

  • สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน ประมาณ 40 – 70% ของเงินลงทุนทั้งหมด
  • สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 20 – 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด
  • สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น และกองทุนรวมหุ้น ประมาณ 5 – 15% ของเงินลงทุนทั้งหมด

       3.2  พอร์ตการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รูปแบบการลงทุนที่ช่วยสร้างรายได้ตลอดชีวิต (The Income for Life Model) ซึ่งเป็นแนวคิดของฟิลลิป ลูบินสกี นักวางแผนการเงินในเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา (ที่มา คู่มือเงินทองต้องวางแผน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) โดยให้แบ่งเงินลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมดออกเป็น 6 ส่วนและนำไปลงทุน ดังนี้

  • เงินส่วนที่ 1 สำหรับลงทุนในปีที่ 1 – 5 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 26% ของเงินลงทุนที่มีอยู่เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่รับประกันผลตอบแทน เช่น การลงทุนในตราสารหนี้อาจจะใช้วิธีการลงทุนแบบขั้นบันได คือ แบ่งเงินจำนวนเท่าๆ กันไปลงทุนในตราสารหนี้ 5 ช่วงอายุ เริ่มจากตราสารหนี้อายุ 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี และ 5 ปี เมื่อถึงปีที่ 2 ตราสารหนี้อายุ 1 ปีก็จะครบกำหนดไถ่ถอนพอดี ดังนั้นนอกจากจะนำเงินลงทุนที่ทยอยครบกำหนดมาใช้จ่ายในแต่ละปีแล้ว ยังได้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
  • เงินส่วนที่ 2 ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 6 – 10 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 28% ของเงินลงทุนที่มีอยู่เพื่อลงทุนในตราสารหนี้เป็นรูปแบบขั้นบันไดเช่นเดียวกันเพื่อสร้างรายได้ในปีที่ 6 – 10 เช่น ลงทุนในตราสารหนี้อายุ 6 ปี 7 ปี 8 ปี 9 ปี และ 10 ปี ถ้าหากไม่สะดวกลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว อาจเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนในตราสารหนี้อายุ 5 ปีก่อน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนให้นำไปลงทุนต่อในตราสารหนี้อายุ 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี และ 5 ปี
  • เงินส่วนที่ 3 ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 11 – 15 หลังเกษียณ เท่ากับว่าเราจะมีระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ทำให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นได้ ให้แบ่งเงินออกมา 20% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกนิด เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้กับเงินลงทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนรวมหุ้นปันผล และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
  • เงินส่วนที่ 4 ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 16 – 20 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 13% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ เป็นเงินลงทุนที่คาดหวังให้เงินลงทุนเติบโต เช่น กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่
  • เงินส่วนที่ 5 ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 21 – 25 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 7% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้นอีก เช่น ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินปันผลระหว่างทาง
  • เงินส่วนที่ 6 ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 25 เป็นต้นไป จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ซึ่งจะลงทุนเพียง 6% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ที่แม้จะความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
  • วิธีการจัดพอร์ตการลงทุนตามรูปแบบนี้จะช่วยให้คนวัยเกษียณลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงๆ ได้ โดยไม่ต้องเป็นกังวลจนมากเกินไป เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานจะทำให้ความเสี่ยงลดลง


อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าการจัดพอร์ตการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ออกแบบมาเพื่อวัยเกษียณอายุ หรือกองทุนรวมที่สามารถสร้างรายได้ประจำแทนก็ได้ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉิน อย่างน้อย 6 – 12 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำ และเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน  เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เบิกถอนออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที สุดท้ายต้องหมั่นตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์การลงทุนที่ได้วางไว้ จะทำให้เรามีเงินเกษียณพอใช้ไปตลอดชีวิต


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร