ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
หนังสือนิทานกับการพัฒนาลูกน้อย
หากพูดถึง “ประโยชน์ของการอ่านนิทานให้ลูกฟัง” คงจะคุ้นหูพ่อแม่ยุคนี้อยู่ไม่น้อย แต่จะมีสักกี่ครอบครัวที่ลงทุนกับการหาหนังสือนิทานมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาลูกน้อย บางครอบครัวเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์ บางครอบครัวเริ่มอ่านให้ฟังเมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว บางครอบครัวเริ่มต้นเมื่อคิดว่าลูกพอรู้เรื่อง และมีอีกหลายครอบครัวเลือกลงทุนกับสื่ออื่นๆ มากกว่าการใช้หนังสือ วันนี้เราจะมาทบทวนกันอีกทีว่าหนังสือนิทานคุ้มคุณค่าการลงทุนอย่างไร
เมื่อไรควรเริ่มหาหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟัง? หลายๆ งานวิจัยกล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ เพราะสามารถช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและวงจรสมองของลูกตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะระบบที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน และว่ากันว่าเมื่อเด็กเหล่านี้คลอดออกมาแล้วจะมีพัฒนาการทางภาษาและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
แล้วขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถอ่านหนังสือประเภทอื่นที่ไม่ใช่หนังสือเด็กหรือหนังสือนิทานได้หรือไม่? คุณหมอหลายๆ ท่านตอบว่าได้ แต่ถ้าจะอ่านหนังสือผู้ใหญ่ก็ควรเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายและไม่เครียด เพราะอย่าลืมว่าเราต้องการสร้างภาวะอารมณ์ทางด้านบวกให้กับลูกน้อย ซึ่งสิ่งนี้สามารถส่งผ่านมาจากน้ำเสียงและภาวะอารมณ์ของคุณแม่ด้วย ดังนั้นการใช้นิทาน ชาดก หรือสารคดีสำหรับเด็ก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าคุณแม่ยุคนี้จะอ่านจากสื่ออิเลกทรอนิกแทนการใช้หนังสือ จะมีผลอะไรไหม? เราคงปฏิเสธไม่ได้เพราะการอ่านจากสื่อรูปแบบนี้เข้าถึงได้ง่ายจริงๆ แต่ถ้าตระหนักถึงการสร้างสภาวะการอ่านที่เหมาะต่อการพัฒนาเด็กในครรภ์ให้ดีที่สุด หนังสือน่าจะตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่ามือถือหรือแท็บเบล็ต เนื่องจากคุณแม่อาจต้องเพ่งเกินไปในการใช้สื่อเหล่านี้ อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านจากสิ่งที่ตั้งใจจะอ่านให้ลูกฟังไปเป็นการอ่านเรื่องอื่นนั้นทำได้ง่ายดาย สมาธิและภาวะนิ่งสงบที่จะเกิดจากการอ่านก็อาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
การอ่านจากหนังสือที่เป็นรูปเล่ม ช่วยให้คุณแม่เกิดความรู้สึกในแง่บวกอย่างหลากหลาย เริ่มตั้งแต่การสัมผัสหนังสือ รู้สึกถึงพื้นผิวของวัสดุปก การมองรูปภาพและเห็นชื่อเรื่อง สามารถก่อให้เกิดรอยยิ้ม ความสงสัย หรือสนใจอยากรู้เรื่องที่อยู่ข้างใน และเมื่อได้อ่านเนื้อเรื่อง ได้เห็นภาพต่อๆ ไป คุณแม่ก็เกิดความสนุกและผ่อนคลายไปด้วยเช่นกัน การอ่านอย่างต่อเนื่องและพลิกหนังสือไปหน้าต่อหน้า สามารถสร้างความสงบนิ่งให้ผู้เป็นแม่ และสร้างสภาวะของสมาธิสู่ผู้เป็นลูก นอกจากนี้ การใช้หนังสือนิทานอ่านให้ลูกในครรภ์ฟัง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากการอ่านจากรูปเล่มจะมีผลดีตามที่กล่าวไปแล้ว คุณแม่สามารถใช้หนังสือนิทานฝึกอ่านก่อนที่จะได้อ่านให้ลูกที่คลอดออกมาได้ฟังจริงๆ ถึงตอนนั้นก็จะอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เก้อเขิน คุณแม่สามารถฝึกใช้น้ำเสียงขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนไปตามตัวละครหรือเหตุการณ์ต่างๆ และอาจจะอ่านเรื่องเดิมซ้ำๆ หลายครั้งก็ได้ การที่ทารกในท้องได้ฟังอะไรซ้ำๆ ก็เป็นการพัฒนาความจำและภาษาอีกด้วย เชื่อเถิดว่าหลังจากที่คลอดลูกแล้ว หนังสือนิทานเหล่านี้จะถูกนำมาเล่าให้ลูกฟังอีกครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรในระยะยาวได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ
ส่วนการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังหลังจากคลอดออกมาแล้ว ก็เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก 5 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ อย่างแรกที่จะพูดถึงคือ พัฒนาการทางภาษา แม้เด็กเล็กจะยังอ่านไม่ได้ แต่เขาจะได้เห็นตัวอักษร เห็นคำ เห็นประโยคไปพร้อมๆ กับฟังเสียงที่แม่หรือพ่ออ่าน การจดจำตัวอักษรและการใช้คำก็เกิดขึ้น รวมไปถึงการทำความเข้าใจความหมายของประโยค ผ่านน้ำเสียงและรูปแบบประโยคแบบต่างๆ ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า ตัวละครพูดแบบนี้ กำลังดีใจ กำลังเสียใจ กำลังขอร้อง หรือกำลังปฏิเสธ พวกเขาจะสะสมคำศัพท์ ได้เรียนรู้การสื่อสารและการใช้ภาษาไปพร้อมๆ กัน
อย่างที่สอง การอ่านนิทานเสริมสร้าง
พัฒนาการทางความคิด
เพราะจากภาพที่เห็น จากเนื้อเรื่องที่อ่าน เด็กๆ ไม่ได้หยุดความคิดและจินตนาการของเขาอยู่แค่นั้น สิงโตในนิทานก่อให้เกิดสิงโตในความคิดของเขาขึ้นมาแล้ว และมันสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เค้าพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นสิงโตตัวใหม่ในหนังสือเล่มอื่น รูปปั้นสิงโตที่เห็นในสวนสนุก หรือแม่แต่สิงโตตัวจริงที่เห็นในสวนสัตว์ สิงโตจากการอ่านนิทานครั้งนั้นจะกลับมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่ที่เขากำลังเรียนรู้อยู่เสมอ
พัฒนาการทางสติปัญญา เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่เกิดจากการเชื่อมโยง ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กๆ อ่านนิทาน เขาจะเห็นรูปทรงต่างๆ จากรูปภาพในหนังสือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจต่อยอดไปสู่การทำความเข้าใจโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมให้กับเขาได้อีกด้วย
พัฒนาการทางจิตใจ
ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ โลกในนิทานมีทั้งด้านบวกและลบ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านชีวิตอื่นๆ ได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต เช่น การเกิด การตาย ความผิดหวัง อุปสรรค ปัญหา และวิธีการแก้ไข ได้เห็นผลจากการกระทำ ใครทำสิ่งใดย่อมได้รับผลจากสิ่งที่ตนทำไว้ นิทานให้คติสอนใจ ชี้ให้เห็นทางเดินของชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งเด็กๆ ที่อ่านมากก็จะเห็นตัวอย่างทั้งด้านดีและด้านร้าย ก่อให้เกิดการเรียนรู้และไตร่ตรองต่อการกระทำในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของชีวิตเขาได้เช่นกัน
และสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุดในการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังคือ
พัฒนาการด้านความสัมพันธ์
เมื่อแม่หรือพ่ออ่านนิทานให้ลูกฟัง นั่นคือการใช้เวลาดีดีร่วมกัน ปิดโทรทัศน์ วางโทรศัพท์มือถือ แล้วใส่ใจกับหนังสือตรงหน้าด้วยกัน อ่านๆ ไปลูกอาจจะมีคำถาม พ่อแม่ก็อาจจะถามลูกบ้าง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การที่เด็กได้เห็นหน้า ได้ยินเสียง ได้ใกล้ชิดและสัมผัสพ่อแม่ขณะฟังนิทาน ทำให้เด็กรับรู้ถึงความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่มีให้กับเขา ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากฐานของความมั่นคงทางจิตใจของเด็กที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
นอกจากพัฒนาการต่างๆ ที่เด็กจะได้จากการอ่านหนังสือนิทานแล้ว เขายังได้รับ
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ต่อไป ยิ่งพวกเขาต้องอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร ก็ต้องรักที่จะหาความรู้และรู้จักพิจารณาคุณค่าของสิ่งที่อ่านด้วย วันหนึ่ง ถ้าคุณเห็นลูกเล็กคลานไปคว้าหนังสือที่คุณเคยอ่านให้ฟังมาเปิดดูรูปเอง หรือลูกที่โตหน่อยร้องขอให้ซื้อหนังสือนิทานเล่มใหม่ให้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่พวกเขาสนใจหนังสือมากกว่าสิ่งอื่น ดังนั้นถ้าเทียบกับประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับ การหาหนังสือนิทานมาอ่านกับลูก ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่ยากและคุ้มค่ามากจริงๆ
บทความโดย
ธ. อัครรัตน์