ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
มีเงินน้อย ก็ลงทุนหุ้นกู้ได้
“บมจ. ABC เสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.20% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกและหุ้นกู้อยู่ที่ระดับ A กำลังเปิดให้จองซื้ออยู่ เมื่อเห็นข้อมูลนี้แล้ว อยากจะรีบจับจองเป็นเจ้าของหุ้นกู้นี้เสียจริง
แต่เมื่ออ่านเงื่อนไขในบรรทัดถัดมาก็ต้องถอยทันที “เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ จองขั้นต่ำ 1 ล้านบาท” คำถามตามมาว่า หากเป็นนักลงทุนรายย่อย พึ่งเริ่มต้นทำงาน มีเงินลงทุนต่อเดือนหลักพันบาท จะมีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นกู้ได้อย่างไร
หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน (ถ้าตราสารหนี้ออกโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เรียกว่า พันธบัตร) เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น ขยายธุรกิจ ก่อสร้างโรงงาน ซื้ออุปกรณ์ เป็นต้น โดยหุ้นกู้แบ่งออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่าๆ กัน ซึ่งในประเทศไทยมักกำหนดมูลค่าหุ้นกู้หน่วยละ 100 บาท และ 1,000 บาท
ถัดมาเรียกว่า ตลาดรอง โดยหลังจากซื้อหุ้นกู้ในตลาดแรกแล้วและต้องการขายก่อนครบกำหนดอายุ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ในตลาดแรกก็สามารถนำมาขายในตลาดรองได้ และหากนักลงทุนคนอื่นๆ สนใจซื้อก็ต้องติดต่อผ่านธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์ (Dealer) จากสำนักงาน ก.ล.ต.
ปัจจุบันหุ้นกู้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนในอัตราสูงกว่าเงินฝากธนาคาร และเมื่อซื้อแล้วก็สามารถขาย (เปลี่ยนมือ) ได้ทุกวันทำการ รวมทั้งเลือกได้ตามความต้องการเพราะมีหุ้นกู้หลายรุ่น เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี, อายุ 5 ปี, อายุ 10 ปี เป็นต้น ที่สำคัญหุ้นกู้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ หุ้นและกองทุนรวมหุ้น ดังนั้น จึงเป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ต้องการผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอและรับความเสี่ยงได้ในระดับตทีไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่เสนอขายในตลาดส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำในระดับค่อนข้างสูง เช่น 5 หมื่นบาท, 1 แสนบาท, 1 ล้านบาท หรือมากกว่านั้นในกรณีการขายให้นักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบัน
จึงมีคำถามว่า ผู้ที่มีเงินลงทุนแต่ละเดือนไม่มาก เช่น 1,000 บาท แต่ต้องการซื้อหุ้นกู้ จะทำอย่างไร คำตอบคือ สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
ข้อดีของการลงทุนหุ้นกู้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ ซื้อขายได้ทุกวันทำการหรือจะถือไว้เพื่อลงทุนระยะยาวก็ได้ ใช้เงินลงทุนไม่มากจึงสะดวกต่อการบริหารเงิน ขณะเดียวกันแต่ละกองทุนจะลงทุนหุ้นกู้หลายรุ่น ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงที่ดี
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมตราสารหนี้จะไม่มีนโยบายลงทุนหุ้นกู้ทุกกองทุน (บางกองทุนลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล) ดังนั้น ต้องพิจารณาก่อนว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ใดที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ โดยเข้าไปดูข้อมูลในหนังสือชี้ชวนแต่ละกองทุน ซึ่งหลักๆ แล้วกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นกู้ ได้แก่
1.กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง – ระยะยาว มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ บางกองจะลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย เช่น เงินฝาก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องดูว่ากองทุนนั้นมีสัดส่วนลงทุนเป็นอย่างไร เช่น หุ้นกู้ 60% พันธบัตรรัฐบาล 30% และเงินฝาก 10% หรือบางกองอาจลงทุนหุ้นกู้เกือบ 100% ซึ่งการดูสัดส่วนดังกล่าวเพื่อให้ทราบว่าตัวเองต้องการลงทุนหุ้นกู้มากน้อยแค่ไหน
2.กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ นอกจากจะดูสัดส่วนการลงทุนแล้ว ต้องดูว่าไปลงทุนตราสารหนี้ในประเทศใดบ้าง และรูปแบบการลงทุนเป็นลักษณะที่นำเงินไปลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในต่างประเทศเพียงกองเดียว (Feeder Fund) หรือไปลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในต่างประเทศหลายๆ กอง (Fund of Fund) ขณะเดียวกันเนื่องจากเป็นการไปลงทุนต่างประเทศ
ดังนั้นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องรับ ก็คือ ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งบางกองทุนจะทำการป้องกันความเสี่ยงให้ 100% ในขณะที่บางกองทุนไม่มี นอกจากนี้ต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ภายในประเทศที่กองทุนรวมไปลงทุน ดังนั้นต้องทำการศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ให้ละเอียด เช่น นโยบายลงทุน รายละเอียดของกองทุนรวมตราสารหนี้ในต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น
3.กองทุนรวมผสม มีนโยบายลงทุนผสมทั้งหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝาก ทองคำ ดังนั้นอาจไม่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการเน้นลงทุนหุ้นกู้ แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง
ถึงแม้ว่าการลงทุนหุ้นกู้ผ่านกองทุนรวมจะมีประโยชน์หลากหลาย เช่น ใช้เงินลงทุนน้อย กระจายความเสี่ยงได้ดี สะดวก รวมถึงมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเงินลงทุนและติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างใกล้ชิด แต่ก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพราะสิ่งสำคัญของการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ ความเสี่ยงและนโยบายการลงทุน เนื่องจากตราสารหนี้จะมีความสัมพันธ์กับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเลือกจังหวะการลงทุนถูกต้องแม่นยำ จะทำให้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้อย่างมั่นคง