ประวัติศาสตร์โลกฉบับของเราเอง

เรื่อง: วิภว์ บูรพาเดชะ


Hi-Light:

  • The Mental Floss History of The World สำนักพิมพ์ a book นำมาแปลเป็นภาษาไทย และตั้งชื่อตรงประเด็นว่า ‘ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง’ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกด้วยการเล่าด้วยวิธีแบบที่นักสื่อสารมวลชนใช้ คือมีการจัดประเด็น พาดหัวข่าว ตั้งชื่อหัวข้อ เติมล้อมกรอบแทรกเกร็ดความรู้ และที่ทั้งคู่เน้นมากๆ ก็คือสำนวนภาษาที่อ่านแล้วไม่เครียด มีมุกแทรกเป็นระยะๆ ขบขันนิดๆ ประชดประชันพองาม
  • A Little History of the World ที่ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย Silkworm Books ในชื่อ ‘ประวัติศาสตร์โลกเล่มเล็ก’ เป็นงานเขียนในวัยหนุ่มของ เอร์นสท์ เอส. โกมบริช นักประวัติศาสตร์เชื้อสายออสเตรียที่เขียนเป็นภาษาเยอรมัน โดยตั้งใจจะให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์สำหรับเยาวชน เป็นหนังสือขายดีระดับโลกที่แปลไปแล้วหลายภาษา


เคยคิดกันเล่นๆ ไหมครับว่า หากคุณต้องเขียนเล่าประวัติศาสตร์โลกให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานอ่าน คุณจะเขียนแบบไหน?


ยังไม่ทันจะตอบคำถามนี้ ...ผมเดาว่าแค่พูดถึง ‘ประวัติศาสตร์’ หลายคนก็คงทำหน้าหน่าย คล้ายเห็นภาพศาสตราจารย์สูงอายุ มาพร่ำบ่นเรื่องเก่าๆ เมื่อครั้งที่เรายังไม่เกิด ...เรื่องแบบที่ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม


ผู้แต่งหนังสือทั้ง 2 เล่มที่ผมหยิบมาแนะนำในคราวนี้ก็อาจจะเคยคิดแบบนี้ครับ แต่พวกเขาคงเห็นแง่งามและความสนุกที่ซ่อนอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์อยู่บ้าง จึงลงมือเขียนหนังสือประวัติศาสตร์โลกขึ้นมาในแบบของตัวเอง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มันไม่น่าเบื่อ


หนังสือเล่มแรกเป็นผลงานเขียนร่วมของ อีริค แสส และ สตีฟ ไวแกนด์ คู่นักข่าวชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญการเล่าเรื่องให้มีสีสัน หนังสือเล่มนี้มีชื่อดั้งเดิมว่า The Mental Floss History of The World สำนักพิมพ์ a book นำมาแปลเป็นภาษาไทย และตั้งชื่อตรงประเด็นว่า ‘ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง’

อีริคกับสตีฟทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกด้วยการเล่าด้วยวิธีแบบที่นักสื่อสารมวลชนใช้ คือมีการจัดประเด็น พาดหัวข่าว ตั้งชื่อหัวข้อ เติมล้อมกรอบแทรกเกร็ดความรู้ และที่ทั้งคู่เน้นมากๆ ก็คือสำนวนภาษาที่อ่านแล้วไม่เครียด มีมุกแทรกเป็นระยะๆ ขบขันนิดๆ ประชดประชันพองาม


พวกเขาแบ่งประวัติศาสตร์โลกออกเป็น 12 บท (พ่วงด้วยภาคผนวก) ไล่เรียงตั้งแต่การก่อเกิดของอารยธรรมโบราณต่างๆ มาจนถึงโลกยุคใหม่ที่ทุกอารยธรรมกำลังเชื่อมโยงเข้าหากัน การตั้งชื่อทุกบทตอนดูน่าสนใจ แม้กระทั่งในบทที่ว่าด้วยห้วงเวลาที่เราคุ้นเคยกันอยู่บ้าง อย่างบทที่กล่าวถึง ยุดมืด หรือ ยุคกลาง พวกเขาก็ตั้งชื่อบทว่า ‘ยุคที่ไม่เชิงว่าจะมืด (ยกเว้นคุณอยู่ในยุโรป)’ ซึ่งแค่นี้ก็บอกนัยได้ว่าในยุคที่นักประวัติศาสตร์ตะวันตกเรียกว่า ‘ยุคมืด’ นั้นน่ะ ในส่วนอื่นของโลกเขาก็สุขสบายดีนะ เป็นการย้ำด้วยว่าหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของประวัติศาสตร์โลกนะ เลยไม่ได้โฟกัสที่ทวีปใดทวีปหนึ่ง


ในแต่ละบทอีริคและสตีฟยังมีลูกเล่นในการเล่าเรื่องอีกเพียบ พวกเขาเริ่มบทด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ช่วงนั้นโดยสังเขป แล้วต่อด้วยข้อมูลสั้นๆ ว่าปีใดเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง ตามด้วยกิมมิก ‘หมุนลูกโลก’ ที่จะพาเราตัดสลับไปดูว่าในแต่ทวีป แต่ละประเทศ เกิดเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้น ต่อด้วย ‘ใครขาขึ้น ใครขาลง’ ที่ยกประเด็นว่าในยุคนั้น ชนชาติไหน เทคโนโลยีใด หรือเทรนด์อะไรที่กำลังรุ่งและกำลังร่วง (มีทั้งเรื่องอาหาร อาวุธ ไปจนถึงแนวคิดทางการเมือง) แล้วค่อยปิดท้ายด้วยข้อมูลตัวเลขสนุกๆ ประจำยุค


แม้จะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมสีสัน และผ่านการย่อยข้อมูลมาแล้วไม่น้อย ‘ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง’ ก็ยังหนาถึง 500 กว่าหน้า ซึ่งทำให้เราต้องผ่านการนอนหลับหลายคืนกว่าจะอ่านจบ (ถึงจะไม่ได้ง่วงเพราะหนังสือเล่มนี้ก็ตาม) หนังสืออีกเล่มที่อาจจะอ่านต่อเนื่องกันเพื่อแก้โจทย์เรื่องความยาวนี้ได้ก็คือ ‘ประวัติศาสตร์โลกเล่มเล็ก’ ของ เอร์นสท์ เอส. โกมบริช นักประวัติศาสตร์เชื้อสายออสเตรีย

โกมบริชมีหนังสือที่โด่งดังคือ The Story of Art ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ศิลปะซึ่งเขาเขียนไว้ในปี ค.ศ. 1950 แต่สำหรับ A Little History of the World ที่ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย Silkworm Books ในชื่อ ‘ประวัติศาสตร์โลกเล่มเล็ก’ เล่มนี้เป็นงานเขียนในวัยหนุ่มของเขาที่เขียนเป็นภาษาเยอรมัน โดยตั้งใจจะให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์สำหรับเยาวชน เป็นหนังสือขายดีระดับโลกที่แปลไปแล้วหลายภาษา


หนังสือเล่มนี้หนาราว 260 หน้า ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับเรื่องราวจากช่วงเวลาอันยาวนานที่มันครอบคลุมอยู่ ทว่าความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ยาวหรือสั้น แต่คือน้ำเสียงในการเล่าที่เหมือนกับผู้เขียนกำลังเล่านิทานเรื่องยาวให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง โกมบริชเริ่มต้นบทแรกด้วย ‘กาลครั้งหนึ่ง’ เสมือนการเริ่มเรื่องเล่าก่อนนอน ก่อนจะค่อยๆ เล่าเรื่องมนุษย์ยุคโบราณ ดินแดนโบราณ สิ่งประดิษฐ์ ศาสนา สลับฉากโลกตะวันตกและตะวันออก จากพุทธศาสนาสู่ศาสนาคริสต์ มาถึงยุคกลาง (เขาตั้งชื่อบทเกี่ยวกับยุคกลางว่า ‘คืนที่ดาวพราวฟ้า’ บ่งบอกความโรแมนติกในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ได้เป็นอย่างดี) ก่อนจะไล่เรียงมาถึงยุคล่าอาณานิคม และมาสิ้นสุดที่โลกหลังสงครามโลก


นอกจากความนุ่มนวลในน้ำเสียงแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือโกมบริชยังสอดแทรกความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรมและความหวังถึงโลกที่ดีกว่าเดิมลงไปด้วย เราจะได้อ่านคอมเมนต์เล็กๆ น้อยๆ ของเขาต่อผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมบางคน ได้เห็นความปรารถนาดีต่อผู้คนที่มีให้สัมผัสได้ในตัวหนังสือตลอดทั้งเล่ม


ผู้สื่อข่าวสองคน กับนักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่ง ได้เขียนหนังสือบอกเล่าประวัติศาสตร์โลกในแบบของตัวเองขึ้นมาแล้ว หนังสือสองเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดี แต่นอกเหนือจากนั้น พวกเขามีคำตอบให้ตัวเองอย่างชัดเจนว่า ‘ประวัติศาสตร์โลก’ แบบใดที่พวกเขาอยากให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้


เรียนรู้เพื่อที่จะช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์โลกในแบบของเรากันต่อไป