กับดักในคำสารภาพ

เรื่อง: วิภว์ บูรพาเดชะ


Hi-Light:

  • ‘ในกับดักและกลางวงล้อม’ ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นวรรณกรรมไทยที่คู่ควรแก่การหยิบมาพูดถึง ด้วยดีกรีชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ดและเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปี 2561 ถือว่าถูกรับประกันคุณภาพ
  • ‘คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน’ ของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เล่าเรื่องผ่านตัวละคร ‘ผม’ ที่ค่อยๆ บรรยาย (หรือสารภาพ) ชีวิตการทำงานของตัวเอง เราจะรู้สึกเหมือนได้ฟังเพื่อนบ่น แต่ก็เป็นเพื่อนประเภทที่ช่างครุ่นคิด ชอบตั้งคำถาม อาจจะช่างตัดพ้อ แต่เรื่องของเขาก็ดูน่าสนใจดี และจะว่าไปมันก็คล้ายๆ กับเรื่องของเพื่อนๆ เราอีกหลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน


ผมเชื่อว่าสำหรับนักเขียนและนักอ่านแล้ว ถือว่าหนังสือคือ ‘ทรัพย์สิน’ ครับ


คือแน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้ขโมยหรือไปยืมหนังสือเล่มนั้นมาจากใคร เราก็ต้องใช้ทุนทรัพย์ไปซื้อหนังสือมาเพื่ออ่าน ถ้าหากเก็บไว้ในสภาพดีๆ ได้ เราก็สามารถเอาไปขายต่อในวันหน้า ส่วนใหญ่หนังสือเก่าจะราคาตกลงบ้าง แต่บางเล่มก็กลายเป็นหนังสือหายากและราคาแพงกว่าตอนซื้อมาหลายเท่าก็มี


แต่ผมไม่ได้กำลังจะชวนให้มาลงทุนทางการเงินด้วยการกักตุนหนังสือนะครับ เพราะนักอ่านย่อมรู้อยู่แล้วว่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของหนังสืออยู่ที่เนื้อหาของมันมากกว่า หนังสือบางเล่มมอบทางสว่างแก่ชีวิต บางเล่มปลอบประโลมในยามท้อ และบางเล่มก็ให้ความรู้ที่เรากระหายอยากได้อย่างเต็มอิ่ม


เล่มเดียวว่าเต็มอิ่มแล้ว บางทีอ่านต่อกันสองเล่มยิ่งเปิดมุมมอง ต่อยอด หรือโต้แย้งกันอย่างมีสีสันมากขึ้น นี่จึงเป็นไอเดียที่ผมอยากลองเขียนแนะนำหนังสือครั้งละสองเล่มให้ไปตามอ่านกัน


โดยตั้งใจ หนังสือที่ผมหยิบมาแนะนำคู่แรกในคอลัมน์ ‘อ่านต่อ’ นี้ แม้จะไม่ได้เป็นฮาวทูเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ตัวละครในนิยายทั้งสองเรื่องก็ล้วนมีความต้องการ ‘เงิน’ เป็นจุดหมายของชีวิต

‘ในกับดักและกลางวงล้อม’ ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นวรรณกรรมไทยที่คู่ควรแก่การหยิบมาพูดถึง ด้วยดีกรีชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ดและเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปี 2561 ถือว่าถูกรับประกันคุณภาพ แต่ที่แน่นอนกว่าก็คือชื่อของประชาคม ซึ่งโดดเด่นจากวรรณกรรมที่เล่าชีวิตของลูกเรือประมงมาแล้วหลายเล่ม (คล้ายกับที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ สร้างชื่อจากงานชุด เหมืองแร่) ด้วยความที่เขาเคยเอาชีวิตไปอยู่ในวงล้อมของท้องทะเลมานับทศวรรษ จึงมีเรื่องเล่าอัดแน่น เข้มข้น และสมจริงอยู่ในหัว


‘ในกับดักและกลางวงล้อม’ เล่าถึงชีวิตร้อยพ่อพันแม่ของเหล่าผู้คนที่เกี่ยวพันกับเรือประมงอวนล้อมใหม่เอี่ยมลำหนึ่ง เรื่องราวมีฉากหลังอยู่ในปี พ.ศ. 2530 ในวันที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือเทคโนโลยีการประมงเท่าวันนี้ วันที่แรงงานต่างด้าวยังไม่เข้ามาแย่งชิงงานลูกเรือประมง ตัวละครแต่ละตัวล้วนมีภูมิหลังอันรันทด บางคนร่างกายไม่สมบูรณ์ บางคนเผลอทำอดีตเว้าแหว่ง บางตอนของเรื่องให้ความรู้สึกเหมือนนิยายบู๊ลูกผู้ชาย บางช่วงกลายเป็นงานสะท้อนสังคม แต่ก็อย่างที่ประชาคมตั้งชื่อนิยายเอาไว้ ตลอดทั้งเล่มเราจะได้สัมผัสถึง ‘กับดัก’ และ ‘วงล้อม’ ที่ค่อยๆ บีบอัดชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ตั้งแต่ไต้ก๋งยันลูกเรือหน้าใหม่ที่เพิ่งสัมผัสชีวิตประมงเป็นครั้งแรก ทุกชีวิตต้องดิ้นรนร่วมกันในเรือลำเดียวกัน มีกระแสลมที่พัดพาคือความหวังที่ริบหรี่บ้าง เรืองรองบ้าง ฝันถึงรายได้ในวันข้างหน้าที่อาจจะพาชีวิตให้ดีกว่าที่เคย


น่าประหลาดและไม่น่าประหลาดใจ เจ้าความหวังเรื่องรายได้นี่ก็ไม่ต่างกับชีวิตคนเมืองใน พ.ศ. นี้เช่นกัน อย่างที่นิยาย ‘คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน’ ของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ บอกเล่าเอาไว้


อดิศร เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ครับ เขามีรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วสองเล่ม ก่อนจะมีนิยายเรื่องนี้เป็นเล่มแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อาร์ตี้เฮาส์ อาจจะหาซื้อยากหน่อย แต่ก็คุ้มค่าแก่การซื้อหา

ในช่วงแรก ‘คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน’ เป็นไปตามชื่อเล่ม คือเล่าเรื่องผ่านตัวละคร ‘ผม’ ที่ค่อยๆ บรรยาย (หรือสารภาพ) ชีวิตการทำงานของตัวเอง เราจะรู้สึกเหมือนได้ฟังเพื่อนบ่น แต่ก็เป็นเพื่อนประเภทที่ช่างครุ่นคิด ชอบตั้งคำถาม อาจจะช่างตัดพ้อ แต่เรื่องของเขาก็ดูน่าสนใจดี และจะว่าไปมันก็คล้ายๆ กับเรื่องของเพื่อนๆ เราอีกหลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาความเครียดในการงาน ความคาดหวังจากเจ้านาย การทุ่มเทเพื่อพบว่ามันยังไม่เพียงพอ ไปจนถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ ปวดหลัง ปวดไหล่ และปวดใจเวลาที่การงานไปเบียดบังเวลาที่ควรมอบให้เรื่องส่วนตัว


จะว่าเรื่องของ ‘ผม’ ในนิยายเรื่องนี้มันดูธรรมดาเหมือนกับชีวิตพนักงานบริษัททั่วไปก็ได้ แต่ ‘ผม’ ก็สารภาพได้อย่างบีบคั้นหัวใจ จนเห็นภาพ ‘กับดัก’ และ ‘วงล้อม’ ที่ค่อยๆ บีบรัดชีวิตของเขาเช่นกัน


ความน่าสนใจในระดับไม่ธรรมดาของ ‘คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน’ อยู่ตรงช่วงหลังครับ ในตอนท้ายเล่ม อดิศรเปลี่ยนมุมมองผู้เล่าไปยังเจ้านายของ ‘ผม’ บ้าง คราวนี้เราจะได้ฟังคำสารภาพจากแง่มุมของคนที่มองอยู่ข้างบน ที่ต้องทุ่มเทดูแลธุรกิจ และทั้งผลักทั้งดันลูกน้องไปพร้อมกันด้วย


ต่างคนต่างมุมมอง ตราบใดที่ยังคงต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ก็ดูคล้ายว่าชีวิตจะไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งใน พ.ศ. นั้นและใน พ.ศ. นี้ ทั้งในสังคมเมืองและในท้องทะเล ทั้งคนที่อยู่ข้างบนและข้างล่าง


สำหรับนักเขียนและนักอ่านที่ยังต้องหารายได้เลี้ยงชีวิตอยู่ หนังสือสองเล่มนี้จะพาคุณไปรู้จักกับเพื่อนร่วมโลกที่ดิ้นรนในหนทางของตัวเองครับ และเพราะหนังสือคือทรัพย์สิน จินตนาการก็คือสินทรัพย์ การได้เห็น ได้อ่านเรื่องราวของผู้คนในวงล้อมที่กำลังถูกบีบอัดชีวิต ก็อาจจะช่วยให้คุณได้มองเห็นและเปรียบเทียบกับดักบางประการในชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน