สะกดรอยนักท่องเที่ยวจีน กิน นอน ช้อป เที่ยว @ไทยแลนด์

บทความโดย: กนกอร แซ่เบ๊,ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง,เฉลิมพล ปัญญาณวาสกุล


นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในบ้านเราอาจไม่ใช่กลุ่มหน้าใหม่แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มที่จะมองข้ามได้อีกแล้ว จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขน่าสนใจพบว่า ปี 2560 ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยมีมากเกือบ 10 ล้านคน สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเราให้ไหลสะพัดอย่างมหาศาล


น่าสนใจกว่านั้น รูปแบบวิธีการท่องเที่ยวของพวกเขาก็เปลี่ยนไป  จากกลุ่มใหญ่เริ่มลดขนาดให้เล็กลง เป็นการเดินทางมากันเอง ไม่ง้อทัวร์ หอบหิ้วกระเป๋าใบโตมากันเป็นแก๊งเพื่อนสาวบ้าง พร้อมแฟชั่นสุดจี๊ดและกล้องคอมแพ็คติดมือ แต่ตลาดที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนสูงวัยที่นิยมมาเที่ยวกันเองเพิ่มขึ้นหรือมากันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ที่แม้แต่อาม่าอากงก็มากิน ช้อป และถ่ายรูปเป็นหลัก


รู้อย่างนี้แล้ว เราไม่รอช้าตรงดิ่งเข้าไปพูดกับ 3 ธุรกิจ 3 สาย ทั้งที่พัก ร้านอาหารและช้อปปิ้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมทั้งนำเสนอแง่มุมน่าสนใจชวนขบคิดเกี่ยวกับการทำมาค้าจีนต่อจากนี้ในอนาคต

Monomer Hostel: เป็นทั้งที่พักและเพื่อน

คุณผึ้ง ติรวงศ์กุล co-founder ของ Monomer Hostel เล่าให้เราฟังว่า ด้วยคอนเซ็ปท์ของโฮสเทลที่ออกแบบสไตล์ ‘comfy & cozy’ เลยทำให้กลุ่มลูกค้าของโฮสเทลค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่มาพักคนเดียว มากับเพื่อนจนไปถึงมากันเป็นครอบครัว จึงทำให้ทางโฮสเทลเห็นการเปลี่ยนผ่านของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้ชัดเจน

“พอเปิดมานานเราก็จะเห็นพัฒนาการ ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเปิด มาเที่ยวคนเดียวก็มี เป็นคนรุ่นใหม่เลย แก๊งเพื่อน 3-4 คน ไม่ก็เป็นแก๊งสาวๆ 6 คน แต่ปัจจุบันคือมาเป็นครอบครัว ไม่ใช่ครอบครัวเล็กๆ แต่มากัน 10 คนเหมาทั้งห้อง อากงอาม่าวัยรุ่น ทุกคนมากันแบบกระเป๋าใบเดียว แต่บางเคสจองไม่ถึงพอจะเหมาได้ทั้งห้อง เราก็เหมาให้เลยในราคาเท่าที่เขาจองไว้ คืออยากให้เขาสบายๆ พักส่วนตัวไปเลย”


แล้วทำไมชาวจีนถึงชอบเที่ยวเมืองไทย คุณผึ้งเฉลยว่า เพราะพวกเขาชอบเมืองไทยมาก


“เมืองไทยท่องเที่ยวง่าย คนไทยใจดี ของก็ถูก ของกินเยอะ สะดวกสบาย มีทุกอย่างที่ต้องการ มาตอนไหนก็ได้กินมะม่วง ชอบกินชาบูด้วย พูดตรงๆ เลย เวลาเขามาท่องเที่ยว คือมาจับจ่ายใช้สอยจริงๆ ซื้อทุกอย่าง กินทุกอย่าง ส่วนใหญ่คนจีนที่มาเที่ยวไทยคือต้องกลับมากันอีก ไม่มีใครมาครั้งเดียว บางคนมาครั้งแรกแต่ก็มากับคนที่เคยมาแล้ว เราเคยเจอลูกค้ามาเที่ยวไทยเดือนเดียว 4 ครั้ง”


ส่วนวิถีการท่องเที่ยว คุณผึ้งอธิบายว่าแทบไม่ต่างจากคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกเลย เน้นชอปปิ้งเป็นหลัก มีกำหนดการชัดเจนตายตัว ตื่นเช้ามากินข้าวเรียบร้อยออกไปตามแผนที่วางไว้ เย็นกลับมาพร้อมข้าวของเต็มมือ โดยเฉลี่ยพักนานที่สุดหนึ่งสัปดาห์ น้อยที่สุดคือสามวัน ส่วนจุดหมายปลายทางนอกจากกรุงเทพยอดนิยม ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ และตลาดน้ำตามปริมณฑล

คุณผึ้งเสริมต่อว่าหลักๆ แล้วนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่นิยมมาพักผ่อนช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล ทั้งของไทยและของจีน ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่สากล สงกรานต์ และตรุษจีน  ส่วนช่วงที่นักท่องเที่ยวชาวจีนมาน้อยที่สุดคือหน้าฝนบ้านเรา


“น้อยทุกชาติค่ะ” คุณผึ้งหัวเราะเบาๆ


ด้วยจำนวนลูกค้าชาวจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับทางที่พักโฮสเทลเป็นห้องรวม ยิ่งคนเยอะ ปัญหาก็ยิ่งเยอะตามมา จุดนี้คุณผึ้งเล่าว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจอย่างเธอหนีไม่พ้นอยู่แล้ว  สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ดีกับทุกฝ่ายและเปลืองพลังน้อยที่สุด  ทางที่จะช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือการอธิบายทุกอย่างเป็นภาษาแม่อย่างชัดเจน ครอบคลุมและครบถ้วน  เช่น มีป้ายพร้อมรูปประกอบ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสะอาดและความสงบ


“ถ้ามีการสื่อสารที่ชัดเจนจะไม่มีปัญหาเลย ทุกอย่างจะอยู่ตามที่เราวางไว้ แล้วเราไม่ได้ใช้ google translate ในการแปล เราให้น้องที่เรียนภาษาจีนช่วยให้ลูกค้าคนจีนที่มาพักช่วยแปล คือถ้ามีการบอกทุกอย่างเป็นภาษาจีนก็จะไม่มีปัญหา ถ้าคุณไม่บอกแสดงว่าเขาไม่รู้ เขาไม่รู้ก็ทำด้วยความคุ้นชิน แต่ถ้าบอกเขาก็ทำตามกฎ น่ารักมาก”


จากการสื่อสารที่ชัดเจนกลายเป็นจุดแข็งของโฮสเทล คือความเป็น ‘บ้านเพื่อน’  มากกว่าที่พัก  คุณผึ้งเล่าให้ฟังว่า หลายครั้งที่โฮสเทลเจอกรณีฉุกเฉิน ลูกค้าได้รับความเดือดร้อน เช่น ช่วยเหลือลูกค้าชาวจีนที่ลืมกระเป๋าไว้ที่สนามบิน , พาสปอร์ตหรือโทรศัพท์หาย ก็ได้โฮสเทลช่วยแจ้งความและดำเนินการต่างๆ ให้ บางกรณีกินเวลาค่อนวัน

ความจริงใจที่มี ทำให้ Monomer Hostel ไม่ใช่แค่ได้ใจลูกค้าแต่คือเพื่อนชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้น


“เพราะมันไม่ง่ายเลยที่เขาจะเลือกเรา เมื่อตอนนี้ทางเลือกเกี่ยวกับที่พักมันเยอะมาก แต่เมื่อเขาเลือกแล้วเราก็อยากทำให้ดีที่สุด เมื่อเขาเลือกที่จะใช้เวลาวันหยุดที่มีค่ากับเรา เราก็อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา


เพราะฉะนั้นความจริงใจสำคัญ เวลาลูกค้าบอกว่าฉันมาเพราะเพื่อนแนะนำมา เราจะประทับใจมากเพราะเวลาเราช่วยคือช่วยจริงๆ ช่วยในฐานะเพื่อนและทำให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นด้วย”


3 สิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องขอ

  1. น้ำร้อน
  2. สลิปเปอร์
  3. ราวตากผ้า

ร้านก๋วยเตี๋ยวปิรันย่า: โดนใจ ขอไม่เผ็ดเน้นเข้มข้น

หากอยากทานก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟอร่อยๆ แถวสยาม แน่นอนว่าร้านแรกๆ ที่เเจ้าถิ่นแนะนำต้องมีชื่อ ร้านก๋วยเตี๋ยวปิรันย่า ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์หนังสือจุฬาฯ และอยู่คู่สยามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542


10 กว่าปีผ่านไป นอกจากเด็กๆ หน้าใส ลูกค้าคลื่นลูกใหญ่ของร้านปิรันย่ามาจากเมืองจีน

คุณทิพวรรณ ลิขิตอำนวยพร เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารงานร้านเองเต็มตัวเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เธอพบว่าลูกค้าชาวจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หลายคนเป็นขาประจำ บินมาเมื่อไหร่ร้านนี้ต้องอยู่ในโปรแกรม


เพราะร้านไปปรากฏตัวอยู่ในหนังสือไกด์บุ๊ค ลูกค้าหลายคนกลับไปเขียนรีวิวลงบล็อกจนหลายๆ คนตามมาชิมด้วยพลัง ‘ปากต่อปาก’


“ตอนแรกพี่ก็ไม่รู้ว่า ร้านเราได้ไปลงในหนังสือไกด์บุ๊ค มีนักท่องเที่ยวเอามาโชว์ให้ดูว่าร้านเราได้ลงหนังสือจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนไหนมากินแต่ถ้าลูกค้าคนไหนมาทานแล้วบอกว่ามาตามหนังสือพี่ก็จะขอถ่ายรูปนักท่องเที่ยวเขากับหนังสือนั้น เพราะว่า ยูมาตามร้านเรา”


เธอเล่าต่อว่าลูกค้าชาวจีนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มวัยรุ่นที่นิยมมาเที่ยวกันเองอายุตั้งแต่ 20 - 25 ปี แต่งตัวตามสมัยนิยม หอบหิ้วถุงช้อปปิ้งเต็มไม้เต็มมือ หรือกลุ่มครอบครัวไล่ตั้งแต่ครอบครัวขนาดเล็กแค่ 3- 4 คนไปถึงครอบครัวขนาดใหญ่ 10 กว่าคนก็มี


“อากง อาม่า พาหลานๆ มานั่งกินกัน ลากกระเป๋าใบใหญ่มาด้วย ดูน่ารัก อบอุ่นดี”

เมื่อเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ความกังวลในการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกต่อลูกค้าก็ตามมาด้วยการทำป้ายกำกับอธิบายวัตถุดิบหรือท็อปปิ้งต่างๆ เป็นภาษาจีนพร้อมภาพประกอบอย่างชัดเจนเพื่อให้ลูกค้าเลือกสรรมื้ออร่อยได้ด้วยตัวเอง


และภาษาก็ไม่ใช่อุปสรรค แม้คุณทิพวรรณจะพูดภาษาจีนไม่ได้


“ส่วนใหญ่ทางร้านใช้ภาษาอังกฤษ ลูกค้าชาวจีนพูดภาษาอังกฤษกันได้ เพราะมาจากปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ จะมีความทันสมัย คืออย่างน้อยที่สุด ในกรุ๊ปที่มาทานจะพูดภาษาอังกฤษได้ 1 คน แต่ถ้าผู้สูงอายุมากันอาจพูดไม่ได้ ระบบชี้ๆ ง่ายสุด เข้าใจสุด” คุณทิพวรรณอธิบาย


ส่วนเมนูที่ลูกค้าชาวจีนนิยมทานมากที่สุด เธอตอบอย่างรวดเร็วว่า ‘บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง’ และ ‘เย็นตาโฟน้ำข้นปิรันย่า’ เป็นเมนูมาตรฐานและทานง่ายที่สุด


“คนจีนกินง่าย ทานง่าย ไม่ค่อยสั่งเมนูแปลกๆ กัน เบสิคสุดคือ เส้นหมี่น้ำลูกชิ้นปลา แต่หลักก็สองเมนูที่ว่าบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงกับเย็นตาโฟน้ำข้น คือไม่เผ็ดแต่เน้นเข้มข้นเหมือนเดิม”


ที่สำคัญคือทุกเมนูที่ลูกค้าชาวจีนสั่งจะต้องลดระดับความเผ็ดร้อนลงเพื่อให้ถูกปากกับพวกเขา

เคล็ดลับมากไปกว่านั้นที่ทำให้ลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวจีนและต่างชาติติดอกติดใจขนาดนี้ คุณทิพวรรณอธิบายว่าเป็นเพราะเธอควบคุมการผลิตและคัดสรรวัตถุดิบด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ


“เราใช้น้ำต้มกระดูกหมูจำนวนมาก เพื่อให้หวาน รวมทั้งใช้ฟัก แครอท หัวไช้เท้า ผัก เครื่องเทศจีน สมุนไพรหลายชนิดในสัดส่วนที่ดี และใช้ไฟในการต้มอย่างมีเทคนิคจนได้น้ำซุปที่มีรสชาติกลมกล่อม หอมเครื่องเทศ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนลูกชิ้นทุกชนิดผลิตเองกับมือโดยใช้เนื้อปลาคุณภาพดีและไม่ใช้สารบอแรกซ์”


เรียกได้ว่าใส่ใจทุกรายละเอียดจริงๆ


เครื่องดื่มยอดฮิต

  1. เก๊กฮวยร้อน
  2. ชามะนาวเย็น
  3. ชาเย็น

Noriko x Nich: ตรงสเป็คสาวจีนยุคใหม่

Noriko (โนริโกะ) เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ไทยที่หยิบผ้าไทยลวดลายเป็นเอกลักษณ์และงดงามมาสรรสร้างให้ร่วมสมัย กว่าครึ่งศตวรรษที่ Noriko ห้องเสื้ออันดับต้นๆ ยืนอยู่คู่วงการแฟชั่นไทย ตั้งแต่สมัยที่สาวๆ ยังนิยมสั่งตัดแบบ Tailor made จนมาถึงยุคเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปัจจุบันที่แขวนเรียงรายให้เลือกสรรในห้างสรรพสินค้าอย่างสยามพารากอนและเอ็มควอเทียร์ โดยมีทายาทรุ่นสอง คุณนงนาถ จิรกิติ เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบและควบคุมการผลิตเองทั้งหมด

แต่ทุกวันนี้ความนิยมของ Noriko ไม่เพียงเฉพาะแค่ชาวไทยเท่านั้นแต่ยังได้รับความนิยมในกลุ่มๆ สาวชาวจีน โดยเฉพาะ Nich (นิช) แบรนด์ลูกของ Noriko ที่เพิ่งเปิดตัวไปสองปีที่แล้วโดยมี คุณณิชา จิรกิติ ลูกสาวของนงนาถ จิรกิติ เป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด ซึ่ง คุณดิษนีย์ บุญศิริ ผู้จัดการห้องเสื้อ Noriko สาขาสยามพารากอนเล่าว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของยอดซื้อทั้งหมดมาจากสาวๆ จีนเป็นหลัก


แล้วเพราะอะไรทำไม Nich ถึงดึงดูดสาวๆ จีนยุคใหม่ได้ คุณดิษนีย์ อธิบายว่าอาจเป็นเพราะสไตล์ของ Nich คือสาวๆ วัย 20 - 25 ปี มีความเท่ปนเซ็กซี่ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นเฟมินิสต์ ยังคงเน้นงานลูกไม้และงานปักผสม ถูกใจสาวๆ ที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน


รวมถึงงานตัดเย็บของทางร้านที่เน้นงานละเอียด เลือกและคัดสรรวัตถุดิบเองกับมือ ไม่ว่าจะเป็นซิปหรือกระดุม โดยมีช่างตัดเสื้อมากประสบการณ์ลงฝีเข็มเองทุกขั้นตอน เรียกได้ว่าเสื้อผ้าทุกชิ้น งานทุกแบบคืองานฝีมือชั้นครู อีกทั้งบางแบบยังเป็นงานชิ้นเดียวในโลกอีกด้วย


“เพราะเราใช้ผ้านำเข้า บางแบบวางผ้าต้องใช้ผ้าเยอะทำให้บางแบบใช้ผ้าตัดออกมาได้แค่ 1 ตัว มีไม่ครบไซส์ แล้วแต่ว่าจะทำได้ไซส์ไหน ถ้ามีผ้าก็สามารถทำซ้ำได้ แต่ส่วนใหญ่คือหมดแล้วหมดเลย ทำน้อย ใส่ได้คนเดียว ไม่ต้องกลัวว่าจะซ้ำใคร”

ทั้งหมดที่ว่าจึงทำให้ Nich ถูกพูดถึงแบบปากต่อปากถือเป็นการตลาดชั้นเลิศโดยที่ทางร้านเองก็ไม่รู้ตัวเมื่อลูกค้าสาวจีนบางคนเดินเข้ามาพร้อมแนะนำว่าเธอรู้จักร้านนี้เพราะเพื่อนแนะนำมา แน่นอนว่าทางร้านต้องยิ้มแก้มปริ


“ตอนนี้กลุ่มลูกค้าคนจีนเปลี่ยนไป เมื่อก่อนจะมากันเป็นทัวร์ ปีนี้สังเกตชัดมาก มากันเอง พอประเทศเขาเปิดกลุ่มท่องเที่ยวเล็กลง มาท่องเที่ยวกันเองมากขึ้นก็มาได้บ่อยครั้ง ส่วนมากคือสาวจีนยุคใหม่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ประกอบกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าช่วงวัยนี้ที่เห็นแล้วชอบจะซื้อทันที เน้นถูกใจเป็นหลัก ซื้อง่าย ชอบก็ซื้อไม่คิดเยอะ”


ถึงอย่างนั้นทางร้านก็ยอมรับว่าในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาตินี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากพวกเขามี Search Engine เป็นของตัวเองประกอบกับอุปสรรคทางภาษาซึ่งทางร้านเริ่มจะส่งพนักงานหน้าร้านไปลงคอร์สภาษาจีนบ้างแล้ว


แต่สิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือ การอำนวยความสะดวกลูกค้าชาวจีนได้โดยทันทีไม่ต้องลงแรงอะไรมากนัก ผ่านบริการ  Alipay - วิธีการจ่ายเงินยอดฮิตของชาวจีนในสังคมไร้เงินสด

“Alipay ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกับ Debit Card ตัดเงินในบัญชีและได้สะสมแต้มไปในตัว คล้ายๆ กับคนไทยที่ชอบใช้บัตรเครดิตเพื่อแลกแต้ม พอมีป้าย Alipay มาติดหน้าร้านนักท่องเที่ยวก็จะรู้ทันที ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้ประกอบการเหมือนกัน แต่พอมีรองรับกลุ่มลูกค้า พวกเขาก็สะดวกเพิ่มมากขึ้น เหมือนเป็นช่องทางใหม่ โอกาสการค้าขายก็มีเพิ่มมากขึ้น”


Alipay คืออะไร

บริการอินเทอร์เน็ตแบ็งกิ้งผ่านแอปพลิเคชัน สามารถผูกเข้ากับบัตรเครดิตของผู้ใช้งานได้ มีการเติมเงิน ถอนเงิน ใช้ชำระค่าบริการ ค่าสินค้าต่างๆ บนเว็บไซต์ที่รองรับได้ทั่วโลก อีกทั้งยังมีบริการชำระเงินค่าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีน