ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ขายของเว็บไหน ต้องเข้าถึงใจตลาดนั้น
การทำมาค้าขายยุคนี้ จะมัวแต่รอทำเลดีๆ ไว้เปิดร้าน คงจะไปได้ไม่ถึงไหน เพราะโลกแห่งการจับจ่ายทุกวันนี้ “ออนไลน์” คือคำตอบที่ตรงเผง ทั้งไม่ยุ่งยากเรื่องต้นทุน แถมยังช่วยเสริมรายได้สำหรับคนที่งานประจำอยู่แล้วได้ โดยเฉพาะใครที่อยากเจาะกลุ่มชาวต่างชาติ การหาสินค้าไทยไปอวดโฉมเรียกเม็ดเงิน ช่างไม่ต่างอะไรจากสวรรค์ชั้นยอดทีเดียว
แต่ในเมื่อโลก “อี-คอมเมิร์ซ” มีเวทีสำหรับตั้งแผงขายแบบร้อยแปดพันเก้า การจะเข้าไปทั้งทีจึงควรเล็งเป้าให้แม่นยำ เราจึงอยากแนะนำเว็บไซต์ที่เมื่อคุณเข้าไปจับจองพื้นที่แล้ว คุณจะมีโอกาสเข้าถึงใจลูกค้าประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
เริ่มที่ “จีน” ดินแดนแห่งว่าที่ลูกค้ากว่า 1,400 ล้านคน ใครอยากแทรกกายเข้าไปนั่งกลางใจชาวจีน ชี้เป้าหมายไปที่ tmall.com ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร, แบรนด์หรู, เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้าหรือสินค้าอื่นก็ขายได้
หรือลองเยี่ยมมองส่องตลาดที่ global.jd.com เว็บไซต์ชื่อดังที่คนจีนเข้าไปชอปปิ้งกันจำนวนมาก สินค้าที่มีโอกาสในช่องทางนี้ เช่น สินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ความงาม, แฟชั่น รวมไปถึงสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ก็ยังไหว
อีกพื้นที่พลาดไม่ได้คือขายผ่าน WeChatStore (วีแชทสโตร์) เพราะวีแชทเป็นแอปพลิเคชันสื่อสารที่คนจีนใช้เป็นประจำ มีฐานลูกค้าหลายร้อยล้านคน หากเลือกเจาะช่องทางนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะได้พบลูกค้ารอซื้ออยู่
ต่อมาหันไปที่ “อินเดีย” ที่มีประชากรระดับน้องๆ ของจีนที่ 1,300 ล้านคน ไม่อยากบากบั่นเหน็ดเหนื่อยขายของให้ชาวอินเดีย ราวกับพระเอกหนังภารตะวิ่งข้ามเขาเป็นสิบลูกเพื่อไปเจอนางเอก ควรเริ่มต้นขายผ่าน amazon.in ในฐานะตลาดไซเบอร์อันดับต้นๆ ที่คนอินเดียนิยมนำเงินรูปีไปละลาย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขึ้นแท่นยอดนิยมตลอดกาล
อีก 2 เว็บไซต์น่าสนใจคือ flipkart.com ที่นำเสนอการขายได้จิปาถะ แต่ไอเท็มยอดฮิตยังหนีไม่พ้นเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เช่นเดิม และ paytmmall.com ที่มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคครอบคลุมทุกประเภท ที่เป็นไฮไลท์ได้แก่ สินค้าตกแต่งบ้าน, เสื้อผ้า และที่ขาดไม่ได้ก็อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน
ขยับมาใกล้บ้านเราในอาเซียน “อินโดนีเซีย” ซึ่งมีประชากรกว่า 260 ล้านคน อีกทั้งเศรษฐกิจเติบโตสดใส ยิ่งเป็นกำลังให้คนในประเทศมั่นใจในการจับจ่าย
ใครที่ขายสินค้าแฟชั่น, ของเล่นเด็ก และสินค้าประเภท D.I.Y. ให้คนซื้อไปประกอบร่างเอง ควรจูงมือกันเข้าไปลองตลาดนี้ เพราะนี่คือกลุ่มสินค้ายอดนิยมที่คนอินโดนีเซียซื้อผ่านออนไลน์กันอย่างคับคั่ง มีเว็บไซต์ที่คนจะพร้อมกดสั่งสินค้าแบบไม่ยั้ง ได้แก่ lazada.co.id รวมทั้ง blibli.com และ elevenia.co.id
และที่มองข้ามไม่ได้อย่างยิ่งคือ “เวียดนาม” นอกจากประชากรกว่า 92 ล้านคนแล้ว ยังมีความชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิม เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ สังเกตได้จากคนเวียดนามที่มาเที่ยวไทย โปรแกรมที่ต้องบรรจุแบบไม่ให้พลาดคือ การเดินช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นเอง
แถมเศรษฐกิจเวียดนามกำลังโตไปได้สวย สัดส่วนตลาดใหญ่คือคนรุ่นใหม่ที่พร้อมใช้จ่ายออนไลน์อยู่แล้ว ทำให้กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามด้วยสินค้าแฟชั่น ต้องจับจองตลาดนี้ให้ดี เพราะนี่คือเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่หนุ่มสาวเวียดนามเขามองหาอยู่ โดยมีเว็บไซต์ที่คึกคัก ได้แก่ lazada.vn นอกจากนี้ยังมี thegioididong.com และ vatgia.com เป็นต้น
ประเทศสุดท้าย ใกล้แบบกระทบไหล่ของไทย คือ “เมียนมา” ด้วยประชากรกว่า 52 ล้านคน และมีเศรษฐกิจเติบโตเจริญไว เร่งเครื่องให้การจับจ่ายสินค้าออนไลน์เติบโตตามไปด้วย สินค้าขวัญใจที่ควรนำทัพตบเท้าเข้าไปขายผ่านออนไลน์ให้คนเมียนมา ก็คือ อุปกรณ์ไอที, เครื่องครัว ซึ่งคนเมียนมาชื่นชอบนักแล
ส่วนเว็บไซต์ที่ควรลองเข้าไป ได้แก่ baganmart.com ที่จะเปิดตลาดบีทูบี ให้คุณติดต่อขายให้กับนักธุรกิจท้องถิ่นโดยตรง ตามด้วย onekyat.com และ zawgyimart.com ที่รวบรวมสินค้าทุกหมวด ประหนึ่งห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมบนหน้าจอ
การมองตลาดให้กว้างขึ้น เราก็จะพบโอกาสทำมาค้าขายไม่มีสิ้นสุด แต่ก่อนจะเข้าไปเจาะใจลูกค้าแต่ละตลาด อย่าลืมศึกษาพฤติกรรม ความต้องการ หรือกระทั่งรสนิยมของลูกค้าในตลาดนั้น เพื่อไม่ให้สินค้าของคุณต้องค้างเติ่งรอผู้ซื้ออย่างเงียบหงอย
ที่สำคัญ อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ทางการค้าที่จำเป็นด้วย เช่น ต้องมีคลังสินค้าในประเทศนั้นหรือไม่ มีบริการขนส่งรองรับหรือต้องดำเนินการอย่างไร มีค่าธรรมเนียมการขายและเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับเว็บไซต์นั้นๆ หรือไม่ วิธีการชำระเงินค่าสินค้าในแต่ละประเทศนเป็นแบบไหนบ้าง และวิธีไหนเป็นแบบที่ลูกค้าประเทศนั้นชอบที่สุด
แล้วทีนี้ ทุกสกุลเงินก็พร้อมหลั่งไหลเข้ามาต่อยอดให้การขายของคุณฉลุย แถมยังลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งได้อีกด้วย