ภาษีครึ่งปี สำคัญอย่างไร

หลายคนอาจมีคำถามว่า บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ก็ยื่นภาษีทุกปีอยู่แล้วทำไมต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปีอีก? ซึ่งก็มีแค่บุคคลที่มีเงินได้บางประเภทเท่านั้นที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีครึ่งปี โดยการเสียภาษีครึ่งปีนี้ถือเป็นการบรรเทาภาระภาษี เพราะหากไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 94 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเป็นเงินจำนวนมากในตอนปลายปี (ชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป) โดยภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายไป สามารถนำไปใช้หักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ ตัวอย่างเช่น นายเอได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 6,000 บาท พอสิ้นปีนายเอคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเป็นจำนวน 9,000 บาท นายเอก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 3,000 บาทเท่านั้น  (9,000-6,000 บาท)

tax

แบบ ภ.ง.ด. 94

การเสียภาษีบุคคลธรรมดา นอกจากการยื่นภาษีประจำปีแล้ว ยังมีเงินได้อีกกลุ่มที่ต้องเสียภาษีกลางปีผ่านการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 หรือแบบแสดงรายการเพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม–มิถุนายน โดยต้องยื่นเสียภาษีในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน และเมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 นี้แล้วเมื่อถึงปลายปีจะต้องคำนวณภาษีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง โดยนำยอดภาษีที่ได้ชำระแล้วตามแบบ ภ.ง.ด. 94 มาหักออก


ใครบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94

ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ ตามกฎหมายภาษีมาตรา 40(5) – (8) ซึ่งได้แก่

  • เงินได้ประเภทที่ 5 เงินหรือประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เป็นต้น

  • เงินได้ประเภทที่ 6  เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น

  • เงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องมือ

  • เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในเงินได้ประเภทที่ 1-7 แล้ว

ยื่นภาษีครึ่งปีใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่

"ค่าลดหย่อน" เป็นสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในช่วงครึ่งปีสามารถทำได้ โดยแบ่งรูปแบบการลดหย่อนภาษีเป็น 3 กลุ่ม โดยนำมายกเป็นตัวอย่างได้ดังนี้


กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ลดหย่อนได้ครึ่งเดียวของการใช้สิทธิเต็มปี

รายการ

ค่าลดหย่อน

ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

คู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้เฉพาะมาตรา 40 (1)-(4)

ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

คู่สมรสมีเงินได้ มาตรา 40 (5)-(8) ถ้าคำนวณภาษีรวมกัน

นำไปหักลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาทและหักลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (เต็มปี 120,000 บาท)

ค่าเลี้ยงดูบุตร

ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา

ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ

ได้คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

กลุ่มที่สอง คือ ตัวอย่างกลุ่มที่ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยอดลดหย่อนอาจจะน้อยกว่าแบบเต็มปี เช่น

เบี้ยประกันชีวิต และดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยทั้งสองส่วนสามารถใช้สิทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าแบบเต็มปีที่ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท   เนื่องจากเงินที่จ่ายจริงจำนวน 10,000 บาทแรกเป็นค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งลดหย่อนได้เพียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 5,000 บาท ส่วนอีก 90,000 บาทเป็นค่าลดหย่อนตามกฎกระทรวง 126 ซึ่งลดหย่อนได้เต็มจำนวน 90,000 บาท

กลุ่มสุดท้าย คือ ตัวอย่างกลุ่มที่ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงตามปกติ และยอดลดหย่อนสูงสุดเท่ากับแบบเต็มปี เช่น

  • กองทุนรวม SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีที่ได้รับ และไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุน RMF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน  กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท

ประกันสังคมสามารถหักลดหย่อนได้เพียง 6 เดือน (ตามที่จ่ายจริง) ซึ่งไม่เท่ากับจำนวนที่จ่ายแบบเต็มปีจึงแนะนำให้ตัดออก


ไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีได้ไหม

การยื่นภาษีครึ่งปียื่นได้ตั้งแต่วันที่  1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2566  ถ้าหากไม่ยื่นภาษีจะมีโทษตามกฎหมาย คือ ค่าปรับไม่ยื่นแบบ 2,000 บาท และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จากภาษีที่ต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2566 เป็นต้นไป


กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ทุกคนต้องรู้ในฐานะของบุคคลธรรมดานั่นคือ ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เนื่องจากการยื่นภาษีครึ่งปีไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่และสิ่งที่ทุกคนควรรู้และทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ยื่นและเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง

บทความโดย :  อังค์วรา ไชยอนงค์