Empathy คือสิ่งที่ทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

แซงคิวซื้อของ ปาดรถคันหน้า ส่อเสียดคำพูดเมื่อไม่พอใจ บูลลี่คนอื่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มักเจอในชีวิตหรือตามคอมเมนต์โซเชียลต่างๆ ทำให้รู้สึกว่า การเห็นอกเห็นใจและเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) เริ่มเป็นสิ่งที่หายากในสังคม และกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเพรียกหา ก่อนความรู้สึกแบบนี้จะจางหายไปจากใจเรา มาช่วยกันตระหนักเรื่อง Empathy เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้นกันเถอะ

1008942772

1. พฤติกรรมที่หาได้ง่าย แต่แก้ยากในยุคนี้

การไม่รู้ร้อนรู้หนาว คิดเพียงว่าตัวเองจะต้องได้รับสิทธิ์ก่อนหรือทำอะไรที่ตัวเองสบายใจ ส่วนคนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เป็นที่พบเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยไม่คิดว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบอย่างไร เรียกว่าขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างจริงจัง พอคนอื่นทำกับเรา ก็ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำกับผู้อื่นต่อ


2. ไม่ชอบให้ใครทำกับเราแบบไหน ก็อย่าทำแบบนี้กับใคร


เราต่างเคยคิดว่าสังคมเริ่มอยู่ยาก แต่ความเห็นแก่ตัวจะหายไป และความเข้าใจคนอื่นมาแทนที่ได้ ถ้าลองเอาใจเข้ามาใส่ใจเราในสถานการณ์ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากคนใกล้ตัว หรือจากคนที่ถูกกระทำหรือไม่ได้รับความยุติธรรมต่างๆ ในสังคม เชื่อได้ว่า Empathy จะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพียงสะกดภายในใจว่า “เราไม่อยากให้ใครทำแบบนี้กับเรา ก็จงอย่าทำแบบนั้นกับใคร”


3. เริ่มต้นที่ฟังด้วยหัวใจ


การจะมี Empathy ต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี และเป็นการตั้งใจฟังอย่างจริงใจ Deep Listening ประหนึ่งความใส่ใจในรายละเอียดและมองสิ่งรอบตัวผ่านแว่นขยาย เพราะความรู้สึกของใครหลายคน บางทีก็เก็บซ่อนเร้นไว้ลึกเพื่อรอจังหวะให้คนพร้อมคลิกเข้ามา ทักษะนี้สามารถฝึกกันได้และยังรอการเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะมนุษย์บนโลกปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลาย


4. ลดทิฐิตัวเองแล้วจะมองเห็นผู้อื่น


Empathy จะได้พบเห็นมากขึ้น หากลดอีโก้และยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อใจรู้สึกรุ่มร้อนหรือรู้สึกกำลังโดนเอาเปรียบไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ลองควบคุมให้ใจนิ่ง สงบให้ได้ แล้วลองคิดถึงสาเหตุของคนที่ทำไม่ดีต่อเราว่าที่เขาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร บางทีอาจเจอความจริงที่ว่า อืม! ชีวิตจริงเขาน่าสงสารกว่าใครหลายๆ คน ที่ไม่อาจแสดงตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นได้สัมผัส

5. สิ่งดีๆ บังเกิดเมื่อมี Empathy ที่ทำงาน


Empathy คือ Soft Skill ที่ช่วยให้ใจฟูในที่ทำงาน เพราะความเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นกำลังเผชิญและฝ่าฟัน จะหนุนให้ทีมทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น อย่างการประชุมที่เต็มไปด้วยการถกเถียงจากสิ่งที่ต่างคนพยายามสร้างสรรค์งานออกมาให้ดีที่สุด จึงมักมีอารมณ์ติดสอยห้อยตาม ยิ่งกรณีเกิดความผิดพลาดในทีม การเห็นใจผู้อื่นถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถช่วยบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดี


6. เสริมออร่าความเป็นผู้นำ


ผู้นำที่มี Empathy จะทำงานภายใต้ความเครียดและกดดันได้ดีกว่า มักใจกว้างรับฟังลูกน้องโดยไม่รีบตัดสินคำพูดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มักใช้เวลาสังเกตและให้ความสำคัญเข้าไปพูดคุยถามไถ่ตลอดเวลา พร้อมมีบุคลิกที่เข้าถึงง่ายไม่มีพิธีรีตอง ซึ่งผลที่ได้จากการพยายามเข้าใจลูกน้อง มักทำให้ได้รับความร่วมมือช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย


7. มากไปก็ไม่ดี


คนที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นคือคนจับอารมณ์คนได้เก่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแปลความถูก การฟังมากไม่ได้มีปัญหา แต่การตีความมากเกินไปต่างหากที่เป็นปัญหา และที่แย่ไปกว่านั้นอาจเป็นการสร้างปัญหาสุขภาพจิตให้กับตัวเอง เพราะต้องเผชิญกับอารมณ์แกว่งไปมาทั้งเศร้าและสุขเกินจริง หากไม่มีการแยกแยะเรื่องราวหรือรู้จักบริหารจิตใจตัวเองให้ดีพอ


8. ฝึก Empathy แบบง่ายๆ


การคิดถึงใจเขาใจเราโดยมองทุกคนเท่าเทียม เป็นพื้นฐานของการฝึกใจที่ดี อาจเริ่มต้นง่ายๆ กับ Digital Empathy หรือการรู้จักเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ไม่โพสต์หรือแท็กรูปผู้อื่นก่อนได้รับการอนุญาต โดยเฉพาะภาพที่ได้รับความอับอาย ไม่ส่งข้อความไร้สาระในช่องทางสาธารณะที่รบกวนผู้ใช้งานคนอื่น ไม่สร้างข้อมูลเท็จหรือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับก่อนเสมอ


หากเริ่มทีละเล็กน้อยเพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และปฏิบัติสิ่งเหล่านี้จนเคยชิน เชื่อเถอะว่าความน่ารักของสังคม จะเพิ่มขึ้นจนผิดหูผิดตาไปจากปัจจุบัน ทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นเยอะเลย

 

ที่มา
https://capitalread.co/secrets-of-the-sky-07/
https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=32026
https://www.thumbsup.in.th/empathy-vs-sympathy
https://www.pobpad.com/digital-empathy-ความเห็นอกเห็นใจในโล
https://thematter.co/social/empathy-sauce/138878
https://www.isranews.org/article/isranews-article/110127-empathy.html