8 ข้อเตือนใจสายเปย์ ก่อนจะจัดหนักจนเจ็บตัว

ลองเช็คตัวเองกันหน่อยดีไหมว่า หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้เงินผ่อนที่ต้องส่งเป็นประจำทุกเดือน เกิดจากอะไร และทำเพื่อใคร ระหว่างการตอบสนองความต้องการของตัวเอง หรือจับจ่ายเพื่อเอาใจผู้อื่น สรุปแล้วเราทำเพื่ออะไร แล้วผลจากการเป็นเจ้าบุญทุ่มนั้น เริ่มเฉือนเนื้อเข้าตัวเองแล้วหรือยัง ลองสำรวจสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บทางการเงินที่อาจเกิดจากอาการใจป๋าของตัวเอง


1. “สายเปย์” คือการยอมทุ่มหรือจัดหนัก


สำรวจตัวเองให้ดีว่า มีนิสัยแบบสายเปย์ผู้ยอมทุ่มจัดหนักจัดเต็มโดยใช้เงินแลกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแบบมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ทั้งเพื่อตัวเองหรือคนอื่น ชนิดที่ว่าเสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ ยอมพลีชีพกระเป๋าสตางค์และบัตรเครดิตให้กับการเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ถ้ารู้ตัวว่าเข้าข่าย ต้องพยายามยั้งมือ และดึงสติกันหน่อยแล้ว


2. รู้ตัวแล้วว่าจ่ายหนัก เพราะมีหนี้ตามมาเป็นพรวน


แค่รู้ตัวไม่พอ แต่สัญญาณเตือนมาหนักๆ ให้รู้ว่าควรเลี่ยงพฤติกรรมใจป๋า คือเมื่อเราตาลุกวาวพร้อมจ่ายเงินสดหรือเซ็นบัตรเครดิต ทันทีที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา รวมทั้งไม่ปฏิเสธเวลาคนรู้ใจขอของขวัญชิ้นพิเศษ จนไม่เคยสังเกตเงินในกระเป๋าตัวเองว่า จริงๆ แล้วมีเพียงพอหรือไม่ มารู้ตัวอีกทีกระเป๋าก็แบนแล้ว และยังตามมาด้วยยอดเรียกชำระของบัตรเครดิตอีกเป็นหางว่าว

what-this-debt-for-01

3. อย่าเอาใจตัวเองเกินจำเป็น


การตอบสนองเกินขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ตัวเองหรือคนที่รักได้ครอบครองสิ่งที่ชอบ ชนิดที่ต้องเกาะเทรนด์ใหม่เสมอ ทั้งที่ของเก่ายังใช้ได้อยู่ แม้เรื่องกินเรื่องเที่ยวก็ต้องเป็นที่สุด เช่น เมื่อมาร้านดังมีเมนูห้ามพลาดมาเปิด ก็ต้องออกไปแสวงหา ยินดีจ่ายไม่อั้นแม้ราคาแพง เพื่อแลกกับยอดไลค์ในอินสตราแกรม หรือบางคนเป็นสายเปย์ให้เหล่าไอดอลที่รัก จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนดาราคนโปรด อย่าลืมว่าความสุขทางใจนั้นอาจอยู่ไม่นาน แต่ที่คงทนกว่าคือ ภาระการเงินที่เกาะแน่นแบบสลัดทิ้งไม่ได้


4. อย่าเปย์จนเป๋เพื่อผู้อื่น


หลักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า การทำเพื่อผู้อื่น จะด้วยวิธีไหนย่อมสร้างความสุขได้มากกว่าการทำเพื่อตนเอง ค่าที่ได้ความอิ่มใจตอบแทน แต่อาการยอมจ่ายหนักจนเสียศูนย์มักจะมาจากความหน้าใหญ่ใจโตเกินพอดี อยากให้คนอื่นยอมรับเรา สิ่งนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเราสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ เช่น เดี๋ยวมื้อนี้เราขอเลี้ยงเอง หรือประเภทแพ้ลูกอ้อนของคนรักที่อยากได้ของใหม่ๆ ก็จะพาไปเลือกและเซ็นบัตรให้ทันที โดยไม่รู้เลยว่าเรากำลังตกเป็นหนี้จากการจับจ่ายเพื่อผู้อื่นที่เกินความจำเป็นแล้ว


5. สกัดความหลง เลี่ยงถูกลวง


ความรักไม่ได้ทำให้คนตาบอดเท่านั้น แต่ยังทำให้กระเป๋าฉีกได้ หากคุณไม่สามารถแยกให้ออกระหว่างคำว่า “รัก” หรือ “หลง” เพราะพลังของคำเหล่านี้แตกต่างกัน หากเข้าขั้นหลงจะเห็นอิทธิฤทธิ์ชัดเจน เมื่อมีการเอ่ยปากว่าอยากได้ อีกฝ่ายต้องเร่งไปสรรหามาโดยไม่ดูความสมเหตุสมผล คำว่าหลงแบบนี้เอง กลายเป็นภัยเงียบทางการเงินที่ทำให้คนเสียหายมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะแบบเต็มใจให้หลอก หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ

6. ระวังชีวิตจริงจะทิ้งสายเปย์


เวลาคนสองคนตกลงคบหาดูใจ อาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชอบคนใจถึงพึ่งได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึงเวลาต้องเลือกคู่ชีวิต เขาเหล่านั้นอาจจะไม่ปลงใจเลือกคนใจใหญ่ที่เห็นชัดๆ ว่าใช้จ่ายแบบมือเติบ พร้อมควักกระเป๋าแบบง่ายๆ แลกกับความสุขหวือหวาชั่วครู่ เพราะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน และดีไม่ดีอาจจะนำความใจถึงนั้นไปเผื่อแผ่ให้คนนอกบ้านอีก สายเปย์จึงต้องระวังให้ดีว่า เงินอาจไม่ได้ซื้อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนเสมอไป


7. อวสานของเจ้าบุญทุ่ม


การยอมจัดหนักย่อมมีจุดจบ หากไม่รู้จักข้อจำกัดของตัวเอง เช่น ต้นเดือนใช้จ่ายคล่องมือ แต่ปลายเดือนต้องหมุนเงินเป็นระวิง ส่วนเงินในบัญชีก็มีแต่ลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับวงเงินบัตรเครดิตที่เต็มวงเงินเกือบทุกใบ ถ้าใครเริ่มมีอาการแบบนี้ รีบหยุดพฤติกรรมใจใหญ่ไว้ก่อน หากเลี่ยงได้ให้ถอยห่างจากวงสังคมที่ใช้จ่ายหนักสักพัก เพื่อเยียวยาการเงินให้เข้มแข็งดีกว่า


8. กล้าปฏิเสธความต้องการเสียบ้าง


เราสามารถหยุดการเป็นสายเปย์ได้ เริ่มจากการหักห้ามใจตัวเอง และกล้าปฏิเสธคำขอของคนรอบข้าง ให้น้ำหนักกับเหตุผลที่จะซื้อมากกว่าแค่เพียงความถูกใจ หรือตั้งแนวคิดที่ชัดเจนไว้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเลิศหรู แต่ขอให้คุ้มค่าต่อการใช้งานระยะยาวแทน


การเป็นผู้ให้ความสุข ถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้เงินต้นคืนมา แต่ได้ความอบอุ่นทางใจตอบแทน แต่ต่อไปนี้ ลองทบทวนและถามตัวเองว่า สิ่งที่ได้รับคือความอิ่มใจแบบอมทุกข์ภายหลังหรือไม่ และลองหันมองดูวิธีอื่นที่จะสร้างความสุขให้กับคนที่คุณรักโดยไม่ใช้เงิน แต่สามารถสร้างคุณค่าทางใจได้มากกว่า และจะดีกว่ามั้ยถ้าเอาเงินมาลงทุนสร้างผลตอบแทนให้ชีืวิตมั่นคงในระยะยาว ด้วยการลงทุนผ่านแอป SCB EASY สะดวก ง่าย ครบในที่เดียว คลิกดูรายละเอียดที่นี่

ที่มา
https://tarkawin.com/2018/10/18/how-to-เปย์ผู้แบบผู้ฉลาด
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/stoping-paymaster-behavior
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/theen-dof-the-danger-of-the-money
https://moneyhub.in.th/article/how-to-stop-being-extravagant/