5 การสร้างคุณค่าแบบพิเศษกับเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับ

หากจู่ๆ วันหนึ่งเรามีเงินก้อนเข้ามาเพิ่มความหรูหราในยอดรวมเงินฝาก ไม่ว่าจะด้วยวาระพิเศษอย่างเงินถูกรางวัล เงินโบนัสที่ตอบแทนการทำงานอย่างหนักจนไมเกรนเรียกหามาทั้งปี หรือเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์เมื่อยามจำเป็น จงตระหนักไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วเงินเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาหาเราบ่อยๆ ดังนั้น ก่อนจะบั่นทอนออกมาจับจ่ายอะไร ควรมีวิธีการจัดการให้คุ้มค่า เพื่อจะได้ไม่ต้องมานึกเสียดายภายหลัง


1. จัดลำดับความสำคัญหนี้


ตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองก่อน เพราะปกติเราไม่ควรมีหนี้สินมากกว่า 50 % ของสินทรัพย์ทั้งหมด เมื่อสำรวจหนี้ทั้งหมดแล้ว ต้องแบ่งให้ชัดเจน ระหว่างหนี้ที่มีดอกเบี้ยเดินเร็วกับดอกเบี้ยคงที่ และสิ่งที่ควรทำคือเอาเงินก้อนพิเศษนี้ไปใช้หนี้ดอกเบี้ยที่พุ่งปรี๊ดปร๊าดก่อน เพราะหากมีการชำระหนี้แล้วสัดส่วนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยต้องลดลงไปด้วย เช่น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน ปลดทุกข์เหล่านี้ไม่ได้ รับรองว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนลงไปอีกมาก แล้วทำให้เรามีเงินเก็บระยะยาวที่พอกพูนเพิ่มขึ้น


2. เลือกให้ดี ให้เงินต่อเงิน หรือ โปะหนี้ เข้าท่ากว่า


หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือไม่ว่าจะมีการชำระเร็วเท่าไรแต่ดอกเบี้ยไม่ได้ลดลง แค่ให้ความรู้สึกว่าได้เป็นไทเร็วขึ้นเท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยในการซื้อรถ กับทางเลือกหนึ่งที่ใช้เงินต่อเงิน ผ่านการลงทุนในตราสารทางการเงินหรือตราสารทุนก่อน เพื่อเก็บผลตอบแทนจากการลงทุนไปเรื่อยๆ หรือได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ย เช่น ซื้อสลากออมสิน หุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่ทดลองสินทรัพย์ดิจิทัล โดยต้องพิจารณาตามบริบทของตัวเองว่าจะเลือกแบบไหน หากบางคนไม่อยากลากยาวกับภาระผ่อนส่ง ก็อาจจะเลือกโปะหนี้ก่อน แล้วค่อยมาลงทุนทีหลังก็ได้เช่นกัน


3. เพิ่มสำรองเงินฉุกเฉิน


เพื่อให้สถานะการเงินส่วนบุคคลไม่มีความเสี่ยงเกินไป ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ด้วยจากสถานการณ์โควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นแล้วว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้ แถมยังมากระทบชิ่งจนชีวิตบางคนอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อมีเงินเย็นส่วนนี้เพิ่มเข้ามา ควรแบ่งเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพิ่มเป็น 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนดีกว่า เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าเรื่องชวนตกใจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ในอนาคต

how-to-make-use-of-big-money-01

4. ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ต่อ


ถ้าเงินก้อนอวบอ้วนจนโอบอุ้มความฝันบางอย่างให้เป็นจริง ก็อาจจะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ที่ยังอยู่ในช่วงขาลง ค่อนข้างเป็นใจต่อการซื้อบ้านสักหลัง ยิ่งหากเป็นการลงทุนเพื่อให้ตัวเองหรือครอบครัวในอนาคตได้ก็ควรทำ เช่น การซื้อที่ดินเปล่าในบ้านต่างจังหวัด เผื่ออนาคตกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด หรือลงทุนซื้อตึกหรือพื้นที่ๆ เหมาะเป็นทำเลค้าขาย แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อนั้นต้องไม่รบกวนเงินประจำที่มีอยู่ หรือรบกวนน้อยที่สุด และพึงระลึกเสมอว่า ควรเป็นทำเลที่ดี ตอบโจทย์กับแผนการต่อยอดสร้างรายได้ให้งอกเงยในอนาคต


5. แบ่งปันบ้าง เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้


เพราะการให้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด ถือเป็นสิ่งที่สังคมยังต้องการอยู่มากในสมัยนี้ เชื่อเถอะว่าอย่างน้อยให้ไปเรายิ่งได้มา ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เบื้องต้นคือความอิ่มใจเป็นพื้นฐาน และอาจเป็นแรงสนับสนุนกำลังใจอย่างดีทุกครั้งในเวลาที่ท้อแท้ เพียงแต่ก่อนที่จะแบ่งปันกับที่ไหน ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนว่าทำไปแล้วตรงกับความต้องการของผู้รับ หรือไปถึงปลายทางที่เดือดร้อนจริงหรือไม่ โดยการให้เหล่านี้ ทำได้ทั้งในรูปแบบการบริจาคผ่านหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ หรือจะเป็นการหาข้อมูลเพื่อแบ่งปันกับผู้รับโดยตรง และการบริจาคบางแห่งยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย


เมื่อชีวิตหนึ่งเรามีโอกาสที่นอนกอดเงินก้อนพิเศษเข้ามาทั้งที ควรจะใช้โอกาสนี้สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคมได้มากที่สุด เพราะถือเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ทางกาย และจิตใจให้กับตัวเราแบบยั่งยืนด้วย


ที่มา
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/9-paying-debt-or-investing-first
https://wealthmeup.com/20-07-03-debtmanagement/?fbclid=IwAR3TewzJBtC9VYwDf6xcYG3SINAVS39lwvLCBY9fEU59Ax8Xs6XHWIqwLbU