The Show Must Go On! ก้าวต่อไปแห่งการเริ่มต้นใหม่ของทิฟฟานี่ โชว์

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่มีผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยว ยังส่งผลไปยังธุรกิจการแสดงที่อาศัยรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวเกือบ 100% อย่างทิฟฟานี่โชว์ ที่เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่เป็นที่รู้จักอย่างดีและเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย คุณอลิสา พันธุศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด เจ้าของธุรกิจทิฟฟานี่โชว์ พัทยา มาพูดคุยถึงกลยุทธ์การรับมืออย่างไรในวันที่นักท่องเที่ยวเกือบเป็น 0 จากการล็อคดาวน์ประเทศ อุตสาหกรรมบันเทิงและธุรกิจการแสดงจะมูฟออนอย่างไร ความหวังหลังมาตรการผ่อนปรน จะทำให้เริ่มใหม่อีกครั้งได้หรือไม่  พบกับมุมมองจากผู้นำองค์กร และความท้าทายในการมองหาโอกาสเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจที่เรียกว่าใครหาเจอก่อนได้เปรียบ ร่วมเสวนาโดย คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)

tiffanyshow-scbtv-02

ผู้บุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยว-บันเทิงเมืองพัทยา


พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และการแสดงทิฟฟานี่โชว์ ก็เป็นหนึ่งความบันเทิงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างชื่อเสียงให้พัทยามายาวนานกว่า 46 ปี คุณอลิสาหรือคุณจ๋า กล่าวถึงธุรกิจในเครือ PTS Holding Group จำกัดที่บริหารงานโดยครอบครัวว่านอกจากทิฟฟานี่ โชว์แล้ว ยังมีธุรกิจโรงแรม Woodland Hotel & Resort, Woodland Suites Service Residence ธุรกิจร้านอาหาร La Baguette ฯลฯ รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจหลักอยู่ในพัทยาและเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง จึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด-19

คุณจ๋าเล่าถึงเหตุการณ์ตอนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมาว่าได้ตัดสินใจปิดธุรกิจในเครือก่อนจะมีคำสั่งปิดจากทางการ  ยกตัวอย่างการแสดงทิฟฟานี่โชว์ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวโดยตรง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าชมเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องป้องกันพนักงาน จึงตัดสินใจปิดเองก่อนถูกสั่งปิดล็อกดาวน์ 1 สัปดาห์ ในความคิดของคุณจ๋าคือ กลัวเรื่องการติดไวรัสโควิดมากกว่ากลัวว่าจะขาดทุน เนื่องจากถ้ามีการติดเชื้อก็จะส่งผลต่อชื่อเสียง ประจวบกับที่ในเวลานั้น จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงกว่า 50% เพราะเขาก็ป้องกันตนเอง บรรยากาศขณะนั้นก็ไม่มีใครสบายใจทั้งทางฝั่งนักท่องเที่ยว และทีมงาน แม้ว่าจะป้องกันเต็มที่ มีการซื้อแมสก์แจก ฯลฯ อันที่จริงแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มลดลงตั้งแต่ปลายปี 2019 เนื่องมาจากเศรษฐกิจซบเซา กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปลดลง  เหลือแต่นักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนใหญ่  จากประสบการณ์ของคุณจ๋า แม้จะเคยเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติก่อนหน้านี้อย่างตอนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวจีนไม่มาเพราะเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่เหตุการณ์โควิดครั้งนี้ทำให้ต้องหยุดดำเนินธุรกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี ก่อนหน้านี้ไม่เคยเปิดเลยเพราะมองว่าเป็นการเสียโอกาส เสียลูกค้า แต่คราวนี้ถึงที่สุดแล้ว และที่สำคัญบริษัทคำนึงถึง Stakeholder คือทีมงานที่ต้องเผชิญความเสี่ยง มากกว่าผลกระทบที่อาจเกิดกับบริษัท

หลังจากหยุดการแสดงทิฟฟานี่โชว์ ก็ปิดในส่วนธุรกิจโรงแรมเนื่องจากแขกมาเข้าพักน้อยลง ซึ่งในช่วงที่ปิดก็ได้ย้ายแขกที่เข้าพักใหม่แล้วให้ไปพักที่ Woodland Suites Service Residence ที่เป็นที่พักแบบ Long Stay มีการจัดพื้นที่รวมถึงสวนพักผ่อนหย่อนใจกลางแจ้งให้บริการลูกค้า ร้านอาหารก็ปิดเลยเพราะเกรงว่าอาจเกิดปัญหาด้านการบริการ สรุปแล้วในช่วงล็อกดาวน์ได้ปิดธุรกิจทั้งหมด คุณจ๋ามองผลจากวิกฤตครั้งนี้ว่า แม้ว่าธุรกิจในเครือจะเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีการกระจายความเสี่ยงเรื่องกลุ่มลูกค้าเอาไว้ เช่น ธุรกิจโรงแรมเน้นลูกค้ายุโรป  ทิฟฟานี่โชว์ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย เช่น จีน เกาหลี อินเดีย เวียดนาม ฮ่องกง รวมถึงรัสเซีย ธุรกิจร้านอาหารเน้นลูกค้าคนไทย คนต่างชาติ Expat ที่อยู่ในพัทยา แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจของบริษัท

ธุรกิจพัทยาฟื้นตัวแล้วหรือยัง?


สำหรับสถานการณ์พัทยาในขณะนี้ คุณจ๋ามองว่ายังไม่ฟื้นตัวและน่าจะฟื้นตัวยาก  แม้ว่าช่วงมิถุนายนหลังล็อกดาวน์ผู้คนจะเริ่มออกเที่ยว แต่เดือนกรกฎาคมก็เริ่มลดลง โดยคนที่ยังคงท่องเที่ยวได้คือกลุ่มคนที่รายได้สูง ที่เคยไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย คนกลุ่มนี้ยังคงเป็นลูกค้าที่ดีของการท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้น โรงแรมที่ขายดีจะเป็นโรงแรม Chain Hotel มีชื่อเสียง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม เช่นห้อง Pool Villa, Beach Access ที่ตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ ในความเห็นของคุณจ๋า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถกระจายไปได้ทุกที่ ร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปิด ร้านอาหารระดับกลาง-บนน่าจะอยู่ได้ แต่นอกนั้นยังคงลำบาก ร้านที่รองรับกรุ๊ปทัวร์ต้องปิดเลยเพราะไม่มีลูกค้า ลูกค้าที่เลือกร้านอาหารก็จะนิยมร้านที่มี Branding ที่ดี ซึ่งร้านที่ไม่ได้ทำ Branding ไว้ก็จะลำบากกับสถานการณ์ปัจจุบัน


ดังนั้นในความเห็นคุณจ๋า คือธุรกิจในพัทยายังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง วันนี้ธุรกิจในพัทยายังเปิดอยู่ 30% แต่อีก 70% ยังคงปิดอยู่ ทั้งนี้โดยพื้นฐานแล้วประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการ ไม่ได้เป็นผู้บริโภค ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวไม่มาก็จะลำบาก  สังเกตจากร้านอาหารในพัทยา ถ้าไม่ได้นักท่องเที่ยวก็จะอยู่ยากมาก เพราะคนทำงานในพัทยาเองก็ไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะอุดหนุนร้านอาหาร จึงต้องรอนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อ ดังนั้นร้านอาหารที่เปิดได้จึงเป็นระดับกลางขึ้นไป และขายได้เฉพาะช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ช่วงวันกลางสัปดาห์ก็ค่อนข้างเงียบ สรุปแล้วนักท่องเที่ยวไทยยังไม่พอที่จะทำให้พัทยากลับมาคึกคักเหมือนเดิมได้ เพราะพัทยาเติบโตมาจากการท่องเที่ยว มาถึงจุดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงมาก

ปรับตัวอย่างไรในช่วงวิกฤต?


จากที่แต่ละธุรกิจมีส่วนที่สนับสนุนกัน เช่น ห้องครัวของโรงแรมเป็นครัวกลางส่งอาหารให้ร้านอาหาร เมื่อโรงแรมปิด จึงให้ครัวโรงแรมมาทำธุรกิจอาหาร โดยเน้นขายทาง Delivery แต่กำลังซื้อในพัทยาไม่พอ ไม่เหมือนกับที่กรุงเทพฯ ซึ่งโชคดีที่คนกรุงเทพรู้จัก La Baguette และเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวก็ต้องมา La Baguette จึงนำจุดแข็งของ La Baguette มาทำ Delivery ในกรุงเทพ และเพิ่มโปรดักส์ที่ทำในบ้านได้ อย่างครัวซองท์โดว์ สำหรับคนที่ทำอาหารที่บ้าน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีมาก มียอดขายถึงพันชิ้นต่อวัน ต้องนำพนักงานร้านอาหารอื่นมาเรียนรู้ทำครัวซองค์โดว์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะส่งขายให้ทัน  แล้วยังได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรมาทำงานสนับสนุนการขาย Delivery เช่น เซลส์โรงแรมมาทำด้านคอมมิวนิเคชั่น เป็นต้น กล่าวคือนำพนักงานมาช่วยกันทั้งหมด โดยในช่วง 3 เดือนนั้น ทำได้รายได้ได้เท่าไรก็นำมาช่วยพนักงานทั้งหมดเพื่อให้เขาอยู่ได้ และเป็นช่วงเวลาที่ต้องคิดค้นบริการใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอด  ในส่วนธุรกิจโรงแรม สถานการณ์ดีขึ้นเฉพาะช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 40% ซึ่งโรงแรมที่เปิดอยู่คือ Woodland Suites Service Residence ที่เป็น Long Stay ส่วนโรงแรมที่ปิดอยู่ก็ปรับปรุงใหม่ให้หมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต เพื่อการมองข้ามช็อตไปกลุ่มลูกค้า Aging Society

ทางด้านทิฟฟานี่ โชว์ แม้จะปิดการแสดง 100% แต่ก็มีใช้สถานที่จัดทำสัมมนาและมีการจัดโชว์แบบ Private Group แต่ดีมานด์ตรงนี้มีไม่มาก เพราะกลุ่มโรงแรมก็ทำตลาดสัมมนาอยู่แล้ว ประกอบกับที่การทำอีเวนท์โดยรวมทั่วประเทศลดลงและเปลี่ยนมาเป็นแบบออนไลน์ โดยถึงแม้จะไม่ได้เปิดแสดงแต่ทีมนักแสดงก็ยังมาซ้อมเรื่อยๆ เป็นการฝึกซ้อมร่างกาย ซึ่งในบรรดาทีมงานทิฟฟานี่โชว์กว่า 200 ชีวิต ประกอบด้วยนักแสดงกว่า 100 คน และทีมงาน Specialist เบื้องหลัง คุณจ๋าก็ไม่ให้ทีมโชว์คนไหนออกเลย เพราะเป็นทีมงานที่อยู่กันมานาน แต่ละคนอยู่มาไม่ต่ำกว่า 8 ปี และพวกเขาเหล่านี้มีความเป็นศิลปิน เป็น specialist เชี่ยวชาญงานด้านนี้และรักในสิ่งที่เขาทำ หลายคนเป็นครูสอนที่ช่วยหล่อหลอมวัฒนธรรมความเป็นทิฟฟานี่โชว์ ซึ่งเป็นการแสดงสาวประเภทสองเจ้าแรกของโลก มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร มีจุดเริ่มต้นจากการแสดงโชว์ที่บาร์ในพัทยาใต้ แล้วคุณสุธรรม พันธุศักดิ์ คุณพ่อของคุณจ๋าได้ไปเห็น แล้วมีไอเดียว่าพัทยาไม่ควรมีแค่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติแค่ชายหาด ทะเล แสงแดดเท่านั้น แต่ต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวประเภทเอนเตอร์เทนเมนท์ด้วย จึงชักชวนคณะทิฟฟานี่มาเช่าโรงละครเปิดการแสดง ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกเกือบจะปิดตัวลงเพราะคณะไม่ถนัดเรื่องการหาลูกค้าเข้าชม คุณสุธรรมจึงตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนธุรกิจทำการตลาดช่วยทิฟฟานี่ โชว์จนประสบความสำเร็จ โดยชูจุดเด่นต่างๆ เช่น นักแสดงสาวประเภทสองสวยที่สุด เนื้อหาโชว์มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีประกอบเทคนิคการแสดง เป็นโชว์ที่มีเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงให้พัทยา

แนวทางกลยุทธ์หลังโควิด


จากที่เริ่มธุรกิจทิฟฟานี่ โชว์ ต่อมาก็ต่อยอดจัดเวทีประกวด Miss Tiffany’s Universe เพื่อสร้างแบรนด์และขยายต่อมาเป็นการประกวด International Queen คุณจ๋ามองย้อนหลังถึงการทำธุรกิจที่ผ่านมาว่า แต่ก่อนงานที่ทำมีเยอะมากจึงไม่มีเวลาคิดแก้ไขอะไรใหม่มากนัก แต่เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ก็ได้กลับมาทบทวนพัฒนาธุรกิจของตัวเองและคิดว่าอะไรที่ซ้ำๆ ก็น่าเบื่อสำหรับนักท่องเที่ยว จึงมีความคิดที่จะสร้างโชว์ใหม่ด้วยแนวคิด Undeniable เป็นโจทย์การสร้างคอนเทนท์ใหม่ที่ผสมผสานเรื่องราวกับความบันเทิงให้ก้าวไปอีกระดับให้เป็น Local Show คุณภาพระดับสากลให้คนบอกต่อว่าเราเป็นที่แรกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกเพศเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้โอกาสและให้การยอมรับ เห็นคุณค่าในความแตกต่าง เป็นการเล่าเรื่องความยากลำบากของการสร้างการยอมรับในอดีต ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ทิฟฟานี่ โชว์ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่เป็นสถาบันที่สร้างความเท่าเทียม การให้โอกาสและการยอมรับเพศทางเลือก ดังที่คุณจ๋ามุ่งมั่นทำมาตลอดกว่า 20 ปีที่ก่อตั้งเวทีมิสทิฟฟานี่มา และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคุณสุธรรมที่สอนมาตลอดในเรื่องการให้โอกาส ซึ่งต้องมองเห็นโอกาสของเราในการทำธุรกิจด้วยจึงจะวิน-วินทั้งสองฝ่าย และสิ่งนี้กลายมาเป็นปรัชญาของธุรกิจของทิฟฟานี่ โชว์ที่นำไปสู่การสร้าง Status ในสังคมที่เท่าเทียมกัน

คุณจ๋าเล่าถึงสมัยคุณสุธรรมบุกเบิกทิฟฟานี่ โชว์ว่าแต่ก่อนขายโชว์ยากมาก เพราะคนมองว่าเราแปลก เหมือนจะไปขายโชว์ของแปลก แต่ก็สามารถทำได้มาถึงปัจจุบัน โดยเราต้องทำโปรดักส์ให้ดีให้คนอื่นยอมรับ รวมถึงสร้างเวทีมิสทิฟฟานี่ที่ให้โอกาสคน จากเมื่อก่อนพ่อแม่ไม่ยอมรับ พอมาเป็นมิสทิฟฟานี่พ่อแม่ยอมรับ ขณะเดียวกันพ่อแม่ยุคใหม่ก็รู้สึกว่าการมีลูกเป็นเพศที่ 3 ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และสนับสนุนให้เขาเติบโตเป็นคนมีความสามารถ ไม่ใช่กีดกันจนปิดบังความสามารถของเขา จากนั้นก็นำมาต่อยอดได้ทุกเรื่อง เช่นเวที Miss International Queen ที่มีสาวประเภทสองจากประเทศต่างๆ มาร่วมประกวด เมื่อได้ตำแหน่งกลับไปประเทศของเขา กลายเป็นว่าประเทศนั้นๆ ก็ยอมรับคนของเขาจากเวทีของเรา ตำแหน่งที่ได้จากเวทีของเราช่วยทำให้ชาติอื่นยอมรับคนของเขา จากเมื่อก่อนมีความสามารถแต่ไม่มีตำแหน่ง คนก็ไม่ยอมรับ จากสิ่งที่ทำมาตลอด 20-30 ปี ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็กลับมาสู่องค์กรเรา  ผู้คนให้การยอมรับและสนับสนุน มองว่าสิ่งที่ต่างเป็นสิ่งที่ดี และเราก็จะทำสิ่งนี้ต่อไป รวมถึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้โชว์ด้วย  นอกจากเรื่องของ Content แล้ว จะมีการพัฒนางานเซอร์วิสให้ดีขึ้น ติดตั้งระบบซอฟท์แวร์ใหม่เพื่อรองรับอนาคต Contactless ลดภาระทีมงานให้สามารถทำงานสะดวกและง่ายขึ้น แล้วมามุ่งเน้นพัฒนาเรื่อง Service Mind ให้ดีขึ้น


ทิฟฟานีมีโอกาสทำโชว์ทางออนไลน์หรือไม่? คุณจ๋ามองว่าช่องทางออนไลน์ว่าเป็นแพล็ตฟอร์มที่ใช้สื่อสารเรื่อง Branding และรักษา Engagement กับลูกค้าด้วยการนำคอนเทนท์เดิมที่มีอยู่แล้วมารีรันผ่านทางออนไลน์มากกว่าจะทำ Live เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนที่ใช้สร้างโชว์ใหม่ ทั้งนี้การสื่อสารกับลูกค้าที่ใช้ในทุกเพจ เช่น Miss Tiffany’s Universe, Miss International Queen ฯลฯ ยังเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน สร้างฐานแฟนใหม่ รวมถึงได้เสียงตอบรับจากกลุ่ม LGBT ไทย ซึ่งเรานำมาคิดตอบโจทย์ใหม่ว่าคนไทยชอบอะไร และนำมาพัฒนาเพื่อขยายตลาดลูกค้าคนไทย โดยทีมงานมีการประชุมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่จะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง

สำหรับธุรกิจอื่น คุณจ๋าก็เห็นโอกาสลงทุนใหม่เพื่อขยายธุรกิจด้านอาหารมากขึ้น เช่น ไอเดีย Strategic Location ใหม่ แนวคิด Ghost Kitchen ที่ขายอาหารโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน โดยเพิ่มการขาย Delivery มากขึ้น เน้นการสร้าง Chanel สื่อสารและช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น แพล็ตฟอร์ม e-Commerce  LINE ของร้าน และ LINE ของตัวเอง เป็นต้น


คุณจ๋ากล่าวสรุปว่าทุกปีธุรกิจต้องพัฒนา จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะการอยู่เฉยๆ คือการถดถอย จึงต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ตลอดระยะเวลา 46 ปี ธุรกิจดำเนินมาได้เพราะนักแสดงและทีมบริหาร เป็นสิ่งที่สะสมกันมาและเป็นจุดแข็งที่ทำให้อยู่รอดทุกวันนี้ โดยคุณพ่อสร้างรากฐานไว้ คุณจ๋านำมาต่อยอดเรื่องศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม ความเป็นมืออาชีพ ผนวกกับความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานสร้างองค์กรให้เติบโตมาถึงทุกวันนี้


ติดตามชม SCBTV BEGIN AGAIN เดอะซีรีส์ ตอนที่ 3 “Move on with the New Hope” เจาะอนาคตธุรกิจการแสดง กับความหวังในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยคุณอลิสา พันธุศักดิ์ บริษัททิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด ที่นี่


เครดิตภาพ : Facebook Tiffany's Show Pattaya