ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
กลยุทธ์ผจญคลื่นโควิดด้วยวิธีคิดบวก
“โควิดก็แค่โลว์ซีซั่นที่มาเร็วขึ้น” เพราะคิดบวกจึงผ่านข้อจำกัดมาได้ มาฟังวิธีผจญคลื่นโควิดด้วยวิธีคิดบวก สร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส จากผู้บริหารโรงแรมสาวรุ่นใหม่ ที่เอาชนะคลื่นโควิดด้วยการปรับวิธีคิดและการบริหารทีม กับคุณพิชญา พงษ์ชีพ ผู้บริหาร Koh Kood Paradise Beach แล้วคุณจะพบว่าแค่ปรับวิธีคิดวิกฤตก็เปลี่ยนเป็นโอกาสได้
จากสาวนักเรียนนอกสู่การบริหารโรงแรมบนเกาะ Exotic
จากจุดเริ่มต้นธุรกิจการเกษตรของครอบครัว และธุรกิจการผลิตหัวสปริงเกอร์และธุรกิจขายท่อน้ำ แต่ด้วยการเห็นการไกลและเพื่อกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ครอบครัวของคุณพิชญาจึงหันมาทำธุรกิจโรงแรมโดยเริ่มต้นที่เกาะช้างกับกิจการเล็กๆ ทำห้องน้ำรวมและพื้นที่ให้คนกางเต้นท์นอน แล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เริ่มจากบังกะโล 19 หลัง เป็น 54 หลัง และเริ่มขยายสถานที่ให้ใหญ่ขึ้น จนสุดท้ายพัฒนาเป็นพูลวิลล่า ซึ่งตอนนั้นคุณพิชญายังเรียนอยู่ หลังเรียนจบจากประเทศอังกฤษ คุณแม่จึงถามว่าอยากทำอะไรจะทำธุรกิจร้านขายท่อมั้ยหรือจะเลือกทำงานโรงแรมบนเกาะ เธอเลือกทำธุรกิจโรงแรมเพราะเรียนจบมาด้านนี้ ประกอบกับมองเห็นอนาคตว่าถ้าทำธุรกิจโรงแรมและวางระบบให้ดีแล้ว โรงแรมจะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้โดยที่ตัวเธอไม่ต้องอยู่ที่นั่นตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถทำสิ่งที่ชอบคือการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับทำงานไปในตัว นั่นคือการท่องเที่ยวเพื่อหาข้อมูลแนวคิดใหม่ๆ มาพัฒนาโรงแรมนั่นเอง ในขณะที่ถ้าขายอุปกรณ์ท่อน้ำเจ้าของจะต้องอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเพราะลูกค้ามักมีคำถามต่างๆ และต้องการคุยกับเจ้าของร้าน
เมื่อเลือกแล้วคุณแม่จึงชวนไปดูที่ที่เกาะกูดซึ่งในตอนนั้นยังแทบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่ดีนัก ไฟก็ยังต้องปั่น เรือที่จะไปเกาะก็ยังเป็นเรือไม้ รวมทั้งคนไทยเองก็แทบไม่รู้จักเกาะกูด นักท่องเที่ยวที่ไปส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกจากแถบสแกนดิเนเวียร์ ซึ่งวันนั้นกว่าจะไปถึงเกาะก็แทบเอาชีวิตไม่รอดเพราะวันที่ไปมีมรสุมแต่สุดท้ายก็ไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย และเมื่อก้าวเท้าลงที่เกาะกูดคุณพิชญาก็พบว่ามันคือสวรรค์เพราะน้ำใสไม่แพ้ทะเลทางใต้ อากาศดีมากและยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Koh Kood Paradise Beach
เปลี่ยนเกาะชีวิตเปลี่ยน ทำโรงแรมบนเกาะใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
คุณพิชญาเล่าว่าเกาะกูดต่างกับเกาะช้างมากที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าเข้าถึงง่าย อยากได้อะไรก็หาได้ ส่วนเกาะกูดตอนที่เริ่มสร้างโรงแรมมีแต่เรือไม้ ไฟก็ยังต้องปั่นเอง ตอนก่อสร้างต้องเช่าเรือบาร์จเพื่อขนปูนทรายวัสดุก่อสร้างต่างๆ ซึ่งก็ไม่สามารถจอดตรงจุดก่อสร้างเลยได้ต้องจอดเรือในจุดที่ไกลออกไป แล้วต้องใช้รถไปขนอีกที ทำให้มีค่าขนส่งเยอะมาก ยิ่งไปกว่านั้นการหาพนักงงานมาทำงานบนเกาะก็ยากมาก เพราะตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักเกาะกูด จนหน้าที่หลายๆ อย่างเธอต้องทำกันเองกับน้องชาย งานหนักจนถึงกับต้องร้องไห้เสียน้ำตาอยู่บ้าง จนคุณแม่ถามว่า “มีกี่มือ มีกี่ขา คนอื่นก็มีเหมือนกัน เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ เราเรียนมากกว่าคนอื่น เห็นอะไรมามากกว่าคนอื่น เราต้องทำได้มากกว่า” จึงฮึดสู้ใหม่ และขยายโรงแรมจากเดิมมี 29 ห้อง มาเป็น 70 ห้อง แต่เมื่อหน้าโลว์ซีซั่นหรือหน้ามรสุมมาเยือนเคยมีลูกค้าเพียงแค่ 5 ห้อง จาก 70 ห้อง บางโรงแรมบนเกาะกูดถึงกับปิดในช่วงมรสุม เพราะเปิดไปก็ไม่คุ้มกับการที่ต้องปั่นไฟเพราะตอนนั้นบางโรงแรมยังไม่มีน้ำไฟ 24 ชั่วโมง แต่เกาะกูดพาราไดซ์ บีช ยังเปิด เธอลองโทรถามโรงแรมอื่นว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางโรงแรมถึงกับไม่มีลูกค้าเลย ก็ยังใจชื้นขึ้นบางที่อย่างน้อยก็ดีกว่าหลายโรงแรม
ต่อสู้กับโควิดด้วยวิธีคิดบวก
เมื่อโควิดมาเยือนตราดปิดจังหวัด คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า นั่นเป็นครั้งแรกที่คุณพิชญาต้องอยู่บนเกาะกูดหนึ่งเดือนเต็ม โดยตลอดหนึ่งเดือนคิดตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้โรงแรมมีรายได้ จึงเริ่มจากการนำมังคุดที่สวนของที่บ้านมาขายออนไลน์ รวมทั้งรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ทำได้อะไรไม่ใช้ก็ปิด ตู้เย็นเครื่องไหนไม่ใช้ถอดปลั๊ก และทำการตลาดโดยการขายวอชเชอร์ เพราะการบริหารกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ เคยถามพนักงานว่าถ้าขายวอชเชอร์ไม่ได้โรงแรมจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ จะดูแลพนักงานได้นานแค่ไหน เพราะรัฐปิดจังหวัดแต่ไม่ได้สั่งปิดโรงแรมดังนั้นพนักงานจะไม่ได้เงินชดเชยจากประกันสังคม
จนวันที่สามารถบริหารจิตใจตัวเองได้ก็มาถึง ณ โมเมนท์ที่คุณพิชญานั่งอ่านหนังสืออยู่ริมทะเล ก็เกิดความคิดบวกว่าก็ถือว่า โควิดคือช่วงโลว์ซีซั่นที่มาเร็วกว่าปกติ โควิดคือการพักร้อน ซึ่งปกติโลว์ซีซั่นคือช่วงมรสุมในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เมื่อสมองคิดบวกไอเดียต่างๆ ก็จุดประกายขึ้นมา จึงเรียก GM และพนักงานบอกว่าจะทำการรีโนเวทโรงแรมในช่วงนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแค่ทำเร็วขึ้นเท่านั้น จึงขอให้พนักงานช่วยกันทำงานอื่นๆ แบบ Multi task คือให้พนักงานช่วยกันรีโนเวทโรงแรม โดยไม่ได้จ้างคนนอกเลยพนักงานทำเองทั้งหมด ซึ่งทุกคนก็ร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี ซึ่งจริงๆ กลายเป็นข้อดีเพราะว่าการรีโนเวทในช่วงหน้าร้อนทำงานง่ายกว่าในหน้าโลว์ซีซั่นจริงที่เป็นหน้าฝน ในตอนนั้นคุณพิชญาต้องลดเงินเดือนพนักงาน ดังนั้นพนักงานคนไหนมีความจำเป็นต้องไปทำงานอื่นในช่วงนี้เพื่อหารายได้เพิ่ม เธอก็เปิดโอกาสให้โดยไม่มีการปิดกั้น มีการเรียกพนักงานมาคุยและมีทางเลือกต่างๆ ให้เพื่อให้พนักงานเลือกวิธีที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด คุณพิชญาบอกกับพนักงานว่า “ขอโทษที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนยิ้มได้เหมือนเมื่อก่อน” แต่ในวิกฤต ก็มีความโชคดี เพราะเธอพบว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเยอะก็ได้ เพียงสร้างแรงจูงใจให้เขาทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็พบว่าพนักงานทำได้
วิธีรับมือการเปิดล็อคดาวน์
ในช่วงแรกคุณพิชญาก็ยังหวั่นใจว่าจะเปิดโรงแรมเลยดีหรือไม่ แต่เพราะได้กำลังใจจากลูกค้าผ่าน Facebook เพจ ที่คอยอัพเดท อยู่ตลอดเวลา การสื่อสารกับลูกค้าจึงยังคงต่อเนื่อง และยังใช้ไลน์กรุ๊ปสื่อสาร อัพเดทกับพนักงานอยู่ตลอด เพราะถ้าจะเปิดโรงแรมพนักงานก็ต้องมีพร้อม นอกจากนั้นยังรับคำแนะนำจากภาครัฐในการรับมือกับโควิดว่าเมื่อเปิดแล้วจะต้องปฏิบัติหรือเตรียมตัวอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคทั้งตัวพนักงานเองและลูกค้า ต้องทำให้สมดุลทั้งความสุนทรีย์และความปลอดภัย รวมทั้งต้องปรับกลยุทธ์เน้นลูกค้าคนไทยเพราะต่างชาติยังมาไม่ได้ นอกจากนั้นในขณะที่โรงแรมอื่นจะเปิดวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แต่คุณพิชญาเลือกเปิดวันที่ 26 กรกฎาคม เพราะคิดว่าเป็นการ pre-opening เพื่อเตรียมตัวก่อนแต่กลายเป็นว่าลูกค้าเต็มและถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะเปิดก่อนก็ได้ลูกค้าก่อน รวมทั้งด้านการตลาดก็มีการอัดโปรโมชั่นอย่างเต็มที่เช่น ซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีจนไม่มีห้องพอรองรับความต้องการ
การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าหลังโควิด
คุณพิชญาเล่าว่าเมื่อก่อน OTA เช่น การจองผ่าน Agoda หรือ Booking จะเยอะมาก ขายตรงได้น้อย แต่หลังโควิดกลายเป็นตรงกันข้ามคือมีการจองตรงกับโรงแรมเยอะกว่า เพราะลูกค้าต้องการความมั่นใจว่าโรงแรมเปิดแน่นอน ต้องการสอบถาม ซึ่งมีคำถามเข้ามาเยอะมากจนพนักงานตอบไม่ทัน จนต้องทำ Q&A ให้ลูกค้าสามารถหาคำตอบในคำถามทั่วไปได้เองก่อน นอกจากนั้นพบว่าการท่องเที่ยวเป็นครอบครัวมากขึ้นโดยมากถึง 60% ของผู้เข้าพัก รวมทั้งการมาเที่ยวเป็นกลุ่มเพื่อนจะเยอะมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคู่รักสัดส่วนน้อยลง ซึ่งเมื่อกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับตัวให้ทัน
ส่งกำลังใจถึงผู้ประกอบการ
คุณพิชญาฝากไว้ว่าต้องมองโลกในแง่ดี มองให้สวยเข้าไว้ ลองสำรวจดูว่ามีช่องทางไหนให้เราเดินได้บ้าง ถ้าเราผ่านไปได้ก็เหมือนเป็นกำไรชีวิต และต้องบริหารกระแสเงินสดให้ดีเพื่อให้อยู่ได้ยาว รวมทั้งมองหาแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำเช่น Soft loan ที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วย SME แต่ถ้ากระแสเงินสดไม่พอจริงๆ และไม่เข้าเกณฑ์ของ Soft loan ก็สามารถพึ่งธนาคารเพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน
แค่เปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยน การพูดคุยกับคุณพิชญาทำให้เราเห็นว่าเพียงแค่ปรับความคิด ปรับจิตใจตัวเราเองให้มองในมุมบวก โควิดก็เป็นเพียงแค่การพักร้อนหรือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นที่มาเร็วกว่าเดิม ซึ่งทำให้ได้มีเวลาพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เราทำให้พร้อมที่จะส่งมอบความอิ่มเอมให้ลูกค้าได้เต็มที่เมื่อฤดูแห่งความสุข ฤดูแห่งการท่องเที่ยวกลับมาเยือนอีกครั้ง เมื่อเราไม่มีกำลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใหญ่ๆ ได้ ก็เปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเราเองก่อน เพียงเท่านี้ไอเดียที่จะใช้ต่อสู้กับปัญหาก็จะพรั่งพรูออกมา
#เกาะกูดมันกู๊ดมาก
ที่มา : SCBTV
The Next Destination จุดหมายต่อไปของธุรกิจท่องเที่ยว:กลยุทธ์ผจญคลื่น
ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 30 มิถุนายน 2563