สามพรานโมเดล : ต้นแบบการท่องเที่ยวแบบ Organic Tourism สร้างความยั่งยืนสู่สังคม

จากธุรกิจครอบครัวผู้ร่วมบุกเบิกการท่องเที่ยวของประเทศไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ  คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน ทายาทรุ่นที่ 3 ของสวนสามพรานในยุคเปลี่ยนผ่าน ได้เปลี่ยนธุรกิจโรงแรม/สถานที่ท่องเที่ยวที่คุ้นตาคนไทยมานานหลายสิบปี ให้เป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชาวเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักปลอดสารเคมี  และมุ่งมั่นยึดแนวทาง Organic Tourism ขับเคลื่อนสังคม เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ได้ผลตอบแทนดีจากการทำสิ่งที่ดี (Do Well and Do Good) ตามแนวคิดการตลาดสมัยใหม่

 ธุรกิจ “สวนสามพราน” ในมือทายาทรุ่นที่ 3

จุดเริ่มต้นของสวนสามพรานนับย้อนหลังไปในปีพ.ศ. 2505 ที่คุณตาคุณยายของคุณอรุษซื้อที่ดินผืนงามริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งคุณยายก็เปลี่ยนให้เป็นแปลงสวนกุหลาบปลูกส่งขาย จากนั้นก็ได้เปิดร้านอาหารขายผัดไทและไอศกรีมกะทิ เริ่มมีผู้คนมาท่องเที่ยวและเรียกสวนแห่งนี้ว่า “โรส การ์เดนท์” ที่เราคุ้นหูกันดี และจากการที่คุณยายได้ซื้อบ้านเรือนไทยจากชาวบ้านมาปลูกสร้างใหม่ในพื้นที่ 7 หลัง ซึ่งเรียกว่าหมู่บ้านไทย (Thai Village) ประกอบกับการท่องเที่ยวไทยเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยมีตลาดน้ำดำเนินสะดวก เป็นแหล่งท่องเที่ยงโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้สวนสามพราน เข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ในยุค 70 สวนสามพรานเป็นจุดแวะพักทานอาหารของนักท่องเที่ยวที่มาทัวร์เที่ยวตลาดน้ำ พร้อมชมโชว์การแสดงที่หมู่บ้านไทย ในช่วงที่ธุรกิจเฟื่องฟูมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 2,000 คนต่อวัน


อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังมาที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากขึ้น และกิจกรรมท่องเที่ยวลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายไปในที่ต่างๆ นักท่องเที่ยวเริ่มบางตาลง ในฐานะทายาทสวนสามพรานรุ่นที่ 3 คุณอรุษจึงต้องคิดหากลยุทธ์กู้สถานการณ์ธุรกิจของครอบครัว 

“เกษตรอินทรีย์” คือจุดเปลี่ยน

จากที่คุณอรุษมีความสนใจเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จึงมีความคิดที่จะปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่อีกฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับสวนสามพราน ซึ่งคนสวนโรงแรมไม่เชี่ยวชาญการปลูกเกษตร ทางคุณอรุษจึงไปพูดคุยขอความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นการเปิดโลกใหม่ให้คุณอรุษตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องซื้อผลิตผลทางการเกษตรผ่านพ่อค้าคนกลาง?” เพราะเกษตรกรในพื้นที่ก็สามารถผลิตผักผลไม้ส่งให้สวนสามพรานได้ เกิดเป็น “ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม” ที่ได้รับรองมาตรฐานสากล โดยคุณอรุษและทีมงานสวนสามพรานทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชผักออร์แกนนิก และทางโรงแรมสวนสามพรานก็รับซื้อมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพแขกที่มาเข้าพัก พร้อมกันนั้น คุณอรุษได้ริเริ่มให้ในสวนสามพรานมีกิจกรรมสร้างประสบการณ์ (Hand-on Experience) เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับนักท่องเที่ยว  โดยปรับเปลี่ยนหมู่บ้านไทย จากเดิมที่ใช้แสดงโชว์ มาเป็น “Patom Organic Village” จัดกิจกรรมแปรรูปผลิตผลเกษตรอินทรีย์ที่เน้นให้คนมาเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำ  รวมไปถึงการเปิดตลาดสุขใจ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ติดกับตัวหมู่บ้านไทย ที่ให้เกษตรกรมาเปิดแผงขายพืชผลออร์แกนิก ซึ่งคนที่มาเที่ยวตลาดสุขใจก็มาเที่ยวสวนสามพรานด้วย ถือเป็นจุดขายของโรงแรม และเกษตรกรก็มีรายได้จากการขายของที่ตลาดสุขใจนอกเหนือจากส่งผลผลิตให้โรงแรม

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นจุดเปลี่ยนให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น จากเดิมที่การใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร และก่อให้เกิดหนี้สิน เพราะสารเคมีราคาแพงขึ้นทุกปี นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่แย่ลง โรคและแมลงดื้อยามากขึ้น วนกลับไปที่การที่ต้องใช้สารเคมีที่แรงขึ้น วนเป็นวงจรปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ การจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้พืชผลถึงมือผู้บริโภคในราคาสูง ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ขาดความรู้เรื่องผลกระทบจากสารเคมีตกค้าง และแหล่งซื้อเกษตรอินทรีย์ก็มีน้อย   เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ สุขภาพของเกษตรก็ดีขึ้น ต้นทุนทำการเกษตรก็ลดลง ปลดหนี้ได้ รวมถึงสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นด้วย ในส่วนผู้บริโภค็ตื่นรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และสามารถเข้าถึงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในราคาที่เป็นธรรมและเชื่อถือได้ ผ่านคนกลางที่เป็นธรรม เป็นระบบอาหารที่สมดุล ผลักดันให้สังคมขึ้นในภาพรวม

ปรับองค์กร-จับมือพันธมิตร สร้างธุรกิจขับเคลื่อนสังคม

สำหรับสวนสามพรานในวันนี้ คุณอรุษไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นธุรกิจโรงแรม แต่อยากให้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้า โดยแบ่งเป็น 3 แกนได้แก่ส่วนสวนสามพรานมีโรงแรม ร้านอาหาร ห้องประชุม สวน โดยมี “สามพรานโมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลเกื้อกูลสังคม ประกอบด้วยมูลนิธิสังคมสุขใจ สุขใจออร์แกนิกธุรกิจเพื่อสังคม และสามพรานโมเดล Academy เป็นอีกแกนหนึ่ง และปิดท้ายด้วย “ปฐม Organic Living” ที่มีผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ออร์แกนิค เช่น Patom Organic Café, Bangkok, Patom Organic Bar, Patom Organic Farm ฯลฯ เป็นต้น


คุณอรุษ เน้นย้ำว่า การให้องค์กรมามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมลักษณะนี้ไม่ได้ต้องลงทุนเพิ่ม แต่สำคัญที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดออกจากกรอบเดิม เช่นเชฟที่เคยทำอาหารตามเมนูที่ซื้อวัตถุดิบจากพ่อค้าคนกลาง แต่พืชผักเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรท้องถิ่นในแต่ละวันจะจำกัด เชฟก็ต้องปรับเปลี่ยนทดลองทำเมนูใหม่ที่จะสามารถทำได้จากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ที่มีในวันนั้น ซึ่งพนักงานจะยอมรับการปรับเปลี่ยนนี้มั้ย? เราก็ต้องสื่อสารให้เขารู้ถึงอุดมการณ์ร่วมในการขับเคลื่อนสังคม เป็นงานที่มีความหมาย 

และสิ่งที่เป็นหัวใจของสามพรานโมเดลก็คือการสร้างพันธมิตร (Partnership) ที่ประกอบด้วยเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ (SME), ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกื้อกูลสังคม (Inclusive Business), ผู้บริโภคที่ตื่นตัวมีความรับผิดชอบ (Active Consumer) มาเป็นผู้นำร่วมการเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมที่ดีขึ้น โดยแต่ละฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำการค้าที่เป็นธรรมต่อกัน เป็นการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ผ่านระบบรับรองแบบมีส่วนรวม ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและบริหารจัดการองค์ความรู้ โดย สามพรานโมเดล Academy นำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม

Organic Tourism ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาแรงที่สุดคือ Conscious Traveler ซึ่งคือนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ธุรกิจที่เกื้อกูลสังคมซึ่งเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ จึงเป็นการขายประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ learning journey สร้างคุณค่าให้ลูกค้ากลุ่มนี้


ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมภัตตาคารส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวคิด Organic Tourism ที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยผลผลิตเกษตรอินทรีย์นำเสนอลูกค้าที่มาท่องเที่ยว โดยมีโรงแรม/ภัตตาคาร เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น โรงแรมปรุงเมนูอาหารจากพืชผักออแกนนิคให้แขกที่มาพัก ซึ่งนอกจากผลผลิตอินทรีย์จะดีต่อสุขภาพแล้ว ลูกค้าได้รู้ว่าเขาได้ช่วยเกษตรกร เพราะเงินที่เขาจ่ายจะไปสู่เกษตรกรโดยตรง เป็นจุดขายทางการตลาดที่แตกต่างที่ทำให้เขารู้สึกถึงการมีส่วนร่วมช่วยให้สังคมดีขึ้น  ทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนมีความสุข เป็นการทำธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง