ย้อนรอยเส้นทางการ Work From Home

เมื่อโควิดทำให้เราต้อง Social Distancing เพื่อลดโอกาสในการแพร่และติดเชื้อ และหนึ่งในกลยุทธ์การเว้นระยะห่างก็คือการทำงานที่บ้าน หรือที่เรียกกันติดปากว่า Work from Home แต่รู้มั้ยว่าการ Work from Home ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่มันเกิดขึ้นมานานแล้วหลายพันปีก่อน ตั้งแต่สมัยมนุษย์ยุคหิน หรือแม้กระทั่งย้อนกลับไปสู่ยุคกลางในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานฝีมือหรือการรับจ้างทำงานทั่วไป ซึ่งบ้านและที่ทำงานเป็นที่เดียวกัน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้การทำงานเปลี่ยนไปเป็นการทำงานในโรงงานแทน แต่ในบทความนี้เราจะย้อนเส้นทางกลับไปในช่วงต้นๆ ที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมได้เริ่มเข้ามามีบทบาท ทำให้การทำงานสามารถมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำงานทีไหนก็ได้โดยมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

1960s เป็นช่วงที่อุตสาหกรรรมการผลิตแบบ Mass production กำลังเติบโต คนส่วนใหญ่ยังทำงานในโรงงาน แต่มีคนอีกส่วนหนึ่งที่ทำงานในเชิงสร้างสรรค์ เช่น นักเขียนหรือศิลปินโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ลอนดอนหรือปารีส ศิลปินส่วนใหญ่เหล่านี้ยังคงทำงานที่บ้านไม่ต่างกับคนในสมัยยุคกลาง


1970s ยุคที่มีการต่อต้านการใช้น้ำมัน
และหันมาให้ความสำคัญกับอากาศที่บริสุทธิ์ ผลักดันให้การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวนำ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือ

  • ข้อตกลงเรื่องอากาศที่สะอาด (The Clean Air Act) เกิดขึ้นในปี 1970 และกลุ่มโอเปคถูกแบนในปี 1973

  • การเดินทางเข้าออกเมืองเพื่อไปทำงานทำให้เกิดการจราจรที่ติดขัดและถูกมองว่าเป็นผลกระทบที่เลวร้ายต่อสภาพแวดล้อม

  • ในปี 1979 หลังจากที่กลุ่มโอเปคถูกแบนมาเป็นเวลา 6 ปี หนังสือพิมพ์ The Washington Post ไปตีพิมพ์บทความชื่อ “Working at Home Can save Gasoline” ซึ่งให้ข้อเสนแนะว่าเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม สามารถแก้ปัญหาวิกฤติน้ำมันได้ บทความส่วนหนึ่งเขียนว่า “ถ้าเพียง 10% ของคนที่เดินทางขับรถไปทำงานทุกวันหันมาเริ่มทำงานที่บ้านเพียงแค่สัปดาห์ละ 2 วัน ก็จะสามารถลดความหนาแน่นของการจราจรได้ถึง 4%” บทความยังกล่าวต่อไปด้วยว่าการถดถอยของระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และการเติบโตของธุรกิจด้านข้อมูล สามารถทำให้คนกลับไปทำงานจากที่บ้านได้มากขึ้นเหมือนสมัยก่อนที่จะมีการปฏิบัติอุตสาหกรรม


1980s หลายบริษัทเริ่มทดลองการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล

ผลพวงจากปี 1970s ไม่ว่าจะเรื่องน้ำมันที่หายากและมีราคาแพง ปัญหาการจราจรติดขัดและการเพิ่มของธุรกิจด้านข้อมูลที่เข้ามาแทนที่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้หลายบริษัทเริ่มหันมาทดลองโครงการทำงานจากที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ในช่วงทศวรรษนี้มีหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มโครงการทำงานจากระยะไกล เช่นบริษัท JCPenney, American Express, The Hartford, General Electric ,IBM, Levi Strauss & Co. เป็นต้น และหลายๆ บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงวิธีการทำงานแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน ในช่วงปี 1980 บริษัท IBM มีการทดลองโครงการ “Remote Terminals” กับพนักงานหลายกลุ่ม และทำมาต่อเนื่อง โดยพนักงาน IBM กว่า 40% ทั่วโลกทำงานจากที่บ้าน โดย IBM กล่าวว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง $100 ล้านในแต่ละปี   ในปี 1987 มีคนอเมริกันกว่า 1.5 ล้านคนที่ทำงานจากที่บ้าน และมีกว่า 300 บริษัทที่มีโปรแกรม Work from Home ซึ่งในตอนนั้นผู้ที่ทำงานจากที่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานควบคู่ไปกับการดูแลลูกที่บ้าน ในปี 2017 American Express และ The Hartford ยังคงเป็นหนึ่งใน 100 บริษัท ที่มีตำแหน่งงานแบบทำงานจากระยะไกลหรือ Work from Home มากที่สุด

1990s รัฐบาลสหรัฐให้การส่งเสริมการทำงานจากระยะไกล

รัฐบาลสหรัฐมีการทดลองการทำงานแบบ Work from Home เป็นโครงการใหญ่ชื่อว่า Federal Flexible Workplace Pilot Project เพื่อต้องการศึกษาข้อดีและข้อด้อยของการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากนอกออฟฟิศ โดยเรียกวิธีการนี้ว่า “flexiplaces” โดยมีพนักงาน 550 คนเข้าร่วมโครงการและพบว่า flexiplaces มีข้อดี ดังนี้ 1. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  2. ลดความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่ทำงาน  3. ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร หลังจากนั้นสภาคองเกรสได้อนุมัติงบประมาณให้โครงการ flexiplace จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่จะทำให้พนักงานของรัฐสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ต่อมาในปี 1994 ในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน  ได้ออกนโยบายให้เพิ่ม flexible family-friendly work arrangements โดยใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยมีบทบาทให้มากขึ้น  และปี 1995 ได้กลายเป็นโครงการที่ทำอย่างถาวร


ต่อมาในปี 1997 The Government Accountability Office (GAO) ของสหรัฐได้ทำรายงานข้อดีของการ Work from Home ที่พบดังนี้  1. ลดระยะเวลาเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน  2. ลดค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าเดินทาง ค่าจอดรถ ค่าเครื่องแต่งกายและค่าอาหาร  3. ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต  4.เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว


2000s การ work from home ในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น
มีการทำการวิจัยเกี่ยวกับการ Work from Home โดยมีผลการศึกษาดังนี้

  • อัตราการทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นในระยะเวลาระหว่างปี 2000-2010  มีผู้ที่ทำงานจากที่บ้านอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 และจำนวนผู้ที่ทำงานจากที่บ้านเพิ่มจาก 9.2 ล้านคน เป็น 13.4 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 10 ปี
  • คนที่ทำงานจากที่บ้านส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำมากกว่าเป็นฟรีแลนซ์หรือผู้ทำงานอิสระ  พนักงานกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำงานจากที่บ้าน ในปี 2010 พบว่าพนักงานบริษัททำงานจากที่บ้านมากถึง 59%
  • พนักงานที่ทำงานที่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาดีกว่าคือมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 50% ในขณะที่คนที่ยังทำงานในที่ทำงานมีผู้จบปริญญาตรีเพียง 29.7%


ในช่วงปี 2000s มีการเพิ่มจำนวนของบริษัทที่ประกาศรับสมัครงานแบบทำงานทางไกลหรือที่เรียกว่า Remote-friendly โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ทำให้ผู้หางานมีโอกาสมากขึ้นในการหางานที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้


2010s การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจ

ในปี 2010 ประธานาธิบดีโอบามา ได้ลงนามใน The Telework Enhancement Act of 2010 ซึ่งไม่ใช่เพียงสนับสนุนการทำงานจากที่บ้านแต่บังคับให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ต้องมีนโยบายในการให้พนักงานสามารถทำงานจากระยะไกลได้ ในปีงบประมาณ 2014-2015 พบว่าพนักงานของรัฐที่เข้าร่วมการทำงานแบบ Work from Home เพิ่มจาก 39% เป็น 46%


การทำงานจากที่บ้านในสหรัฐไม่ได้เพิ่มเฉพาะแค่พนักงานของรัฐเท่านั้น ในการศึกษาในปี 2017 พบว่าพนักงานบริษัทที่ทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 115%


นอกจากสหรัฐอเมริกายังมีอีกหลายประเทศที่มีการ Work from Home อย่างจริงจังมานานนับ 20 ปีแล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศฟินแลนด์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำของโลกในเรื่อง Flexible Work ซึ่งเข้ากับวัฒนธรรมในเรื่องของการไว้เนื้อเชื่อใจและความเสมอภาค (Trust & equality) นอกจากนั้นการ Flexible Work ยังถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาทาเลนท์เข้ามาทำงานกับบริษัท “ไม่ใช่ทุกคนที่อยากมาอยู่มาทำงานในเมืองใหญ่ที่มีแต่ความวุ่นวาย เราจะเสียโอกาสไปมากถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีและดึงคนเก่งๆ ที่อยู่ห่างไกลมาทำงานกับเรา พวกเขาอาจทำงานอยู่ริมทะเลสาบหรืออยู่ในป่าแต่เขายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  Jenni Fredriksson ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลบริษัท Bass เทคคอมพานีในฟินแลนด์กล่าว และการศึกษาของบริษัท Grant  Thornton ในปี 2011 พบ 92% ของบริษัทในฟินแลนด์ มีการทำ Flexible Working  ในขณะที่อังกฤษและอเมริกาอยู่ที่ 76%   รัสเซีย 50% และญี่ปุ่น 18 %

ฟินแลนด์ได้ออกกฎหมาย Working Hours Act ในปี 2020 ซึ่งให้พนักงานที่ทำงานประจำมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าอย่างน้อย 50% ของชั่วโมงการทำงาน จะทำงานที่ไหนและเมื่อไหร่ และจากการศึกษาของ HSBC ในอังกฤษพบว่า 89% ของผู้ร่วมตอบคำถามตอบว่า Flexible Working ทำให้พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่การวิจัยของ Stanford University กับพนักงาน call center คนจีน จำนวน 16,000 ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้พบว่าประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 13% และมีการลาป่วยน้อยลงมาก


บางทีวิกฤติโควิดอาจจะสร้าง New Normal ในวัฒนธรรมการทำงานของบ้านเรา การ Work from Home หรือ Flexible Working อาจเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ Work Life Balance & Freedom ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ รวมทั้งโลกของการทำงานยุคใหม่ที่ไม่ได้วัดกันที่ชั่วโมงการทำงาน แต่ดูกันที่ประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการทำงาน ทั้งนี้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นกับความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันและความมีวินัย รับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ New Normal นี้เกิดขึ้นได้อย่างถาวร


อ้างอิง

https://www.flexjobs.com/blog/post/complete-history-of-working-from-home/
https://www.bbc.com/worklife/article/20190807-why-finland-leads-the-world-in-flexible-work

https://www.fastcompany.com/90330393/the-surprising-history-of-working-from-home