พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว วางแผนการเงินอย่างไรดี

ยุคสมัยที่การหย่าร้างกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน เมื่อชีวิตคู่ต้องร้างรา ขาดหุ้นส่วนชีวิตมาคอยแชร์ในทุกๆ เรื่อง แน่นอนว่าแผนการเงินย่อมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย หรือบางทีใช้ชีวิตคู่อยู่ดีๆ อีกฝ่ายมาชิงลาโลกไปซะก่อน อีกฝ่ายต้องกลายเป็นหม้ายโดยบังเอิญ ทำให้ต้องมาปรับเปลี่ยนแผนการเงินเช่นกัน ซึ่งในบทความนี้จะมีแนวทางการวางแผนการเงินสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมาฝากกัน โดยเริ่มจาก

  • จัดระเบียบเงินออม โดยภาระค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวและของครอบครัว นับว่าเป็นรายจ่ายมิใช่น้อยที่จะต้องดูแล  ดังนั้น ถ้าให้เทียบกับคนทั่วไปแล้ว พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ต้องออมมากกว่า เสี่ยงน้อยกว่า และต้องวางแผนใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุม แนะนำให้เริ่มจากเก็บเงินออมเป็นสภาพคล่องสำรองฉุกเฉิน ที่ควรมีไม่ต่ำกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน จัดเป็นก้อนแรกที่ต้องเก็บ เผื่อเหตุไม่คาดฝัน ลูกป่วย รถเสีย ตกงาน เงินออมก้อนนี้ก็จะช่วยให้อุ่นใจ ผ่านช่วงวันที่วุ่นวายได้ ส่วนที่สองที่ต้องแบ่งออม คือ เงินเพื่อการศึกษาของลูกน้อย เพราะค่าเล่าเรียนเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีเฉพาะค่าเทอมอย่างเดียว ค่าชุด ค่าเรียนพิเศษ ค่าทำกิจกรรม ค่าออกค่ายต่างๆ อีกจิปาถะเป็นอะไรที่ต้องคิดเผื่อไว้ด้วยเช่นกัน


  • จัดการความเสี่ยงด้วยประกัน อาจเริ่มจากประกันแบบตลอดชีพ (Whole Life) คุ้มครองหากพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นอะไรไป ก็จะมีมรดกให้กับลูก รวมทั้งมีเงินก้อนไว้เพื่อปลดหนี้ก้อนสุดท้าย ประกันแบบนี้มีข้อดีคือ ค่าเบี้ยถูกกว่าประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเหมาะในช่วงลูกเล็ก มีรายจ่ายสูงในขณะที่รายรับยังไม่มาก นอกจากนี้แนะนำให้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองโรคร้ายแรงและอุบัติเหตุ และหากมีรายรับเพิ่มจากการทำงาน ก็ควรทำประกันเพื่อการศึกษาลูกเพิ่มเติม

  • สะสมเงินเพื่อการศึกษาลูก แนะนำให้วางแผนเก็บเงินสองส่วน ส่วนแรกคือ การศึกษาในช่วงประถม ส่วนนี้ให้ทยอยเก็บเงิน ให้ได้เงินก้อนสำหรับการศึกษา โดยอาจเลือกฝากในเงินฝากประจำ หรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน  ส่วนการศึกษาในชั้นปีสูงๆ ในระยะยาว ให้เก็บสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ เงินออมในกองทุนผสมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดู ส่วนที่สองคือ ซื้อประกันที่มีวัตถุประสงค์ออมบวกคุ้มครองเพื่อการศึกษาของลูก อาจจะเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบยูนิตลิงค์ก็ได้ โดยที่ความต่าง คือ ประกันสะสมทรัพย์จะระบุผลตอบแทนที่ผู้เอาประกันจะได้รับไว้อย่างชัดเจน (การันตีผลตอบแทน แม้ผลตอบแทนที่ได้รับจะค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปี) ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์จะไม่การันตีผลตอบแทน ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุน

  • อย่าลืมวางแผนเกษียณอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าหวังว่าเมื่อเกษียณอายุจะพึ่งพาลูก ต้องยอมรับว่าด้วยสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตการดูแลตัวเองอาจเป็นเรื่องที่จำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ ลูกอาจมีความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงดูตัวเองให้รอดก่อน หากเรามีการวางแผนเกษียณอายุที่ดี ก็จะไม่เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต พอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ แนะนำว่าควรคำนึงถึงความมั่งคั่งในอนาคตเป็นหลัก ดังนั้นลักษณะพอร์ตการลงทุนจึงควรเป็นลักษณะยาว ซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ไปด้วย เช่น ลงทุนในกองทุนรวม RMF กองทุนรวม SSF ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยควรพิจารณาเลือกนโยบายลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง ที่สำคัญถ้าอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย แผนเกษียณก็ต้องเริ่มออมให้เร็ว เพื่อมีระยะเวลาการลงทุนที่นานขึ้น

  • ลงทุนอย่างเหมาะสม เมื่อจัดสรรงบประมาณรายได้เพื่อใช้จ่ายของเราแล้ว จะเห็นว่ามีเงินบางส่วนที่ต้องกันไว้สำหรับเหตุจำเป็นในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามบางคนคงอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาใช้จ่าย วิธีสร้างประสิทธิภาพในการออมที่ดี คือ นำเงินดังกล่าวนั้นไปลงทุนระยะยาวเพื่อให้ออกดอกออกผล และยังเป็นการป้องกันไม่ให้นำเงินก้อนนั้นมาใช้ก่อนเวลาอันสมควรด้วย ส่วนจะลงทุนอะไรนั้นคงต้องขึ้นกับความรู้ความเข้าใจในการลงทุน และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้ของแต่ละคนด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อออมเงินสำหรับลูก หรือยามเกษียณให้แก่ตนเอง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวบางคนอาจจะลงทุนในการซื้อทองคำหรือซื้อหุ้นปันผลหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สม่ำเสมอ และในเวลาเดียวกันก็สร้างโอกาสในการที่จะได้กำไรที่เพิ่มจากราคาของหุ้นหรือทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย แต่บางคนซึ่งมีจำนวนเงินออมไม่สูงมากนักและไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนที่สลับซับซ้อนมาก ก็อาจเลือกลงทุนอย่างง่ายๆ ที่พอมองเห็นเช่น สลากออมสิน หรือ สลากออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส. ซึ่งมีความมั่นคงจากดอกเบี้ยที่ได้รับสม่ำเสมอและอาจมีโอกาสได้เงินเพิ่มจากการถูกรางวัล

กล่าวโดยสรุป การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีข้อดี คือ จะทำให้เราบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการวางแผนทางการเงินได้ดี เนื่องจากผู้ที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจะมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการ จัดสรรเงินออม และจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหากมีการใช้ชีวิตคู่อาจมีค่าใช้อื่นๆ เพิ่มตามมา เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น หรือคู่ชีวิตมีมุมมองการวางแผนการเงินที่ต่างกัน ทำให้เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการวางแผนทางการเงินอาจยืดหยุ่นและไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่วางไว้ แต่ข้อเสียคือ ผู้ที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องมีภาระมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตคู่ปกติ โดยเฉพาะในเรื่องการหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว จึงยิ่งทำให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากเป็นพิเศษนั่นเอง

บทความโดย  :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร