เงินเดือนน้อย ทำยังไงให้กู้บ้านผ่าน

เชื่อว่า ‘การมีบ้าน’ ย่อมเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายคน ซึ่งเมื่อเราเริ่มต้นทำงานและมีรายได้เป็นของตัวเอง สิ่งที่เราคิดฝันเป็นอันดับต้นๆ คือ การมีบ้าน แต่หลายคนที่ยังมีรายได้ที่จำกัด ก็อาจจะมีคำถามตามมาว่า ‘ถ้าเงินเดือนยังน้อยอยู่ แต่อยากมีบ้าน จะทำอย่างไรให้กู้ผ่าน?’ หากใครกำลังมีคำถามนี้อยู่ในใจ สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้


ก่อนที่เราจะซื้อบ้าน เราต้องประเมินความสามารถในการผ่อนของเราดูก่อน โดยความสามารถในการผ่อนจะประเมินจากหลักการที่ว่า “ผู้กู้สามารถแบกรับภาระการผ่อนชำระหนี้สินทั้งหมดได้ไม่เกิน 40% ของรายได้”


ตัวอย่างเช่น ผู้กู้มีเงินเดือน 20,000 บาท จะสามารถผ่อนบ้านสูงสุดได้ 20,000 x 40% = 8,000 บาท


นั่นก็แปลว่า หากผู้กู้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน จะสามารถผ่อนบ้านได้ไม่เกิน 8,000 บาทต่อเดือน โดยที่เราต้องไม่มีหนี้สินผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ หากเรามีหนี้สินอื่นๆ เช่น ผ่อนรถอยู่ เดือนละ 4,000 บาท จะทำให้ผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนบ้านต่อเดือนลดลงเหลือเพียง 4,000 บาท (8,000 – 4,000 = 4,000) ต่อเดือนเท่านั้น


สมมติว่าคุณไม่มีภาระหนี้สินอะไรมาก่อน หากคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท ความสามารถในการผ่อนบ้านต่อเดือนของคุณจะอยู่ที่ 8,000 บาท ขั้นตอนถัดมาเราต้องมาประเมินว่าความสามารถในการผ่อนเท่านี้ เราน่าจะกู้ได้วงเงินสูงสุดที่เท่าไหร่ (ซึ่งจะคำนวณจากระยะเวลาการผ่อนชำระ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน) ตัวอย่างดังตาราง


ระยะเวลาในการผ่อนชำระ

วงเงินที่สามารถกู้ได้ (กู้ 100%)*

20 ปี

1,073,000 บาท

25 ปี

1,185,000 บาท

30 ปี

1,266,000 บาท

* คิดจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 6.5% ต่อปีหากต้องการตัวเลขที่แน่นอน สามารถเข้าไปขอคำแนะนำจากสถาบันการเงินที่คุณสนใจขอสินเชื่อบ้าน


ตัวอย่างการคำนวณในตาราง คำนวณตามหลักการมูลค่าเงินตามเวลา เป็นการคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของเงินเท่ากันทุกงวด (Present Value of an Annuity) โดยคำนวณว่าจากเงินงวดที่จ่ายเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 240 เดือน (20 ปี) ด้วยอัตราดอกเบี้ย 6.5% คิดเป็นเงินก้อนที่มีมูลค่าในปัจจุบันเท่าไหร่ ก็จะเป็นวงเงินที่เราสามารถกู้ได้ สามารถคำนวณได้โดยใช้เครื่องคิดเลขทางการเงิน (Financial Calculator) หรือแอปพลิเคชั่นเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชั่นการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา (TVM Calculator)


เมื่อคุณเห็นวงเงินที่สามารถกู้ได้ คุณก็ควรจะหาโครงการบ้านที่อยู่ในวงเงินที่คุณสามารถกู้ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีโครงการที่มีราคาล้านต้นๆ อยู่หลายโครงการ เช่น คอนโดแถบชานเมืองหรือปริมณฑล และบ้านมือสองที่สภาพดี ราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม หากโครงการบ้านที่คุณเล็งๆ ไว้มีราคาสูงกว่าวงเงินที่คุณสามารถกู้ได้ นั่นแปลว่าคุณอาจจะต้องเตรียมเงินก้อน เพื่อเป็นเงินดาวน์ไว้ด้วย หากยังไม่มีเงินดาวน์ ต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อเป็นเงินดาวน์ด้วยเช่นกัน

ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่า ถ้ากู้คนเดียวอาจไม่ผ่านหรือรายได้ไม่พอ การกู้ร่วมก็เป็นทางออกได้ โดยผู้กู้ร่วม หมายถึง ลูกหนี้ร่วม ซึ่งในทางกฎหมายลูกหนี้ร่วมจะต้องรับผิดชอบหนี้เป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และในบางสถาบันการเงินจะกำหนดให้ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้กู้ในฐานะที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือบิดามารดากู้ร่วมกับบุตร และสามีกู้ร่วมกับภรรยา หรือถ้าแต่งงานกันแล้วและยังไม่ได้จดทะเบียน ผู้กู้ร่วมก็ต้องแสดงหลักฐานอื่นๆ ประกอบ เช่น ทะเบียนบ้านที่แสดงว่าปัจจุบันอยู่ด้วยกัน หรือถ้ามีบุตรก็ต้องแสดงใบเกิดที่ระบุชื่อพ่อแม่


ในการกู้ร่วมนั้น สถาบันการเงินจะพิจารณารายได้ของทุกคนที่ขอกู้ร่วม โดยจะหักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคน หลังจากนั้นก็ดูว่า เหลือเงินที่จะสามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้เท่าไหร่ แล้วพิจารณาให้สินเชื่อไปตามสัดส่วน ซึ่งจะทำให้การกู้ร่วม สามารถกู้วงเงินได้สูงขึ้นอีกพอสมควร


ประวัติการชำระหนี้ต่างๆ ของคุณก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าคุณมีประวัติที่ดี ชำระหนี้ตรงเวลามาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นคะแนนบวกทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้คุณง่ายขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะคิดกู้บ้าน ควรสร้างประวัติทางการเงินให้ดี มีหนี้สินอะไรอยู่ ก็ควรจะผ่อนชำระให้ตรงเวลา เพื่อให้โอกาสในการกู้ผ่านมีสูงขึ้น

กล่าวโดยสรุป แม้จะมีเงินเดือนน้อย แต่หากมีการเตรียมตัวและวางแผนการเงินที่ดี ก็จะทำให้โอกาสกู้ผ่านของคุณมีสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหนี้บ้านถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และมีระยะเวลาในการผ่อนนาน เพื่อให้ภาระผ่อนบ้านไม่หนักจนเกินไป คุณควรต้องมีรายได้ที่มากพอ ดังนั้นคุณควรหาทางเพิ่มรายได้และเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเอง ด้วยการหารายได้เสริม หรือเรียนรู้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มค่าตัวให้กับตัวเอง นอกจากนี้ต้องรู้จักวางแผนการเงิน ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ระมัดระวังการใช้จ่าย อย่าใช้จ่ายเกินตัว และอย่าก่อหนี้เพิ่มไปกว่ารายได้ของตน และที่สำคัญต้องมีการออมเงินอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ บ้านหลังนี้ก็จะเป็นบ้านที่ตอบโจทย์ความฝันของคุณได้อย่างแน่นอน


บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร