ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
To Do List ก่อนเกษียณ
เมื่อพูดถึงคำว่า “เกษียณ” บางคนอาจคิดถึงการพักผ่อนอยู่บ้านในวันธรรมดา หลายคนอาจนึกถึงการท่องเที่ยวไปทั่วโลกโดยไม่ต้องลางาน และอาจจะมีคนที่คิดถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสงบสุขที่ไหนสักแห่ง ไม่ว่าใครจะให้นิยามอย่างไร การเกษียณอายุ คือ การสิ้นสุดของการทำงานเพื่อหารายได้ หรือช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่มนุษย์เงินเดือนต่างรอคอย และแต่ละคนจะมีชีวิตในช่วงวัยเกษียณอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวางแผนเกษียณ ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และสำหรับผู้ที่ต้องการเกษียณนั้น จะต้องเตรียมพร้อมอะไรกันบ้าง มาดูกัน
1.กำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ
การตั้งเป้าหมายเกษียณอายุจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเตรียมตัว โดยอายุเกษียณคนไทยอยู่ในช่วง 55 - 60 ปี แม้จะมีประกาศขยายอายุเกษียณของข้าราชการเป็น 63 ปี แต่ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านอีก 6 ปี ในขณะที่บางคนก็อาจอยากเกษียณอายุก่อน ซึ่งกรณีนี้ยิ่งต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมเงิน เตรียมร่างกาย เตรียมจิตใจให้พร้อมเมื่อถึงอายุที่ตั้งเป้าหมายไว้
2.สำรวจการเงิน
โดยประเมินจากรายได้ปัจจุบัน รายจ่ายปัจจุบัน ความสามารถในการออม และความมั่นคงของหน้าที่การงาน จากนั้นจึงคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องการใช้ช่วงวัยเกษียณโดยใช้กฎ 25 เท่า คือ รายจ่ายใน 1 ปี คูณด้วย 25 เช่น ถ้ารายจ่ายต่อปีเท่ากับ 360,000 บาท ควรมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นจำนวน 9,000,000 บาท หากปัจจุบันอายุ 41 ปี และต้องการเกษียณตอนอายุ 60 จะมีเวลาทั้งหมด 19 ปี เพื่อเก็บเงินให้ได้ 9,000,000 บาท
3.วางแผนการออม
โดยเริ่มต้นออมอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ พลังดอกเบี้ยทบต้นก็จะทำให้เงินออมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้อาจนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หรือหุ้นกู้ โดยคำนึงถึงอัตราความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น หากคาดหวังผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1% จะต้องเลือกลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 6% ต่อปี เพราะเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ผลตอบแทนที่แท้จริงจะเป็น 5% ตามที่คาดหวัง
4.พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง
ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่น้อยลง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น หรือความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินที่ออมไว้ใช้ในช่วงเกษียณ โดยอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการเกษียณให้เหมาะสม เช่น เลื่อนช่วงเวลาที่จะเกษียณออกไปเพื่อทำงานและเก็บออมมากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ วางแผนทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้น โดยจดรายรับรายจ่าย เลือกซื้อของเท่าที่จำเป็นและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า หรือลดค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้ในช่วงเกษียณ ทั้งนี้เพื่อให้แผนการเกษียณอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคงและสามารถเกิดขึ้นได้จริง
5.ยื่นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายก่อนเกษียณ
5.1 เงินเดือนหรือเงินได้ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ
5.2 เงินชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จึงต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ
5.3 เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อสมาชิกมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนเกินกว่า 5 ปี
6.ดูว่ารายได้หลังเกษียณต้องเสียภาษีหรือไม่
ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี |
ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี |
1. ดอกเบี้ยเงินฝากประจำไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี |
1. เงินปันผลจากหุ้น หรือกองทุน (สามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้) |
2. เงินคืนประกันบำนาญ |
2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) |
3. กำไรจากการขายหุ้นหรือกองทุน |
3. เงินบำนาญข้าราชการ ถ้าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี กรมบัญชีกลางจะคำนวณและหักภาษีไว้ในแต่ละเดือน |
4. การขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุน RMF |
|
5. บำเหน็จ บำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม |
|
6. บำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการ |
|
7. หากอายุเกิน 65 ปี และมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท เช่น หากมีเงินได้ 240,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้สำหรับ 190,000 บาทแรก และจะเหลือรายได้ที่ต้องไปคำนวณภาษีเพียง 50,000 บาท |
|
8. หากอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 ต่อปี บุตรสามารถใช้สิทธิเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ 30,000 บาท |
|
7.เตรียมงานเสริมไว้ทำช่วงเกษียณ
วัยเกษียณไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดทำงานทุกอย่าง ในทางกลับกัน การเลือกทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เครียดมาก หรือทำงานเพื่อสังคม จะช่วยทำให้ช่วงเวลาว่างมีคุณค่ามากขึ้น และจากงานวิจัยของ The International Journal of Aging and Human Development พบว่า คนที่ทำงานในช่วงวัยเกษียณมักมีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ระดับความพึงพอใจในชีวิตยังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
8.วางแผนลงทุนช่วงเกษียณ
ในกรณีที่ถือครองกองทุน RMF อยู่และยังมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แนะนำให้ลงทุนต่อเนื่องใน RMF เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ควรลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงน้อย เน้นรักษาเงินต้น และได้รับผลตอบแทนแม้จะไม่สูงมากแต่สม่ำเสมอ เช่น การซื้อพันธบัตร กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ หรือการลงทุนในกองทุนที่จ่ายเงินปันผล สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การกระจายความเสี่ยงโดยเน้นลงทุนให้หลากหลายเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินออมทั้งหมดในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน
9.เตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
เมื่ออายุมากขึ้น ย่อมมีปัญหาด้านสุขภาพบ้าง จึงควรกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย หากเคยใช้บริการสถานพยาบาลของประกันสังคมและอยากรักษาสิทธินี้ไว้ สามารถเปลี่ยนสิทธิผู้ประกันตนจากมาตรา 33 ที่เคยใช้ตอนทำงานมาเป็นมาตรา 39 ได้ โดยจ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน เพื่อรักษาสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ได้จนกระทั่งเสียชีวิต ถ้าไม่อยากใช้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้สิทธิบัตรทองแทนได้ นอกจากนี้การซื้อประกันสุขภาพนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเน้นแบบการันตีการต่ออายุเทียบเท่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต้องเริ่มทำประกันสุขภาพก่อนอายุ 65 ปี อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสามารถลดลงได้ หากรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยควรเริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนี้
การวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ คือ การเตรียมความพร้อมให้กับตนเองในด้านร่างกาย จิตใจ และสถานะทางการเงิน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าแผนการเกษียณที่วางไว้นั้นเหมาะสมแล้ว และการทำ To-Do List จะช่วยให้แน่ใจมากขึ้นว่าไม่ตกหล่นเรื่องสำคัญ และพร้อมก้าวสู่อิสรภาพในช่วงวัยเกษียณอย่างแท้จริง