ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
3 ข้อผิดพลาดที่ทำให้มีเงินไม่พอเกษียณ
คุณคิดว่า หากเราติดตามชีวิตของคนวัยเริ่มต้นทำงาน 100 คนที่มีอายุ 25 ปีในวันนี้ แล้วดูว่าคนเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร จะมีฐานะการเงินหรือความมั่งคั่งเท่าไหร่เมื่อคนเหล่านั้นอายุ 65 ปี ให้คุณลองทายดูว่า ใน 100 คนดังกล่าวจะมีประมาณกี่คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงินและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ ขอให้คุณลองนึกตัวเลขในใจก่อนที่เราจะมาดูเฉลยกัน
ตัวเลขในใจของคุณเป็นเท่าไหร่ คุณคิดว่าคนทั้ง 100 คนน่าที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินทั้งหมดหรือไม่ เพราะหนึ่งในเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ต้องเกี่ยวข้องเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นแน่แท้ ทุกคน (หากไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาแต่กำเนิด) ก็น่าที่จะฝันถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ไม่มากก็น้อย
แต่ในความเป็นจริง ในคน 100 คน*
มีเพียง 1 คน ที่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี**
16 คน มีรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป***
45 คน มีรายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยของคนทั่วไป
22 คนสามารถดูแลตัวเองได้ แต่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
6 คนมีสภาพยากจนและยังคงต้องทำงานหนัก ไม่สามารถที่จะเกษียณอายุได้
10 คน มีรายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงตัว และต้องเข้ารับการช่วยเหลือหรือพึ่งพิงจากรัฐ
ที่มา * หนังสือ Building Financial Success โดยพอล เจ เมเยอร์
** การแบ่งกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งในระดับสากลนั้น จะนับกลุ่มที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน เงินลงทุน เงินฝากตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป โดยแบ่งได้ ดังนี้
1. กลุ่มเศรษฐีเงินล้าน (Millionaire) 30 – 150 ล้านบาท (1 – 5 ล้านเหรียญสหรัฐ)
2. กลุ่มมหาเศรษฐี (High Net Worth Individual, HNWI) 150 – 1,000 ล้านบาท (> 5 – 30 ล้านเหรียญสหรัฐ)
3. กลุ่มอภิมหาเศรษฐี (Ultra-HNWI) >1,000 ล้านบาท (> 30 ล้านเหรียญสหรัฐ)
*** ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย พ.ศ. 2562 ในช่วง 6 เดือนแรกพบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,371 บาท
เมื่อคุณเห็นตัวเลขชุดนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร อยากขอให้คุณลองย้อนกลับไปตอนที่คุณอายุ 25 ปีและเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ คุณจะคาดหวังหรือมีความฝันมั้ยว่า ในบั้นปลายชีวิตของคุณ คุณจะเป็นคนแก่ที่เกษียณอายุไม่ได้ หรือมีชีวิตเกษียณอายุที่แร้นแค้น ยากลำบาก เชื่อได้ว่าต้องไม่เคยมีใครคิดว่าตัวเองจะประสบความล้มเหลวทางการเงินในบั้นปลายชีวิตหรอก แล้วอะไรที่ทำให้ในท้ายที่สุดแล้วคน 100 คนมีความมั่งคั่งหรือความสำเร็จทางการเงินที่แตกต่างกัน สาเหตุที่ทำให้คนมีเงินไม่พอเกษียณ มีดังนี้
1. เริ่มออมช้าเกินไป
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเรื่องเกษียณอายุเป็นเรื่องไกลตัว ยังมีเวลาอีกตั้งนาน จึงผัดผ่อนการออมเงินเพื่อเกษียณอายุออกไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ใกล้เกษียณอายุเสียแล้ว ทำให้ออมเงินไม่ทัน ส่งผลให้มีเงินไม่พอใช้จนวันสุดท้ายของชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะมาคิดเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณอายุก็เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ถือว่ายังพอจะทัน แต่ถ้าจะให้ดีควรจะเริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปี หรือตั้งแต่เริ่มทำงานเลยจะดีที่สุด การเริ่มออมเร็ว ทำให้จำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละเดือนน้อยกว่าการเริ่มทีหลัง เพราะจะได้ตัวช่วย คือ อัตราผลตอบแทนที่ทยอยได้รับมาระหว่างการออม
ทำอย่างไรถ้ารู้ตัวว่าออมช้าเกินไปแล้ว?
รู้ตัวว่าช้ายังดีกว่าไม่รู้ตัวเลย เพราะไม่มีคำว่าสายสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ เพียงแต่หากเหลือระยะเวลาการออมและการลงทุนไม่นาน คุณจำเป็นต้องออมเงินในจำนวนที่มากขึ้น (ต้องมีเงินต้นที่เยอะขึ้น) ซึ่งทำให้คุณต้องกลับไปทบทวนรายรับ รายจ่ายของคุณให้ดีว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ทำให้คุณมีเงินออมเหลือมากพอที่จะบรรลุเป้าหมายเกษียณอายุหรือไม่ หากมีไม่พอ ต้องรีบเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และทำให้เงินออมงอกเงยเป็นการด่วน
2. ออมน้อยเกินไป
คนส่วนใหญ่ไม่มีการออมเพิ่มเติมจากที่ถูกบังคับ หรืออมเพียงจำนวนเท่าที่กรมสรรพากรให้สิทธิพิเศษทางภาษีไว้ เช่น ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 2-15% ของรายได้ต่อปี และลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้สูงสุด 30% ของรายได้ต่อปี แต่เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการออม และประกันบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท คนส่วนใหญ่มักออมและลงทุนเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่เมื่อถามว่า คิดว่าจำนวนเงินที่ออมไปนั้นจะเพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าไม่ทราบ
การที่ไม่ทราบว่าอนาคตจะมีเงินเพียงพอเพื่อใช้หลังเกษียณอายุหรือไม่นั้น เท่ากับเอาอนาคตไปแขวนไว้กับโชคชะตา เพราะหากคุณมีอายุยืนยาวกว่าที่คาด อายุยืนยาวนั้นก็จะกลายเป็นคำสาป ที่ทำให้คุณต้องทุกข์ทรมาน เพราะความลำบากในบั้นปลายชีวิต ข้อแนะนำ คือ ต้องประมาณการว่าหลังเกษียณคุณอยากจะใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ จะมีระยะเวลาการใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี ซึ่งจากจุดนี้คุณจะพอประเมินได้ว่าคุณต้องมีเงินเพื่อการเกษียณเท่าไหร่ เช่น อยากใช้เดือนละ 20,000 บาท ไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ คุณก็จะต้องมีเงิน ประมาณ 4.8 ล้านบาทเพื่อการเกษียณ (20,000 x 12 x 20) ซึ่งยังไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่ก็พอทำให้คุณเห็นภาพว่าคุณต้องมีเงินอย่างน้อยเท่าไหร่สำหรับการเกษียณ จากนั้นคุณก็ต้องมาคำนวณต่อว่า เงินที่เก็บออมอยู่ทุกวันนี้ เมื่อถึงวันที่เกษียณจะเติบโตเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ และนำเงินสองจำนวนนี้มาเปรียบเทียบกันว่าจะพอหรือไม่ เป็นต้น
เนื่องจากการคำนวณที่รวมผลของเงินเฟ้อ และค่าเงินในอนาคต ค่อนข้างมีความซับซ้อน ขอแนะนำให้คุณลองเข้าไปใช้โปรแกรมการคำนวณเงินเกษียณอายุที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ดู คุณจะเห็นภาพการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุของคุณชัดเจนขึ้น
3. ลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมเกินไป
คนส่วนใหญ่มักจะกลัวความเสี่ยงมากจนเกินไป คือ กลัวว่าเงินต้นจะหดหาย จนทำให้นำเงินออมเพื่อการเกษียณอายุไปลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม โดยอาจจะฝากไว้ที่ธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ ซื้อสลากออมสิน ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หรือลงทุนในกองทุนรวมตราสารเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งในปัจจุบันให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.25 – 3% ซึ่งนอกจากจะไม่ชนะเงินเฟ้อแล้ว เงินออมเพื่อการเกษียณของคุณก็อาจไม่เติบโต และไม่เพียงพอก็เป็นได้
ข้อแนะนำ หากมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนในระดับหนึ่ง จะทราบว่า ถ้าคุณมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาว คุณสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น เงินที่ออมเพื่อการเกษียณอายุในอีก 10 – 30 ปีข้างหน้า จึงเป็นเงินที่สามารถลงทุนแบบความเสี่ยงปานกลางถึงความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งสัดส่วนของหุ้นที่ควรจะลงทุนเพื่อการเกษียณควรจะมีขั้นต่ำ 10 – 15% ดังนั้นผู้ลงทุนไม่ควรกลัวความเสี่ยงจนเกินไป เพราะการเสี่ยงต่อการมีเงินไม่พอในวัยเกษียณซึ่งทำงานไม่ได้แล้วนั้น น่ากลัวมากกว่าความเสี่ยงที่เงินลงทุนจะได้ผลตอบแทนผันผวนหลายเท่าเลยทีเดียว
กล่าวโดยสรุป การวางแผนเกษียณอายุ คือ การเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินสำหรับการดำเนินชีวิตในวัยเกษียณให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีและมีคุณภาพภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น แล้ววันนี้คุณวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง?
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC
นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร