เพลงของแม่...ความทรงจำอันอบอุ่นของลูก

ปฏิสัมพันธ์แรกที่มนุษย์รับรู้ได้นับตั้งแต่กำเนิดคือ การได้ยินหรือการรับรู้เสียง เพราะระบบประสาทการได้ยินของมนุษย์จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน ทารกในครรภ์จะได้ยินทั้งเสียงที่มาจากภายนอก เช่น เสียงพูดคุยของแม่ เสียงร้องเพลงขับกล่อม หรือเสียงเพลงที่เปิดผ่านเครื่องเสียง และทารกยังได้ยินเสียงจากภายใน เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงการไหลเวียนของเลือด หรือเสียงจากการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เด็กทารกจึงเกิดมาพร้อมความรู้สึกที่ไวต่อเสียง ทั้งเสียงดนตรีและเสียงพูด สามารถตอบสนองต่อเสียงและจังหวะต่างๆ ผ่านการแสดงสีหน้าอารมณ์ การเคลื่อนไหว รวมทั้งการเปล่งเสียงของทารกเอง


เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า เสียงดนตรีและเสียงเพลงสามารถพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้กับเด็กได้ตั้งแต่ในครรภ์ ดนตรีและภาษาเป็นองค์ประกอบของเสียงที่มักจะมาคู่กัน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมเด็กเล็กที่แม่ร้องเพลง เปิดเพลง หรืออ่านนิทานให้ฟัง จึงพัฒนาทักษะการใช้ภาษาได้เร็วและมีภาวะทางอารมณ์ค่อนข้างดี เป็นความจริงที่ว่า การเลือกใช้ดนตรีที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาระบบต่างๆ ภายในสมองของลูกให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณหมอหลายท่านแนะนำว่า ดนตรีที่แม่ตั้งครรภ์จะเปิดให้ลูกฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นดนตรีคลาสสิกของต่างประเทศเท่านั้น แม่สามารถเปิดเพลงที่ตนเองชอบฟัง จะเป็นเพลงช้า เพลงเร็ว เพลงไทย เพลงพื้นบ้าน หรือแม้แต่เพลงร็อกก็ได้ ขอให้เป็นเพลงฟังสบาย แม่ต้องรู้สึกผ่อนคลายจึงจะเกิดการผ่อนคลายสู่ลูกในท้องด้วย

แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงเป็นพิเศษคือ “การร้องเพลงให้เด็กฟังด้วยตัวเราเอง” มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะเริ่มถอยเพราะคิดว่า “ฉันร้องเพลงไม่เป็น” “ฉันไม่รู้จะร้องเพลงอะไร” หรือ “ถ้าเป็นการร้องเพลงกล่อมเด็ก... ฉันว่ามัน เอ๊าท์ ไปแล้วรึเปล่า” มาลองฟังเหตุผลกันก่อนนะคะ


ประโยชน์จากการใช้เสียงพัฒนาเด็ก นอกจากสมองและกระบวนการการเรียนรู้จะถูกพัฒนาแล้ว ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย หนังสือ ‘เลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรี’ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ เหล่าวานิช ให้ข้อมูลว่า ‘ลูกชอบเสียงร้องเพลงของแม่มากกว่าเสียงพูด’ เนื่องจาก ทารกสามารถรับรู้ระดับเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ทางดนตรีเรียกว่า pitch ได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมทั้งสามารถแยกแยะเสียงพูดหรือเสียงร้องเพลงของแม่ออกจากเสียงผู้หญิงคนอื่นได้ เวลาที่แม่ปลอบหรือร้องเพลงให้ฟัง เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย เพราะรู้ว่ามีแม่อยู่ใกล้ๆ


เมื่อร้องเพลงให้ลูกฟัง (ไม่ว่าตอนลูกอยู่ในครรภ์หรือคลอดและเติบโตแล้ว) เป็นโอกาสที่ลูกจะได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกับตัวตนของแม่มากขึ้น สายใยที่เกิดจากการรับรู้เสียงของแม่ รอยยิ้ม แววตา การสัมผัส ความร่าเริง ความสนุกสนาน และความอ่อนโยน เป็นการส่งผ่านความรักผ่านเสียงเพลงไปสู่ลูก


‘แล้วจะร้องเพลงอะไรดีล่ะ’ เพราะถ้าให้ร้องเพลงกล่อมเด็กแบบดั้งเดิม น้อยคนนักที่จะรู้จักและร้องได้ เราลองพิจารณาหน้าที่ของเพลงกล่อมเด็ก แล้วมาเลือกเพลงกันดีกว่า หน้าที่ของเพลงกล่อมเด็กอาจแบ่งได้สามเรื่องใหญ่ๆ อย่างแรกคือกล่อมให้เด็กฟังแล้วหลับไว-หลับสบาย สองเป็นการถ่ายทอดความรักความห่วงใย และสามเป็นการถ่ายทอดภาษา เด็กจะเรียนรู้จากคำ ประโยค และข้อความจากเพลงนั้นด้วย เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเล่าว่า แม่ของเขาร้องเพลง ‘บัวขาว’ กล่อมเขาตอนเป็นเด็ก และตัวเขาก็ร้องเพลงนี้ได้โดยอัตโนมัติ ในขณะที่เล่าเรื่องนี้ ดูเขาอบอุ่น มีความสุข และรู้สึกปลอดภัย นั่นเป็นความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดและติดตรึงใจลูกตราบจนทุกวันนี้ จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผู้เขียนก็ไม่ได้ใช้เพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมกันทุกคน คุณแม่ท่านนี้ใช้เพลงที่ท่านชอบ บางท่านใช้เพลงลูกกรุงในยุคนั้นขับกล่อมแทน แล้วถ้าคุณแม่ยุคใหม่ชอบฟังเพลงป๊อปยอดนิยม ซึ่งอาจเป็นเพลงรักแสนเศร้า เขาควรจะใช้เพลงเหล่านี้ขับกล่อมลูกหรือไม่ โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า ถ้าเป็นเพลงที่แม่ชอบ และแม่ร้องด้วยจิตใจที่เบิกบาน เพลงเนื้อหาเศร้าก็จะเป็นเพลงที่เพราะมากๆ เพลงหนึ่ง แต่ถ้าภาวะอารมณ์ของแม่กำลังเศร้า ไม่สดใส ก็ควรหลีกเลี่ยง อย่าลืมว่าอารมณ์และความเครียดสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้

ทักษะทางภาษาก็สามารถถ่ายทอดผ่านบทเพลงได้เช่นกัน ยิ่งเด็กเล็กๆ ที่กำลังเติบโตจะสามารถจดจำและเลียนแบบสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้อย่างแม่นยำ จึงไม่แปลกใจที่หลายๆ บ้านเลือกใช้เพลงภาษาอังกฤษสำหรับเด็กขับกล่อมลูก ด้วยหวังว่าลูกจะได้เรียนรู้คำศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษไปแบบแนบเนียนนั่นเอง สรุปง่ายๆ ว่า แม่สามารถเลือกเพลงที่แม่ชอบ เพลงที่แม่รู้สึกสบายและผ่อนคลายเมื่อได้ร้อง ไม่เลือกเพลงที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย


แม้ยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่จะรู้จักเพลงกล่อมเด็กน้อยลง แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่ที่เพลงกล่อมเด็กของท้องถิ่นยังถูกขับกล่อมให้ได้ยินอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น เพลงกล่อมเด็กภาคอีสานที่ขึ้นต้นว่า “นอนสาหล่า หลับตาแม่สิก่อม...” เนื้อเพลงที่ตามมา บ้างก็พรรณนาความรักของแม่ที่มีต่อลูก บ้างก็เล่าถึงวิถีการดำรงชีวิต สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม และเป็นการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าคุณแม่ท่านใดยังสามารถร้องเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมของท้องถิ่นตัวเองได้ ก็เป็นที่น่ายินดีที่ลูกๆ ของคุณมีโอกาสได้สัมผัสความอบอุ่นจากบทเพลงที่ไพเราะและทรงคุณค่า


การร้องเพลงขับกล่อมลูกน้อย ไม่ได้เสริมสร้างแค่พัฒนาการทางกายและสมองเท่านั้น แต่สายใยรักจากเสียงเพลงของแม่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางใจ สร้างความอบอุ่นมั่นคงต่อบุคลิกภาพของเด็กอีกด้วย อยากให้คุณแม่ที่ยังไม่เคยร้องเพลงให้ลูกฟัง ลองเลือกสักเพลง ถ้ายังร้องไม่ได้ก็ลองฮัมดูก่อน เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับทำนอง เดี๋ยวเนื้อร้องจะตามมาเอง ร้องเพลงจบแล้ว หอมแก้มบอกรักเจ้าตัวน้อยด้วยนะคะ...ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

บทความโดย  ธ. อัครรัตน์