6 โรคติดต่อในเด็กเล็ก รู้เร็วรักษาไว

เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นวัยที่เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ และเป็นวัยที่เริ่มไปโรงเรียนทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ถ้ามีเด็กในห้องคนหนึ่งป่วยก็มักจะติดต่อไปยังเพื่อนร่วมห้อง หากเป็นสมัยก่อน โรคติดต่อที่พบในเด็กมักเป็นเพียงความเจ็บป่วยไม่ร้ายแรง เช่น ตาแดง หิด เหา กลากเกลื้อน  แต่ปัจจุบันมีโรคติดต่อในเด็กเกิดเพิ่มขึ้นมากมายและทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกันบ่อยๆ  รวบรวม 6 โรคติดต่อที่เด็กเล็กเป็นกันบ่อย และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว มาแชร์กัน

1) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ  ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการป่วยจะเริ่มปรากฎหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก โดยอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต


การรักษาคือการให้ยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมงที่เริ่มอาการ นาน 3-5 วัน เด็กที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน โดยติดต่อทางการหายใจ จากเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด รวมถึงการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางในการป้องกันโรค แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลดโอกาสหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้

2)  โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)


โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV นับเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในเด็กในช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อาการจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรคประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและหลอดลมขนาดใหญ่ อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดทั่วไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ แต่ในเด็กทารก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส RSV จะก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่า เพราะเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมอักเสบได้โดยมีอาการไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจเร็ว/ติดขัด มีเสียงหวีด หอบ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋ม ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน


ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV หากลูกมีอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะมีการเก็บเสมหะจากจมูกไปทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ พ่นยาเคาะปอด ดูดเสมหะ การแพร่กระจายของไวรัส RSV คล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่น คือผ่านการจามหรือไอที่ก่อให้เกิดละอองเสมหะในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง และผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เช่น เด็กสัมผัสสิ่งของหรือของเล่นที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่  แล้วมาจับปาก จมูก หรือตาของตัวเอง จึงมักติดต่อกันง่ายในโรงเรียน

3)    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรียไมโครพลาสม่า (Mycoplasma)


ไมโครพลาสม่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่ชุมชนมีผู้คนจำนวนมาก เช่นโรงเรียน โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรพาลูกมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ไอรุนแรง หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีผื่นแดงตามผิวหนัง  โดยโรคติดเชื้อไมโครพลาสม่ารักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline

4)    โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth)

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งสายพันธ์ก่อให้เกิดอาการรุนแรงคือ  Coxsackie A และ Enterovirus 71 อาการที่เห็นชัดคือ มีตุ่มแผลในปากหรือในคอ มีผื่นแดงหรือตุ่มใสที่มือ เท้า ตามตัวหรือรอบทวารหนัก ประกอบกับอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาเจียน ถ่ายเหลว มักระบาดในช่วงฤดูฝน และเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น และตุ่มน้ำใส


ปัจจุบันยังไม่มียารักษามือเท้าปากโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่นเช็ดตัวให้ยาลดไข้ ใช้ยาชาบรรเทาการเจ็บแผลในปาก ฯลฯ จนกว่าอาการดีขึ้น อย่างไรก็ดี ควรต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีได้ เช่นภาวะแทรกซ้อนที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อบุสมองอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เป็นต้น และภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น


เมื่อพบว่าลูกเป็นมือเท้าปาก ต้องลูกหยุดเรียนและแจ้งให้โรงเรียนทราบ รวมถึงหลีกเลี่ยงพาเด็กไปสถานที่ชุมชนจนกว่าจะหายดี ควรให้ลูกล้างมือให้สะอาก หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าไป เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

5)   โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina)

โรคเฮอร์แปงไจน่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ชนิดเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก แต่แตกต่างตรงอาการโรคเฮอร์แปงไจน่า จะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ในบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง รวมถึงอาการไข้สูงถึง 39.5-40 องศาเซลเซียส ขณะที่มือเท้าปาก อาการจะมีแผลกระจายอยู่ทั่วปากและผื่นที่มือ เท้า ซึ่งไข้จะไม่สูง โรคเฮอร์แปงไจน่าติดต่อลักษณะเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก จากการสัมผัสกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ จึงมักจะระบาดในเด็กวัยอนุบาลที่อยู่ในใช้สิ่งของ ของเล่นร่วมกันในโรงเรียน


ในการรักษายังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ ใช้วิธีรักษาบรรเทาตามอาการ โดยทั่วไปโรคเฮอร์แปงไจน่าไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ อาจต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนในเด็ก เช่นรับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบ หรือชัก ควรรีบพบแพทย์

6)    ท้องเสียจากการติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus)

การติดเชื้อโนโรไวรัส มักระบาดในฤดูหนาว ทำให้เกิดอาการอักเสบที่กระเพาะอาหาร มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ คืออาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย ไข้ต่ำๆ มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมง หากเด็กเล็กป่วย อาจมีอาการรุนแรงทำให้เกิดอาการขาดน้ำ จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้สารละลายเกลือแร่หรือน้ำเกลือ และรักษาตามอาการเชื้อโนโรไวรัส แพร่ระบาดผ่านการสัมผัสทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อน รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แล้วเอานิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก และยังติดต่อทางการหายใจ เช่นการหายใจใกล้ผู้ป่วยที่อาเจียน และแม้ผู้ป่วยจะดีขึ้นจนไม่มีอาการแล้ว เชื้อก็ยังอยู่ในอุจจาระนานเป็นสัปดาห์

ความเจ็บป่วยของลูกเป็นความทุกข์ใจของพ่อแม่ เมื่อลูกเริ่มมีอาการป่วยและพ่อแม่กังวลใจกับการพาลูกไปโรงพยาบาล บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ในการใช้บริการแอปพลิเคชั่นเหล่านี้เพื่อปรึกษาแพทย์เบื้องต้น แจ้งอาการป่วยของลูกและขอคำแนะนำผ่าน  Video Call ได้

โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ partner ในการนำเสนอบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน แอป SCB EASY จากเมนู ”มาตรการช่วยเหลือโควิด-19” แล้วเลือก เมนู “บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์” สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-



ขอบคุณข้อมูล

https://www.honestdocs.co

http://www.cuhc.chula.ac.th/th/archives/87

http://www.siphhospital.com

https://med.mahidol.ac.th

http://paolohospital.com

https://health.kapook.com