ช้อปยังไงไม่ให้เสียเปรียบค่าเงิน

“ค่าเงิน” หัวข้อที่นักท่องเที่ยวต้องพบเจอเป็นด่านแรกเสมอก่อนตะลุยต่างแดน เพราะต้องมาเปรียบเทียบให้รอบคอบก่อนว่าจุดหมายนั้นๆ มีค่าใช้จ่ายกินอยู่อย่างไร เพื่อนำไปสู่การวางแผนจับจ่ายที่เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่


เมื่อการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่การจะให้ชีวิตหลังกลับบ้านมาแล้วยังแฮปปี้ได้ ไม่มีอะไรเลิศล้ำเกินกว่าพบว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปในต่างแดน ไม่เสียเปรียบค่าเงินที่ต่างสกุลกับบ้านเรา


หลายคนอาจยังมีคำถามคาใจว่า จะพกเงินไปเที่ยวอย่างไรให้ชาญฉลาด ไม่ต้องกรีดน้ำตาเพราะเงินที่กระเด็นหาย ระหว่างเส้นทางที่ค่าเงินบาทแปลงกายสู่สกุลต่างประเทศ ตัวเลือกทั้งหลายต่อไปนี้ อาจเป็นคำตอบที่ดีให้นักท่องเที่ยวได้

เงินสด

แน่นอนเมื่อเทียบในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังคงตอบโจทย์เรื่องอัตราที่ผู้ใช้ควบคุมได้ แต่ อีกแง่กลับสุ่มเสี่ยงกับความปลอดภัยมากมาย โดยเฉพาะการฉกชิงนักท่องเที่ยวที่มีข่าวให้ระแวดระวังอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งพกเงินสดไปเยอะ อาจต้องผ่านขั้นตอนทางศุลกากรของประเทศต่างๆ อีกไม่น้อย

ที่ทำให้เจ็บปวดหัวใจหนัก คือหากเหลือเงินกลับมาแลกเมื่อไร เตรียมใจขาดทุนได้เลย ยิ่งเหลือเป็นเหรียญยิ่งไม่ต้องพูดถึง เคาน์เตอร์แลกเงินส่ายหน้าปฏิเสธแน่นอน

บัตรเครดิต

แม้อัตราแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศเป็นไปตามผู้ให้บริการกำหนด อาทิ VISA, Mastercard หรือ JCB ซึ่งอาจสูงกว่าตามร้านแลกเงินเล็กน้อย รวมถึงค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินที่มักอยู่ที่ 2-2.5% ของรายการที่ใช้จ่าย


แต่หากชั่งตวงวัดกับความสะดวกแล้ว ถือว่าเป็นตัวเลือกมีประโยชน์ไม่น้อย ยิ่งขณะนี้ธนาคารต่างๆ ขยันออกหมัดจับตลาดนักเดินทาง ด้วยการมอบแต้มมากกว่าปกติเมื่อใช้จ่ายต่างประเทศ จูงใจให้เก็บสะสมคะแนน แล้วแลกเป็นไมล์เพื่อแลกตั๋วเครื่องบินออกเดินทางครั้งใหม่ได้เร็วยิ่งขึ้น


ถ้าไปซื้อสินค้าที่แน่ใจว่าต้องได้เงินทอนเหรียญ การรูดบัตรไปเลยอาจคุ้มค่ากว่า อีกเทคนิคที่ควรจำให้มั่นเมื่อใช้จ่ายด้วยบัตรในต่างประเทศ เมื่อพนักงานให้เลือกว่าจะจ่ายด้วยสกุลเงินใด ขอให้หันไปยิ้มให้อย่างสวยๆ อย่างรู้ทัน แล้วเลือกสกุลท้องถิ่นเท่านั้น เพื่อจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการแปลงสกุลเงินหลายรอบ

E-Wallet

กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ดาวดวงใหม่ที่ใครๆ กำลังพูดถึง เป็นระบบการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านแอปพลิเคชันหรือโซลูชันด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสด และประเทศที่แพร่หลายที่สุดก็หนีไม่พ้นในจีน มีผู้ให้บริการยอดนิยม อาทิ Alipay และ WeChat Wallet นอกจากจะใช้จ่ายในจีนเองได้แล้ว ยังใช้ในฮ่องกง, มาเก๊า และไทยได้ด้วย ยิ่งตอนนี้ QR Code แม่มณีของ SCB จับมือกับ Alipay ให้นักท่องเที่ยวแดนมังกรที่มาเที่ยวไทย สแกน QR ปุ๊บจ่ายเงินได้ปั๊บแบบไม่ง้อเงินสดเลยจ้า  วิธีการนี้นิยมแค่ไหนลองดูร้านค้าน้อยใหญ่ของไทย ทั้งตลาดนัดจตุจักรหรือตลาดสามย่าน ที่ต่างก็ปรับตัวรับการจ่ายของชาวจีนผ่านแอปฯ ให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเป็นเงินหยวน ลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้นักช้อป เมื่อคนซื้อสบาย คนขายก็นับยอดเพลินกันทั้งบางเลยทีเดียว

Prepaid Travel Card

นวัตกรรมการเงินที่ยังใหม่สำหรับบ้านเรา แต่ในอังกฤษและยุโรปอีกหลายประเทศได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับการลดความเสี่ยงค่าเงิน เพราะสามารถเติมเงินล่วงหน้าเข้าไปยังบัตร และแปลงเป็นค่าเงินที่ต้องการได้เลย เปรียบเสมือนการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward contract) ทำให้คาดการณ์เงินต่างประเทศที่ต้องการล่วงหน้าได้


ช้อปปิ้งในยุค 4.0 มีทางเลือกใช้จ่ายอย่างสมาร์ทมากมาย ใครชอบแนวทางไหน สะดวกคุ้มค่ายังไง ถามใจตัวเองได้เลย


อ้างอิง:

http://www2.bot.or.th/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=407&language=ENG

http://hpi.hotels.com/us-2016/hotel-prices-around-the-world/