ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
สมดุลชีวิตสร้างได้ สุขภาพก็ดี แถมมีเงินเก็บ
‘การมีเงิน หรือได้ครอบครองสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงินนั้น แม้ว่าจะช่วยสร้างความพึงพอใจได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็จงจำไว้ว่า อย่าปล่อยให้ตัวเองสูญเสียสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้โดยเด็ดขาด’
‘It's good to have money and the things that money can buy, but it's good, too, to check up once in a while and make sure that you haven't lost the things that money can't buy.’
นี่คือคำกล่าวของจอร์จ ลอรีเมอร์ (George Lorimer) บรรณาธิการผู้ปลุกปั้นนิตยสาร The Saturday Evening Post ให้กลายเป็นนิตยสารยอดนิยมของชาวอเมริกันที่มียอดพิมพ์ถึง 3 ล้านฉบับ ก่อนที่จะกลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ในความเห็นของผู้เขียน คือ เวลา ความสัมพันธ์ และสุขภาพ เพราะต่อให้มีเงินมากมายเพียงไหน เราก็ไม่สามารถซื้อเวลาให้ย้อนคืนกลับมา ไม่สามารถซื้อความสัมพันธ์ และสุขภาพที่ดีให้คืนกลับมาได้เช่นกัน
ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างสมดุลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องเงินหรือเรื่องงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขอีกตั้งหลายอย่างที่คุณจะต้องนึกถึง เช่น
การใช้ชีวิตอย่างสมดุล คือ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่สูงจนเกินไป หรือต่ำจนเกินไป การเฉลี่ยเวลาในชีวิตออกไปอย่างเหมาะสมในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเวลาที่ใช้ในการทำงาน เวลาที่ให้กับครอบครัว เวลาที่ใช้ในการพักผ่อน เวลาที่จะอุทิศตนเพื่อสังคม และเวลาที่ใช้ดูแลพัฒนาตนเอง
นอกจากนี้ “ความสมดุล” ยังหมายถึง การเดินทางสายกลางระหว่าง "ปัจจุบัน" กับ "อนาคต" เพราะทั้งปัจจุบันและอนาคตมีความสำคัญพอๆ กัน การคิดถึงอนาคตแต่เพียงอย่างเดียว อาจส่งผลให้ชีวิตในปัจจุบันของเราแย่ลงได้ เช่น ทำงานหนักเพื่อหวังให้ครอบครัวได้อยู่อย่างสุขสบายในอนาคต แต่กลับทำให้เราไม่มีเวลาให้ลูกและครอบครัว หรือดูแลตัวเองเลย เราตั้งใจอดออม และเก็บเงินเพื่ออนาคตเป็นอย่างมาก จนทำให้ต้องใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างฝืดเคือง กระเบียดกระเสียร และตระหนี่ถี่เหนียว นั่นจะทำให้ชีวิตของเราไม่มีความสุข
ในทางตรงกันข้าม หากเราเต็มที่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอนาคตเลย เพราะคิดว่า “ชีวิตนี้แสนสั้น จะตายวันตายพรุ่งไม่อาจรู้ได้ รู้แต่วันนี้ยังมีชีวิตอยู่ ก็ขอใช้ชีวิตให้คุ้มก่อนแล้วกัน” ก็เลยใช้จ่ายกินเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้เงินที่หามาได้ ลืมคิดไปว่าหากเรามีอายุยืนยาวกว่าที่คาด ถึงตอนนั้นจะเหลืออะไรไว้ให้ได้ใช้ตอนแก่ ในเมื่อเราตอนหนุ่มสาวแย่งเราตอนแก่ไปเสียจนหมดแล้ว
เคล็ดลับการวางแผนการเงิน เพื่อสร้างสมดุลในชีวิต คือ การบริหารเงินแบบ 6 Jars ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ได้มาจากหนังสือ ‘Secrets of the Millionaire Mind’ โดย T. Harv Eker หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า ‘ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน’ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการแกะรอยวิธีคิดของคนรวยว่าเขาหาเงิน เก็บเงินและใช้เงินอย่างไร ถึงได้กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ ในหนังสือเล่มนี้ได้มีการพูดถึงหลักการบริหารเงินอย่างเรียบง่ายโดยให้คุณแบ่งเงินเป็น 6 บัญชี (6 Jars) ดังนี้
บัญชีที่ 1 คือ บัญชีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom Account, FFA) ให้แบ่งเงิน 10% ของรายได้ใส่ไว้ในบัญชีนี้ และเงินนี้จะเป็นเงินที่คุณนำไปลงทุนให้งอกเงย ออกดอกออกผล เป็นบัญชีเพื่อสร้างแม่ห่านที่ออกไข่เป็นทองคำให้คุณ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะไม่แตะต้องเงินนี้เลย นอกเสียจากว่าจะนำเงินนี้ไปลงทุนหรือสร้างแหล่งสร้างรายได้ให้กับคุณ และบัญชีนี้ก็จะเป็นบัญชีเพื่อการเกษียณอายุของคุณด้วย
บัญชีที่ 2 คือ เงินออมระยะยาวเพื่อการใช้จ่าย (Long Term Saving for Spending Account)
ให้คุณใส่เงินเข้าบัญชีนี้ 10% เพื่อเป็นการเก็บเงินระยะยาวเพื่อการใช้จ่ายหรือซื้อของชิ้นใหญ่ๆ โดยบัญชีนี้จะช่วยทำให้คุณเก็บเงินให้ได้ก่อน แล้วค่อยนำเงินที่เก็บได้ไปใช้ซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่คุณเก็บเงินได้ครบ คุณอาจหมดความรู้สึกอยากได้ของชิ้นนั้นไปแล้วก็เป็นได้ (หากของชิ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิตของคุณ)
บัญชีที่ 3 คือ บัญชีเพื่อการศึกษา (Education Account)
ขอให้คุณกันเงิน 10% อีกเช่นกันเก็บในบัญชีเพื่อการศึกษานี้ เหตุผลที่คุณต้องมีการเตรียมเงินเพื่อการศึกษาของตัวเองก็เพราะว่า โลกสมัยนี้หมุนเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ไวมากๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ลำพังแค่คุณยืนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่การที่โลกหมุนเร็วมาก ก็เปรียบเสมือนคุณเดินถอยหลังแล้ว ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้เลย
บัญชีที่ 4 คือบัญชีเพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็น (Necessity Account)
ให้คุณใส่เงินในบัญชีนี้ 55% เพราะเป็นบัญชีที่คุณไว้จับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน และนั่นเป็นกุศโลบายที่แยบยลที่จะทำให้คุณต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับงบประมาณที่กำหนด
บัญชีที่ 5 คือบัญชีเงินใช้เล่น (Play Account)
ให้คุณใส่เงินในบัญชีนี้ 10% ซึ่งเงินในบัญชีนี้จะเป็นเงินที่นำไปใช้จ่ายส่วนตัวตามใจชอบ ถือเป็นรางวัลสำหรับความเหนื่อยยากในการทำงานแต่ละเดือน เป็นเงินที่คุณจะสามารถใช้ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง นอกจากจะทำให้คุณได้มีความสุขกับปัจจุบันแล้ว มันยังทำให้คุณรู้สึกว่าการบริหารเงินเป็นเรื่องที่สนุกอีกด้วย
บัญชีสุดท้าย บัญชีที่ 6 คือ บัญชีเพื่อการให้ (Give Account)
เมื่อได้รับแล้วก็ต้องรู้จักให้ เงินในส่วนที่เหลืออีก 5% มีจุดประสงค์เพื่อบริจาคให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซื้อของขวัญให้กับคนใกล้ชิดในโอกาสพิเศษ หรือแม้แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการอุทิศตัวเป็นอาสาสมัครในองค์กรการกุศลต่างๆ
กล่าวโดยสรุป สิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนการเงิน คือ การหาจุดสมดุลที่พอดีและเหมาะสม โดยใช้ชีวิตในปัจจุบันให้พอดี มีการตั้งงบประมาณเพื่อใช้จ่าย เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามสมควร แต่ก็ไม่ลืมที่จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่ออนาคตอย่างเพียงพอ เพื่อที่เราจะได้มีความสุขทั้งในวันนี้และวันหน้า ให้เป็นชีวิตที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์
บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร