สร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ควรซื้อวัสดุเองหรือไม่ แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

การสร้างบ้าน หรือปรับปรุงต่อเติมส่วนเล็กๆ น้อยๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเจ้าของบ้าน กว่าจะได้บ้าน หรือส่วนต่อเติมในฝัน ต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ หลายคนคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำยังไงให้ได้บ้านอย่างที่ต้องการ เสร็จในเวลาที่กำหนด งบไม่บานปลาย และใช้งบประมาณได้คุ้มค่าที่สุด หลายคนมีคำถามว่าควรให้ผู้รับเหมา เหมาทั้งค่าแรงและค่าวัสดุไปเลยทั้งหมด หรือจะจ้างแบบเหมาค่าแรงแต่เราซื้อวัสดุเองดี วิธีไหนจะคุ้มค่ากว่า ประหยัดกว่าและงบไม่บานปลาย เรามาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบกัน


แบบเหมาค่าแรง เจ้าของบ้านซื้อวัสดุเอง

ข้อดี

  1. ได้เลือกของเองทุกอย่าง ได้ของทุกอย่างที่พอใจ

  2. ราคาวัสดุอุปกรณ์บางอย่างอาจถูกกว่าราคาจากผู้รับเหมา และยังอาจใช้บัตรเครดิตรูดสะสมคะแนนได้

  3. มีความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่เลือกซื้อมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเลือกของที่มีคุณภาพกว่าที่เคยคิดเอาไว้

  4. มีข้อมูลร้านค้าและสินค้าครบถ้วน ถ้าในอนาคตต้องมีการซ่อม เปลี่ยนส่วนใด เราจะมีข้อมูลติดต่อร้านค้าได้โดยตรง เพราะมีหลายเคสที่สร้างบ้านเสร็จภายหลังมีงานต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่ไม่สามารถขอข้อมูลจากผู้รับเหมาได้ เพราะผู้รับเหมาไม่ได้เก็บข้อมูลไว้ให้

ข้อเสีย

  1. การเลือกซื้อของเอง ทำให้มีโอกาสเห็นสินค้าหลากหลายมากกว่าที่เคยคิดไว้ จึงต้องมีการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพ ซึ่งมักใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้

  2. จำเป็นต้องดูหน้างานบ่อยๆ เพื่อป้องกันการใช้วัสดุที่เราซื้อสิ้นเปลืองและไม่ระมัดระวังเพราะไม่ใช้งบของผู้รับเหมาเอง หรือ อาจถูกสับเปลี่ยนวัสดุหน้างาน

  3. ต้องคอยประสานงานระหว่างผู้ขายวัสดุกับผู้รับเหมา เพื่อให้ผู้รับเหมาได้รับของไปใช้งานได้โดยไม่ติดขัดกระบวนการก่อสร้าง

  4. การที่ผู้รับเหมาไม่ได้ซื้อของเอง มักจะทำให้ผู้รับเหมาละเลยที่จะคิดคำนวณหรือตรวจสอบปริมาณของที่ต้องสั่งอย่างถี่ถ้วน บางครั้งอาจทำให้ต้องเสียเวลาสั่งเพิ่ม บางครั้งอาจทำให้งานก่อสร้างติดขัดล่าช้า ทางแก้ไขต้องทำโดยให้เจ้าของบ้านช่วยคิด และตรวจสอบปริมาณของที่จะสั่ง ซึ่งหลายๆ ครั้งต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุนั้นๆ


แบบรับเหมาทั้งค่าของและค่าแรง

ข้อดี

  1.  ไม่ต้องเสียเวลาในการหาของและประสานงานเรื่องการส่งของให้ผู้รับเหมา

  2.   หากผู้รับเหมามีความพร้อม จะสามารถทำงานเสร็จได้เร็วกว่า

  3.   ไม่ต้องเสียเวลาคิดคำนวณปริมาณการใช้ หรือการแบ่งเศษเหลือของวัสดุ

  4.    วัสดุอุปกรณ์บางอย่างผู้รับเหมาซื้อได้ถูกกว่าเพราะซื้อบ่อย เพราะร้านวัสดุก่อสร้างมักมีราคาพิเศษให้กับผู้รับเหมา

 

ข้อเสีย

  1. ราคาอาจแพงกว่า

  2. วัสดุบางอย่างอาจไม่ตรงใจหรือไม่ได้คุณภาพที่สมควร (มักเป็นสิ่งที่ผู้ที่ไม่มีความรู้ในการก่อสร้างไม่สามารถบอกได้)

  3. บางครั้งผู้รับเหมาอาจประหยัดการใช้วัสดุมากเกินไปจนทำให้ได้ของที่ไม่ได้คุณภาพ


ทั้งนี้เจ้าของบ้านอาจใช้ทั้งสองรูปแบบผสมกัน เช่นในส่วนของโครงสร้าง รากฐาน เสาเข็ม ก็เหมาจ่ายไปทั้งหมด ขั้นตอนหลังจากนั้นอาจใช้หลักเกณฑ์การนับจำนวนในการตัดสินใจว่าสิ่งใดเจ้าของบ้านจะซื้อเอง สิ่งใดให้ผู้รับเหมาซื้อจะสะดวกกว่า ซึ่งแนะนำว่าเจ้าของบ้านควรซื้อของที่สามารถนับจำนวนเป็นชิ้นเป็นอันได้ หรือมีปริมาณไม่มาก สามารถคำนวณได้ง่าย โอกาสผิดพลาดในการติดตั้งน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นวัสดุตกแต่ง เช่น สุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ อ่างอาบน้ำ ก๊อกน้ำ ฝักบัว และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำและห้องครัว, โคมไฟ, หน้ากากปลั๊ก+สวิตช์ไฟ, ปั๊มน้ำ, กระเบื้องปูพื้นหรือผนัง (สามารถวัดพื้นที่หรือนับจำนวนแผ่นได้) เป็นต้น ส่วนของที่ไม่สามารถนับจำนวนได้ มีปริมาณมาก โอกาสผิดพลาดในงานก่อสร้างสูง เช่น คอนกรีต, อิฐ, หิน, ปูน, ทราย, ไม้, เหล็กเส้น, สี, ท่อประปา, สายไฟ ฯลฯ ควรให้ผู้รับเหมาเป็นฝ่ายจัดการหาซื้อจะดีกว่า เพราะถ้าซื้อเกินหรือขาดไป ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยอยู่ในราคาที่เสนอให้เจ้าของบ้านแล้ว

หากเป็นงานประเภทต่อเติมอาจต้องพิจารณาจากประเภทของงาน งานประเภทที่มีการใช้วัสดุประเภทตกแต่ง ก็อาจเหมาะกับการแยกซื้อของเอง งานที่มีการใช้วัสดุประเภทโครงสร้างอาจว่าจ้างแบบเหมาทั้งของและแรง


ควรมีการทำสัญญาให้ละเอียดถึงขอบเขตงานที่ผู้รับเหมาต้องทำ อะไรที่จะให้ผู้รับเหมาซื้อ อะไรที่เจ้าของบ้านจะซื้อเอง หรือในกรณีให้ผู้รับเหมาซื้อสามารถระบุสเปก ยี่ห้อ รุ่นที่ชัดเจนลงไปในสัญญา หรือถ้าไม่รู้สเปก รุ่น ยี่ห้อ ก็อาจใช้การระบุวงเงินสำหรับวัสดุนั้นๆ แทนก็ได้เช่นกัน ซึ่งหลายคนที่มีประสบการณ์สร้างบ้านพบว่าสามารถประหยัดงบประมาณลงได้ บวกกับได้วัสดุในคุณภาพและรูปแบบที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามการซื้อของเองอาจจะไม่ทำให้ได้ราคาถูกกว่าเสมอไป เพราะในงานก่อสร้างยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่ส่งผลต่อราคา


สรุปแล้วจะเลือกวิธีไหนขึ้นอยู่กับเวลา ความรู้ ความเข้าใจและความต้องการของเจ้าของบ้านแต่ละราย เพราะทั้งสองแบบต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียพอๆ กัน โดยเจ้าของบ้านต้องไม่ลืมคิดว่าเวลาของเจ้าของบ้านที่ต้องเสียไปเพื่อแลกกับส่วนต่างของเงินที่ประหยัดได้นั้น สามารถแปรเป็นเงินได้เช่นกัน หากต้องเสียงานเพื่อมาดูแลงานก่อสร้างแล้วประหยัดเงินได้จำนวนหนึ่ง แล้วจะคุ้มจริงๆ หรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างแบบไหนแนะนำให้ปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรเพื่อช่วยให้คำปรึกษาในการก่อสร้างให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ได้บ้านตรงตามความต้องการ ในระยะเวลาที่กำหนด