ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
6 ไอเดีย ปรับปรุงบ้านให้สะดวก ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ
คาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั่นคือปี 2564 เช่นเดียวกันกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก นั่นหมายถึงประชากร 1 ใน 4 ของประเทศจะเป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องอยู่อาศัยในบ้านเพียงลำพังในช่วงเวลาที่ลูกหลานไปทำงานนอกบ้าน และยิ่งสังคมปัจจุบันที่หลายๆ คู่ไม่มีบุตร หรือคนอีกจำนวนมากที่เป็นคนโสด พอถึงวัยเกษียณ วัยชราก็อาจต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ผู้สูงอายุหลายๆ คนมีความสุขและเลือกที่จะอยู่ในบ้านของตัวเองในยามบั้นปลาย ไม่อยากไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือโรงพยาบาล แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง การใช้ชีวิตลำพังหรือแม้จะยังอยู่กับลูกหลานก็ไม่ง่ายหรือคล่องตัวเหมือนก่อน ดังนั้นการเตรียมพร้อมปรับปรุงบ้านหลังเดิมเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุซึ่งอาจจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ของเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองในอนาคตเมื่อยามแก่ชราเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้อยู่ในบ้านอย่างมีความสุข สะดวกและปลอดภัย บทความนี้มีเทคนิคในการปรับปรุงบ้านหลังเดิมของเราให้เหมาะกับการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมาฝากกัน
1. เปิด - ปิดง่าย ถนัดมือ
สำหรับคนที่ยังหนุ่มสาวอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าการเปิด ปิดประตูแบบลูกบิดมันยากลำบากอะไร แต่จริงๆ แล้วการเปิดประตูเข้าออกเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดทุกวัน วันๆ หนึ่ง อาจจะหลายครั้งด้วยซ้ำ สำหรับผู้สูงอายุหลายๆ คน บางครั้งการเปิดประตูลูกบิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ตัวเราเองเวลามือเปียกหรือลื่นก็สามารถสร้างปัญหาในการเปิดประตูลูกบิดได้เช่นกัน การเปลี่ยนที่จับเพื่อเปิด ปิดประตูจากแบบลูกบิดมาเป็นแบบด้ามเรียบๆ ที่จับถนัดมือจะช่วยทำให้การใช้ชีวิตประจำวันในบ้านของผู้สูงอายุสะดวกมากขึ้น แม้กระทั่งก๊อกน้ำในบ้านการเปลี่ยนจากก๊อกน้ำแบบหมุนมาเป็นเป็นแบบก้านยกขึ้นลงก็ช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้นด้วย นอกจากรูปแบบมือจับแล้วระดับของที่เปิด ปิดประตู ต้องอยู่ในความสูงและความลึกที่เข้าถึงง่ายไม่ต้องเอื้อม ไม่ต้องเข่ยง เพื่อความปลอดภัย
2. พื้นบ้านที่ปลอดภัย
เรื่องพื้นๆ ที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่ารู้อยู่แล้ว แน่นอนว่าพื้นต้องไม่ลื่นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม พื้นบ้านทุกพื้นที่ต้องเป็นแบบ slip-resistant พูดง่ายๆ คือป้องกันการลื่นได้ เช่น ถ้าปูพรมก็ควรมีวัสดุกันลื่นอยู่ใต้พรมอีกที หรือที่ดีที่สุดคือไม่มีพรมชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เหยียบแล้วอาจลื่นหกล้มได้ พื้นภายนอกบ้านที่เป็นวัสดุผิวเรียบเช่น พื้นปูกระเบื้อง หรือพื้นหินขัด ที่อยู่ในส่วนที่ฝนสาดถึง ก็เป็นบริเวณที่ต้องระวังเช่นกัน เพราะเป็นบริเวณที่เดินได้อย่างไม่มีอันตรายในเวลาปกติ แต่เมื่อมีฝนตก หรือมีคราบน้ำตกค้าง เราอาจลืมตัวเดินไม่ระวังจนเกิดอันตรายได้ ซึ่งแก้ได้ทั้งการปรับเปลี่ยนผิวพื้น เพิ่มชายคากันฝน หรือหาของมาวางกันไม่ให้เดินได้เป็นต้น
เรายังควรสำรวจระดับพื้นในจุดต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนระดับ หรือจุดใดที่อาจจะทำให้สะดุดได้หรือไม่ จุดต่างๆ เหล่านี้หากจำเป็นต้องมี ก็ควรจะมองเห็นได้ง่าย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือบังตา บางบ้านที่มีการต่อเติมมาก่อนแล้ว อาจมีพื้นยกระดับที่สูงเกินกว่าจะก้าวขึ้นได้อย่างสะดวก ก็ควรมีการปรับระดับความสูงโดยอาจเพิ่มเป็นขั้นแบ่งระดับที่ใหญ่พอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ไม้เท้าเดินได้สะดวกขึ้น
3. บันไดที่ปลอดภัย
สำหรับบ้านที่มากกว่าหนึ่งชั้น การขึ้นลงบันไดสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติในผู้สูงอายุได้มากเลยทีเดียว ราวบันไดต้องมีให้จับได้อย่างสะดวกขณะอยู่บนบันไดในทุกๆ ขั้น ไฟส่องสว่างบริเวณบันไดก็ขาดไม่ได้ ต้องแน่ใจด้วยว่าตั้งแต่ขั้นแรกจนขั้นสุดท้ายมีแสงสว่างเพียงพอ มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสุดขั้นบันไดแต่ละขั้นตรงไหน ซึ่งทั้งหมดสามารถช่วยลดอุบัติเหตุจากการตกบันไดได้มากเลย
4. แสงสว่างเพียงพอ
พื้นที่ที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ว่าจะเดินชนโน่นชนนี่ การสะดุดหกล้ม นอกจากนั้นแสงสว่างยังมีผลต่อการใช้สายตา การอ่านหนังสือด้วย แสงสว่างที่ไม่เพียงพอจะมีผลเสียต่อสุขภาพสายตาและการมองเห็น ดังนั้นต้องแน่ใจว่าทุกห้อง ทุกพื้นที่มีแสงสว่างเพียงพอ ทั้งแสงสว่างจากหลอดไฟ และแสงธรรมชาติ
5. มีพื้นที่วางสิ่งของ สำหรับผู้สูงอายุ
การพยายามควานหากุญแจ หรือไขกุญแจเพื่อจะเปิดประตูเข้าบ้าน หยิบจดหมายหรือถือพัสดุไว้ในมือแล้วพยายามจะเปิด ปิดประตู ก็สามารถทำให้เกิดการสูญเสียการทรงตัวได้ง่ายๆ ดังนั้นการมีพื้นที่วางของหรือพื้นที่ให้นั่ง เช่นโต๊ะ ม้านั่ง ที่สามารถวางสิ่งของในขณะที่จะเปิด ปิดประตูเข้าบ้าน หรือนั่งเพื่อหาของก็จะเพิ่มความสะดวกและลดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
6. ห้องน้ำที่เป็นมิตร
พอพูดถึงห้องน้ำที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุหลายๆ คนมักจะนึกถึงราวจับในห้องอาบน้ำ แต่จริงๆ แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เช่นการเพิ่มราวจับบริเวณใกล้โถส้วม ห้องน้ำธรรมดาแบบฝักบัวจะง่ายในการใช้งานมากกว่าอ่างอาบน้ำที่ต้องก้าวเข้าก้าวออก ก๊อกน้ำที่เปิดปิดง่ายจับถนัดจะสะดวกกว่าแบบหมุนที่อาจยิ่งลำบากขึ้นไปอีกเวลามือลื่นจากสบู่ ฝักบัวอาบน้ำแบบมือจับจะง่ายในการใช้งานมากกว่าฝักบัวแบบยึดติดกับที่ ซึ่งผู้ใช้อาจจะต้องเคลื่อนไหวร่ายกายเพื่อให้สัมผัสกับน้ำในบริเวณที่ต้องการ การกั้นพื้นที่เปียกกับพื้นที่แห้งด้วยผ้าม่านดีกว่าเป็นแบบกระจกที่ต้องเปิด หรือเลื่อนออก ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่อาบน้ำที่ไม่กั้นแยกส่วนที่ต้องเดินหรือก้าวเขาไปจะช่วยให้ใช้งานได้ง่ายและปลอดภัยกว่า การเพิ่มส่วนที่สามารถนั่งได้หรือมีเก้าอี้ในห้องน้ำ
ด้วยการปรับปรุงบ้านง่ายๆ ด้วยงบประมาณไม่มาก ที่สามารถทยอยทำเป็นส่วนๆ ตามงบประมาณที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้บ้านหลังเดิมที่คุ้นเคยปลอดภัยและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในบ้านมากขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตในบ้านที่รักอย่างปลอดภัย ลูกหลานเองก็ออกไปทำงานนอกบ้านได้อย่างไม่กังวลมากนัก เพื่อให้บ้านของคุณเป็นที่สร้างความสุขสำหรับคนทุกวัย