5 เรื่องต้องระวังกระเป๋าตังค์รั่วช่วงหน้าฝน

เข้าสู่หน้าฝนในเดือนพฤษภาคมกันแล้ว หลายคนดีใจเพราะอากาศที่ร้อนระอุได้ลดดีกรีลง และเปลี่ยนเป็นฝนชุ่มฉ่ำเข้ามาแทนที่ นอกจากความสุขเนื่องจากความเย็นแล้ว สิ่งที่ต้องระวังให้ดีช่วงหน้าฝนก็คือ บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่แฝงมาในช่วงนี้ ดังนั้น อย่าลืมวางแผนการใช้จ่ายกันให้ดี เพื่อให้เราผ่านหน้าฝนปีนี้ไปได้อย่างไม่ร้อนใจ ร้อนเงิน สำหรับช่วงหน้าฝนเราต้องระวังตังค์รั่วไปกับอะไรบ้างมาดูกันเลย


· ปัญหาน้ำรั่วในบ้าน ค่าซ่อมบาน คนมีบ้านต่างรู้กันดีว่า เราต้องตรวจสอบและซ่อมบำรุงบ้านอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหน้าฝนที่หลายคนมักเจอปัญหาน้ำรั่วซึมจากหลังคาบ้านที่เริ่มเสื่อมสภาพ แตกร้าว หรือวัสดุอุดปิดที่หมดอายุ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำซึมบนผนังบ้าน หรือบริเวณกรอบวงกบประตู หน้าต่าง ซึ่งหากเราละเลยไม่ตรวจสอบ และซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนหน้าฝนจะมาถึง อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น เชื้อราที่ผนัง สีลอกร่อน  เฟอร์นิเจอร์ได้รับความเสียหายจากความชื้น และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ส่งผลเสียต่อสุขภาพคนในบ้านได้


ที่สำคัญเมื่อเกิดความเสียหายในบ้านขึ้น เราอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายก้อนโตในการซ่อมแซมบ้านในช่วงหน้าฝนอีกด้วย ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบบ้านในจุดต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาความเสียหาย และเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย


· ฝนตก รถติด เปลืองน้ำมัน ความโหดร้ายมาเยือนทุกครั้งที่ฝนตกในช่วงการจราจรคับคั่ง ทั้งในช่วงเช้า และช่วงเย็น โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนัก รถติดไม่ขยับ ถ้าเป็นแบบนี้ทุกวัน ไม่รู้ต้องเติมน้ำมันเท่าไหร่ต่ออาทิตย์ ดังนั้น หากเราไม่สามารถบังคับฟ้าฝนให้เป็นไปตามใจได้ ก็อย่าลืม วางแผนการเดินทางก่อน ตรวจสอบการจราจรดูว่าเส้นทางไหนรถติดมาก และหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น เพื่อช่วยประหยัดน้ำมันได้อีกทางหนึ่ง หรือจะเลือกเดินทางด้วย BTS หรือ MRT ก็ช่วยประหยัดเวลา และประหยัดค่าน้ำมันได้ไปในตัว นอกจากนี้ เรื่องความเย็นในรถก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เปลืองน้ำมันได้ หน้าฝนแบบนี้อากาศไม่ร้อนเท่าไหร่ ลองปรับอุณหภูมิแอร์ในรถไม่ให้เย็นเกิน ปิดแอร์ก่อนถึงจุดหมาย 2-3 นาที จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ 30 ซีซี เลยทีเดียว


· อุบัติเหตุกะทันหัน เสียตังค์ไม่คาดคิด การขับรถในช่วงฝนตกต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะ ในช่วง 5 นาทีแรกที่ฝนตกลงมาเป็นช่วงที่ถนนลื่นมาก ทำให้ต้องระวังอุบัติเหตุเป็นพิเศษ นอกจากนี้ หากฝนตกลงมาอย่างหนัก อาจทำให้เรามองเส้นทางไม่ชัดเจนนัก จึงมีโอกาสลื่นไถล หรือเบรกกะทันหัน รวมถึงตกลงไปในแอ่งน้ำที่ท่วมขัง ส่งผลให้รถเสียหายจากน้ำท่วม เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถคันอื่นได้ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงต้องใช้รถ ใช้ถนนอย่างระมัดระวัง และหมั่นตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ ความสมบูรณ์ของยางรถ รวมถึงไม่ลืมต่ออายุประกันอุบัติเหตุรถให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

expense-in-rainy-season-01

· เจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฝน หลายโรคที่ตามมาในช่วงหน้าฝน เป็นบ่อเกิดแห่งการเจ็บป่วยของตัวเราและคนในครอบครัว โดยกลุ่ม 5 โรค ที่มากับหน้าฝน คือ  กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น  โรคไข้หวัดใหญ่  โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ และปอดบวม กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ เจอี และโรคมาลาเรีย กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร เช่น โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษโรคตับอักเสบ กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง และกลุ่มโรคสุดท้าย คือ โรค มือ เท้า ปาก  ติดต่อง่ายในเด็กเล็ก และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน


โรคเหล่านี้ระบาดหนักช่วงฝนตก และส่งผลให้เราเจ็บป่วยได้ง่าย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงค่อนข้างมาก หากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น เราต้องไม่ลืมดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี วางแผนเรื่องประกันสุขภาพไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยในช่วงนี้ได้


· เปิดเทอม ค่าใช้จ่ายเพียบ สำหรับคุณพ่อ คุณแม่หลายคน เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ไหนจะค่าอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า และค่าเทอม หากบางครอบครัวมีลูกหลายคน ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตอยู่เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงควรเก็บเงินล่วงหน้า 3 เดือนขึ้นไป สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม และลดปัญหาการหมุนเงินไม่ทัน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินที่ต่าง ๆ ให้เสียดอกเบี้ย ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเดือนถัดมา ซึ่งแน่นอนทำให้ภาระเรื่องเงินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย


ไม่ว่าเราจะเจอกับฤดูกาลไหนในแต่ละปี สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากภาวะเงินขาดมือได้ก็คือ การวางแผนการเงินที่ดี มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้สำหรับตัวเองและครอบครัว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ต้องการใช้เงินด่วน เราจะสามารถนำเงินส่วนนี้มาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และไม่ต้องหยิบยืมใครให้วุ่นวาย หรือเสียดอกเบี้ยมากมายจากการไปกู้นอกระบบ สำหรับใครที่อยากเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า สามารถออมเงินทุกเดือนได้ง่าย ๆ ผ่าน SCB EASY App สนใจคลิกเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/deposits/long-term-deposit-accounts.html


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nakornthon.com